Search

เรือปูนใหญ่ 3 พันตันล่มใกล้เกาะลิบงยังเงียบกริบ ชี้เหตุต้องการประหยัดเลยใช้ล่องน้ำเล็ก-ใกล้ฝั่ง ชาวบ้านเตรียมรวมตัว-หวั่นผลกระทบเหมือนปี 55

ภาพจากเฟสบุคกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ภาพจากเฟสบุคกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด กรรมการประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เปิดเผยถึงกรณีที่เรือบรรทุกขนส่งสินค้าของบริษัทจัมโบ้บาร์จแอนด์ทัก จำกัด ซึ่งบรรทุกปูนซิเมนต์ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)หรือเอสซีจี ล่ม 2 ลำ ทำให้ปูนจำนวนกว่า 3,000 ตันจมลงใต้ท้องทะเลใกล้เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 11 กันยายน ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบความคืบหน้าจากหน่วยงานและฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าได้ดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว เพราะยังแทบไม่มีข่าว แต่ชาวบ้านรู้สึกเป็นกังวลมาก เพราะพื้นที่ที่เรือและปูนจมลงนั้น เป็นแหล่งการทำประมงของชาวบ้านและแหล่งหญ้าทะเลของพะยูน

นายอิสมาแอนกล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านกังวลมาก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์เรือบรรทุกปูนล่มครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 ทำให้ปูนกระจายตัวไปในบริเวณกว้าง และต่อมาได้เกิดตะไคร่น้ำมากมายขึ้นตามชายฝั่ง ขณะที่พะยูนต้องอพยพไปหากินที่อื่นเนื่องจากแหล่งหญ้าทะเลถูกทำลาย การอพยพย้ายแหล่งหากินครั้งนั้น ทำให้พะยูนเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย เนื่องจากเคยชินกับการหากินในพื้นที่เดิมและชาวประมงเองก็รับรู้ว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์จึงไม่มีอันตราย แต่เมื่อพะยูนต้องออกไปหากินที่อื่น ทำให้ต้องติดอวนเสียชีวิต

นายอิสมาแอนกล่าวว่า จริงๆแล้วเส้นทางเดินเรือไปขนถ่ายปูนที่เกาะลันตานั้น มี 2 เส้นทาง โดยเส้นทางที่เกิดเหตุอยู่ใกล้เกาะลิบง ซึ่งเป็นร่องน้ำเล็กๆ ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้เดินเรือสำหรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ ส่วนอีกช่องทางที่ควรใช้นั้น อยู่ห่างออกไปในทะเล

“ปัญหาคือเขาต้องการประหยัด เลยมาใช้ช่องทางเล็กแห่งนี้ เพราะช่วยย่นเวลาไปได้ 4-5 ชั่วโมง พวกเราเคยทำแจ้งไปถึงเอสซีจีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับให้เรือใหญ่ไปใช้เส้นทางไกลออกไป แต่เขาก็ไม่ทำ เราเป็นห่วงว่าแหล่งหญ้าทะเลและพะยูนจะได้รับผลกระทบ แต่เอสซีจีก็ไม่สนใจ และบอกว่าการขนสินค้าไม่ใช่เรื่องของเขา” นายอิสมาแอน กล่าว

นายอิสมาแอนกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าปูนซีเมนต์จำนวนกว่า 3,000 ตันที่จมอยู่ในทะเลจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยได้ยินว่าครั้งนี้เป็นปูนถุง ไม่ใช่ปูนเม็ดเหมือนเมื่อครั้งก่อน แต่ชาวบ้านก็ยังกังวลเพราะไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ทั้งนี้ในเร็วๆนี้ชาวบ้านจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้บริษัทและหน่วยงานที่รับผิดชอบออกมาเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด

ทั้งนี้ในเฟสบุคของกรมทรัพยากรทางทะเลและชาวฝั่ง(ทช.) ได้รายงานไว้ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน ว่าทช.โดยศูนย์วิจัยทช. ทะเลอันดามัน ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ ทช. ที่6 (จ.ตรัง) ได้เข้าไปถึงจุดที่เรือจม จับพิกัด และเก็บตัวอย่างน้ำแล้ว แต่ไม่สามารถดำน้ำสำรวจได้เนื่องจากคลื่นยังแรงและน้ำขุ่น โดยจุดเรือจมอยู่ห่างจากเกาะลิบง 3 กิโลเมตร ห่างจากแหล่งหญ้าทะเลหาดยาว 4 กิโลเมตร แหล่งหญ้าลิบงด้านเหนือ 5 กิโลเมตร และห่างจากแนวปะการังเกาะลิบง 5 กิโลเมตร สภาพเรือจมแบบไม่พลิกคว่ำ ถุงปูนที่ยังไม่ได้ขนออกน่าจะอยู่ในเรือ ส่วนผลกระทบกำลังอยู่ในระหว่างการประเมิน

ในเฟสบุคกระทู้ดังกล่าวของทช.ได้มีผู้ที่เข้ามาแสดงความเห็นกันหลากหลาย โดยส่วนใหญ่ต้องการให้ทช.เข้าไปจัดการกับปัญหาดังกล่าว แต่ได้รับการปฎิเสธโดยผู้แทนทช.ที่ใช้ชื่อว่าChonlatid Suraswadi ระบุไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และกฎหมายกำลังรอเสนอ คณะรัฐมนตรีใน ร่าง พรบ. ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรทางทะเล จะนำมาสู่การคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อย่างเป็นรูปธรรม ขอให้ทุกท่านช่วยสนับสนุนด้วย

 

 

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →