เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557 พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 กันยายน คณะกรรมการจะเดินทางไปประชุมที่ศาลากลางจังหวังสตูล เพื่อหารือถึงการแก้ไขปัญหาชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ โดยได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ดินจังหวัด อุทยานฯ ฝ่ายปกครอง
“ผู้ว่าฯจะเป็นตัวจักรสำคัญในการแก้ไขปัญหา เราจะเอาปัญหาทั้งหมดมากองไว้บนโต๊ะ และให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบร่วมกันหาทางออก โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแล 3 ชุดคือ 1.คณะที่แก้ปัญหาที่ทำกินในทะเลซึ่งจะมอบให้อุทยานฯเป็นแม่งาน 2.การศึกษาข้อเท็จจริงจากแผนที่ต่างๆซึ่งจะมีดีเอสไอเป็นแม่งาน และ 3.ด้านการสำรวจและทำแผนที่ชุมชนซึ่งจะมีนายอำเภอเป็นแม่งาน” พลเอกสุรินทร์ กล่าว และว่าครั้งนี้คณะกรรมการฯยังไม่ได้ลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ แต่เชื่อว่าจำเป็นต้องลงไปดูพื้นที่จริงอีกหลายครั้ง
ในวันเดียวกันที่ศูนย์ดำรงธรรม อำเภอเมืองสตูล ตัวแทนชาวบ้านอูรักลาโว้ยในชุมชนปาดัก เกาะหลีเป๊ะ ได้เดินทางเข้าพบนายจรัญ สุวรรณรัตน์ ปลัดอำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งเพิ่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ดูแลเกาะหลีเป๊ะต่อจาก นายพีรพัฒน์ เงินเจริญ ซึ่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายทะเบียนและบัตร โดยตัวแทนชาวอูรักลาโว้ยได้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ในการนำเสนอเอกสารเกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ และร้องเรียนกรณีถูกนายทุนข่มขู่ คุกคาม โดยนายจรัญได้รับเรื่องร้องเรียนไว้และรับปากว่าจะเร่งประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นโดยเร็วที่สุดตามหน้าที่ของอำเภอ
นายจรัญ กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ส่วนงานเกาะหลีเป๊ะได้ไม่นาน จึงต้องใช้เวลาเรียนรู้ข้อมูลและลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริง เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหา โดยตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมาภายหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายจัดระเบียบที่ดินเกาะหลีเป๊ะ เนื่องจากพบการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และเกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชนในพื้นที่กับนายทุนนั้น เห็นว่าเป็นปัญหาสะสมมานาน จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาเพื่อแก้ไขโดยวันนี้มีโอกาสเชิญชาวบ้านเข้ามาเจรจาด้วยก็จะเตรียมทำรายงานเพื่อแจ้งต่อนายอำเภอให้รับทราบต่อไป ซึ่งคาดว่าตนจะต้องศึกษาข้อมูลให้ลึกและใช้เวลาประชุมร่วมชาวบ้านให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การปรับเปลี่ยนหน้าที่ระหว่างปลัดอำเภอ ใช่เพราะมีแรงกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่เสียประโยชน์บนเกาะหลีเป๊ะหรือไม่ นายจรัญกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลครั้งนี้เป็นเรื่องปกติที่ทางอำเภอจะมีการปรับแผนงาน ซึ่งเป็นความเต็มใจของข้าราชการทุกฝ่ายและเป็นธรรมดาของส่วนราชการที่วันหนึ่งจะต้องมีการปรับแผนทำงานบ้าง
“ผมอาจรู้เรื่องเกาะหลีเป๊ะน้อยกว่าปลัดคนเดิมที่ประจำการ แต่ผมยืนยันว่าจะทำหน้าที่ที่ดีสุด โดยคำสั่งอย่างเป็นทางการจะออกประมาณปลายเดือนนี้ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็รับทราบ แต่ผมขอเรียนว่าข้อมูลบางส่วนจำเป็นต้องขอจากนายพีรพัฒน์ เงินเจริญ ปลัดคนเดิมซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า เนื่องจากอยู่เกาะหลีเป๊ะมานาน ผมเพิ่งมาทำงานต้องขอเวลาสักพักแต่จะลงพื้นที่ให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้” นายจรัญ กล่าว
ด้านเรณู ทะเลมอญ กล่าวว่า วันนี้หลังจากเจรจาร่วมกับปลัดอำเภอ รู้สึกว่าได้มีโอกาสในการชี้แจงข้อมูลและร้องทุกข์ที่ชาวบ้านเจอ และตั้งความหวังกับอำเภอเมืองสตูลสูงมาก อยากให้เข้าใจความรู้สึกและเข้าใจปัญหาของชาวบ้าน และเร่งคลี่คลายปัญหาเรื่องนายทุน เพราะชาวบ้านแบกรับปัญหามานานแล้ว ยอมรับว่าที่ผ่านมานายพีรพัฒน์ เข้าใจบริบทปัญหาอย่างมาก และเชื่อว่าปลัดคนใหม่ที่มาทำหน้าที่บนเกาะหลีเป๊ะจะมีความยุติธรรมกับชาวบ้านเช่นกัน โดยขณะนี้ต้องการให้เจ้าหน้าที่ในอำเภอช่วยประสานนายทุนเจ้าของที่ดินให้ระงับการก่อสร้างอาคารและกำแพงต่างๆเสียก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกในระหว่างการตรวจสอบเอกสารสิทธิและสร้างความมั่นใจแก่ชาวบ้านว่าจะไม่สูญเสียที่อยู่อาศัย เพราะทุกคนตกอยู่ในความกลัวและเครียดกับสถานการณ์
ขณะที่นายพีรพัฒน์ เงินเจริญ ปลัดฝ่ายทะเบียนและบัตร อำเภอเมืองสตูลและอดีตปลัดอำเภอที่ดูแลเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า ตนต้องการให้ชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะมองที่ระบบการทำงานและไว้ใจเจ้าหน้าที่ ข้าราชการทุกคน มากกว่าตัวบุคคล และขอยืนยันว่าไม่ได้มีคำสั่งโยกย้ายหรือกดดันตนแต่อย่างใด และยังยินดีช่วยงานเกาะหลีเป๊ะตามวาระและโอกาสอันเหมาะสม