เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตัวแทนทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ เพื่อขอให้พักราชการนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวภายหลังการยื่นจดหมายเปิดผนึกว่า การดำเนินการครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมา การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้นสร้างความขัดแย้งระหว่างหัวหน้าอุทยานฯ และประชาชนในพื้นที่มาก โดยเฉพาะกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย และคดีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนายทัศน์กมล โอบอ้อม หรือ “อาจารย์ป๊อด” แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ชุมชน ซึ่งอัยการจังหวัดเพชรบุรี มีคำสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ เป็นจำเลยต่อศาลพชรบุรี และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลดังนั้นเพื่อความโปร่งใสและความสบายใจของทุกฝ่ายเห็นควรว่าควรพักราชการแก่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะขบวนการพิสูจน์คดียังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์
นางสาวพรเพ็ญ กล่าวด้วยว่า การที่นายชัยวัฒน์เป็นจำเลยในคดีจ้างวานฆ่า ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลจ.เพชรบุรีนั้น ในระเบียบราชการการที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาร้ายแรงนั้น มีข้อพิจารณาที่ต้องพักราชการของบุคลลดังกล่าว จึงอยากให้นายนิพนธ์ พิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบอีกครั้ง เพราะการที่จะรอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนถึงที่สุด อาจจะส่งผลกระทบกับความปลอดภัยของพยาน และผู้ที่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดด้วย
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกับหน่วยงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กำลังขอเสนอชื่อเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงเห็นว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องการคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ก็มีความสำคัญในการพิจารณาและองค์กรระหว่างประเทศก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
รายงานข่าวแจ้งว่าอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ระบุว่าจะเร่งพิจารณาข้อเสนอของนักฎหมายอย่างรอบด้าน โดยยืนยันว่า คำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ให้ไปปฎิบัติราชการในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน และการยื่นหนังสือของนักกฎหมายครั้งนี้จะนำไปประกอบการพิจารณาว่า จะให้อยู่ต่อหรือโดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้แถลงการณ์องค์กรสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาช เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีใจความสำคัญว่า
สืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติพื้นป่า สำคัญของชาติคือความขัดแย้งในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีการเผาทำลายบ้าน ยุ้งฉาง และข้าวของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดั้งเดิม จนนำมาสู่กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดคือกรณี นายพอละจี รักจงเจริญ ถูกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อีก 3 นายได้ควบคุมตัวในเขตอุทยานแห่งชาติกระจาน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 และไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ขอนำเสนอข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาขอให้พักราชการนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ดังนี้
1.นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นจำเลยในคดีอาญาเลขดำที่ 4653/2554 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 ในข้อหาข้อหาจ้างวานฆ่า นายทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ชุมชนบ้านโป่งลึก-บางกลอย ในการเรียกร้องสิทธิของชุมชนบ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยปัจจุบันพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีได้ยื่นฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรี
2.นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นผู้ถูกฟ้องในคดีปกครองที่ ส.58 / 2555 สถานะคดี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 ศาลปกครองมีคำสั่งเรียกคู่กรณี มาไต่สวนเพิ่มเติม คดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดั้งเดิมบ้านบางกลอย-โป่งลึก ที่ถูกขับไล่ เผาบ้านและทรัพย์สิน โดยมีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าปฏิบัติการดังกล่าว จนนำมาสู่การยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเยียวยาความเสียหายและรับรองสิทธิชุมชนดั้งเดิมตามรัฐธรรมนูญ
3.นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ได้ถูกแจ้งความกล่าวโทษ โดยกลุ่มอนุรักษ์ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นำโดย นางจิตนา แก้วขาวต่อสำนักงานตำรวจภูธรภาค 7 ให้ดำเนินคดี กรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกรื้อ ทำลาย บ้านเรือนของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 โดย เรื่องดังกล่าวอยู่ในการดำเนินการตรวจสอบของสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน
4.นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นบุคคลสุดท้ายที่พบเห็นและควบคุม ตัวนายพอละจี รักจงเจริญ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีก 3 นาย ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวน การไต่สวนในชั้นศาล จังหวัดเพชรบุรีได้ระบุชัดเจนว่านายพอละจีอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 17 เมษายน 2557 แต่ผู้ควบคุมตัวตามกฎหมายในที่นี่คือหัวหน้าอุทยานแห่งชาติฯ ปฏิเสธที่จะรับทราบว่ามีการควบคุมตัวอยู่ แต่กลับอ้างด้วยคำให้การของตนเองและบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในหน่วย งานเดียวกันทั้งเจ้าหน้าที่และนักศึกษาฝึกงาน ปราศจากพยานหลักฐานที่ประจักษ์
อีกทั้งพยานหลักฐานที่นำเสนอต่อศาลนั้นขัดกันและไม่มีความน่าเชื่อถือ เท่ากับว่านายพอละจีเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นสิ่งต้องห้ามและเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง แม้ว่ากฎหมายไทยจะยังไม่มีข้อหาอาญาต่อความผิดนี้ก็ตาม การปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวนายพอละจีและอ้างว่ามีการปล่อยตัวไป แล้วนั้นย่อมเป็นการปกปิดชะตากรรมของนายพอละจีด้วย ดังนั้นการร้องขอให้ศาลไต่สวนตามมาตรา 90 และศาลได้ยกคำร้องของญาติจึงเป็นการกีดกั้นสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อของการ บังคับให้สูญหายไม่สามารถรับรู้ถึงความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของนายพอละจี และยังไม่ใช่เป็นการที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรและพวกหลุดพ้นจากการมีส่วนรู้เห็นในการหายตัวไปของนายพอละจี แต่อย่างใด ขณะนี้ผู้ร้องคือภรรยาของนายพอละจีได้ยื่นขออุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557
5.นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร คดีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีการจับกุมตัวนายพอละจีในความผิดมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยไม่นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ไม่มีการทำบันทึกจับกุมและไม่มีการทำบันทึกการปล่อยตัวผู้กระทำความผิด ปัจจุบันคดีอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) ซึ่งที่ประชุม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) เห็นว่าคดีมีมูล จึงมีมติรับเป็นคดี และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ ฯ ขึ้นมาตรวจสอบ
6.นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีภาพ และคลิปวีดีโอ การแปรรูปไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมการจากกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน และต่อมากองกำกับการภูธรจังหวัดเพชรบุรี โดย พ.ต.อ.สุรศักดิ์ สุขแสวง รองผู้บังคับการ ได้ลงพื้นที่พร้อมคณะวิทยาการจังหวัดเพชรบุรี พบว่าบริเวณโดยรอบหน่วยแม่สะเรียง (กจ.10) พบการโค่นล้ม ไม้ และแปรรูปไม้ โดยใช้เลื่อยยนต์อีกจำนวน 26 ต้น