Search

หลายชุมชนยื่นหนังสือถึงคสช.ค้านแผนสร้างเขื่อนเสนอสร้างเหมืองฝายแทนโครงการขนาดใหญ่ชาวบ้านยังไม่ไว้ใจกรมชล-หวั่นสอดไส้

image

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ที่ศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง วังจันทน์ริเวอร์วิว มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก ได้มีการสัมนาเชิงปฏิบัติการ“การรับฟังปัญหาของลุ่มน้ำและแนวทางการแก้ไขเพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ”ครั้งที่2ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน จัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีเครือข่ายลุ่มน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 คน

ทั้งนี้บรรยากาศในช่วงเช้าได้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพรวมแผนการดำเนินการและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้โดยเน้นว่าจะไม่มีการหยิบยกแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) หรือโครงการต่างๆ ขึ้นมานำเสนอในเวทีนี้ แต่จะเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อให้เครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ไข จากนั้นกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำจะสรุปข้อมูลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ก่อนจะนำไปประมวลเป็นแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำต่อไป

หลังจากนั้นที่ประชุมได้แบ่งห้องย่อยตามลุ่มน้ำ ปิง วัง ยม น่าน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกันแสดงความเห็น และมีการเปิดห้องพิเศษให้ตัวแทนจากแม่แจ่ม แม่ขาน แก่งเสือเต้น ห้วยตั้ง โป่งอ่าง และคลองชมภู เข้าพบกับตัวแทนคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่ได้ชี้แจงถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตัวแทนจาก 5 พื้นที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านโครงการเขื่อนในแต่ละพื้นที่ต่อ คสช. คณะอนุกรรมการผู้จัดเวที และตัวแทนกรมชลประทาน โดยระบุเหตผลว่าไม่เห็นด้วยหากมีการนำโครงการเดิมของ กบอ.หรือโครงการภายใต้แผน 3.5 แสนล้านบาท และของกรมชลประทานเข้ามาอยู่ในแผนครั้งนี้ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่หรือการก่อสร้างเขื่อน

นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง ผู้ประสานงานสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าทุกเครือข่ายมีแนวทางที่คล้ายกันคือต้องการให้มีการพัฒนาเครื่องมือ หรือโครงสร้างการจัดการน้ำที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพตามศักยภาพของแต่ละลุ่มน้ำ เช่น ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก การออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ การพัฒนาฐานข้อมูลแต่ละลุ่มน้ำและนำมาใช้ประโยชน์ โดยส่วนใหญ่จะไม่มุ่งไปที่การใช้โครงสร้างขนาดใหญ่เข้ามาแก้ปัญหา

นายสายัณน์ กล่าวอีกว่า จากการพูดคุยกับเครือข่ายต่างๆ ทุกคนยังมีความกังวลว่าอาจจะมีการนำโครงการต่างๆ โดยเฉพาะของกรมชลประทานเข้าไปอยู่ในรายงานสรุปที่จะส่งต่อไปถึงคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในเบี้องต้นกับเครือข่ายว่าจะพยายามติดตามผลการสรุปให้สำเร็จออกมาอย่างตรงไปตรงมาตามที่ได้เสนอในเวที

“แม้ในเวทีมีการรับปากว่าจะไม่มีการหยิบเอาโครงการเขื่อนที่อยู่ในแผนของกบอ.หรือกรมชลประทานกลับขึ้นมา แต่พวกเรายังคงไม่มั่นใจเกรงว่าจะมีการสอดไส้ในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งหลังจากนี้อาจะต้องทำหนังสือไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อทั้งหมดเพื่อให้ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ได้มีการรับปากในเวที” นายสายัณน์ กล่าว

นายธีรเชษฐ์ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ดูเหมือนเป็นกระบวนการที่รวบรัดเกินไป เนื่องจากแต่ละพื้นที่-ลุ่มน้ำต่างๆ มีความจำเพาะในรายละเอียดต่างกัน คิดว่าเร็วเกินไปหากจำนำข้อมูลที่ได้จากการคุยกันเพียงครึ่งวันไปร่างเป็นยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับลุ่มน้ำทั้งระบบ จึงเชื่อว่าเวทีในวันนี้อาจจะเป็นการจัดขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับบางโครงการที่บางหน่วยงานต้องการปลักดันให้เกิดขึ้น จึงยังไม่อาจวางใจต่อกระบวนการแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าชาวบ้านชมพูจะไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนขึ้นในพื้นที่คลองชมภู เพราะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของจระเข้น้ำจืดด้วย

“คาดหวังว่า คสช.ต้องเปิดโอกาสให้เครือข่ายภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอย่างแท้จริง โดยนำข้อมูลที่ได้ในวันนี้ไปประมวลร่วมกันเป็นแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ และค่อยนำกลับมาคุยร่วมกันอีกครั้ง เพราะชาวบ้านในแต่ละพื้นที่จะมีความเข้าใจในปัญหาของลุ่มน้ำและมีความรู้จักนิเวศของลุ่มน้ำเป็นอย่างดี จะได้ช่วยกันปรับแผนให้เหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นทางออกและลดความขัดแย้งที่จะเกิดอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นายธีรเชษฐ์ กล่าว

นายทนงศักดิ์ ม่อนดอก ตัวแทนเครือข่ายชุมชนรักษ์ป่า และประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแม่แจ่ม กล่าวว่า แนวทางที่ทุกคนได้ร่วมกันเสนอในวันนี้ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปในการพัฒนาพื้นที่ป่าต้นน้ำซึ่งกำลังประสบปัญหาการบุกรุกที่ทำกินจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรมหรือป่าหัวโล้น รวมถึงแนวทางการจัดการต้นน้ำที่ต้องอาศัยการพัฒนาเหมืองฝายขนาดเล็กในลุ่มน้ำสาขาต่อการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งจะไม่เสี่ยงส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนการก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

นายทนงศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากความกังวลจึงได้ถามกลับไปยังตัวแทนกรมชลประทานว่า จะมีการนำโครงการเขื่อนแม่แจ่มเข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาตร์หรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่ากระบวนการเพื่อร่างยุทธศาสตร์นี้จะยึดเอาแนวคิดของชุมชนเป็นหลัก ในเมื่อเขื่อนแม่แจ่มเคยอยู่ในแผน กบอ.ซึ่งยกเลิกไปแล้วก็คงไม่มีการนำเข้ามาเกี่ยวข้องในการพิจารณา แต่อย่างไรเครือข่ายก็ยังไม่นิ่งนอนใจ เพราะเป็นการยืนยันเพียงคำพูด และที่สำคัญเขื่อนแม่แจ่มเดิมทีเป็นโครงการของกรมชลประทานซึ่งได้พยายามผลักดันให้เกิดมาโดยตลอด

“ถือเป็นความพยายามที่ดีที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้ร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งหวังว่าบทสรุปจากการจัดเวทีจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดใหญ่ เพราะเมื่อลงมาทำเวทีแล้วก็ควรต้องยึดถือความคิดเห็นที่จากประชาชนเป็นหลักในการวางแผนยุทธศาสตร์ แต่ถ้าหักหลังประชาชนอนาคตคงจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา สุดท้ายขึ้นอยู่กับคสช.แล้วว่าจะพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างไร” นายทนงศักดิ์ กล่าว

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →