Search

ณ สี่แยกเรือบรรทุก(ข์) ที่ริม “เกาะปอ”

image

มองไกลๆเรือใหญ่ที่จอดอยู่กลางทะเล เมื่อเทียบเคียงกับเกาะต่างๆ ขนาดดูไม่แตกต่างกันนัก แม้ของจริงเรือลำนี้อาจจะเล็กกว่าเกาะเยอะ เพราะอยู่ใกล้ฝั่งมากกว่า จึงทำให้แลเห็นขนาดของมันดูใหญ่ยิ่ง แต่เมื่อเทียบกับเรือประมงของชาวบ้านแล้ว ก็เรียกว่าเรือลำนี้เป็นยักษ์ได้

ทัศนียภาพที่เห็นเรือใหญ่ยักษ์จอดแหวกธรรมชาติอยู่กลางทะเล กลายเป็นความชินตาของชาวเกาะปอ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ หลายคนไม่อยากกวาดสายตาผ่านไปทางนั้น เพราะเห็นทีไรรู้สึกปวดแปลบถึงข้างใน 

กว่า 10 ปีแล้วที่เรือบรรทุกของบริษัทเอกชนที่ขนปูนซึ่งผลิตโดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCG มาจอดขนถ่ายสินค้าอยู่ใกล้เกาะปอ

“ตั้งแต่เรือใหญ่มาจอด สัตว์น้ำในทะเลแถวบ้านเราหายไปมาก เขาติดเครื่องทั้งวัน ทั้งคืน กุ้งปูปลาที่ไหนมันจะมาอยู่ได้ เศษปูนก็ฟุ้งกระจาย ทำลายแหล่งที่อยู่ของพวกมันหมด” ผู้เฒ่าสะอาด ละโซย ระบายความอัดอั้นตันใจที่ทับถมมานานหลายปี เดิมทีชาวบ้านบนเกาะปอเคยหาอยู่หากินในท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์ แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นความฝืดเคือง

แม้ไม่ได้เกิดบนเกาะปอ แต่เฒ่าสะอาดก็ย้ายมาอยู่บนผืนดินแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 60 ปี จากที่เคยอาศัยกันแค่ 4-5 ครอบครัว ก็ขยายเพิ่มเป็นกว่า 200 ครอบครัวในตอนนี้ ดังนั้นแกจึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายพร้อมๆกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของลูกๆหลานๆ

ชาวบ้านบนเกาะปอส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและอยู่กันอย่างเครือญาติมานาน จนสามารถกำหนดกติกาของชุมชนได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน แต่สุดท้ายสิ่งที่ปกป้องร่วมกันมาต้องมีอันย่อยยับเพราะปัจจัยภายนอกเหนือการควบคุม

image

“ปีหนึ่งมีเรือใหญ่แบบนี้มาจอดอยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน พอหน้ามรสุมก็หลบลมไปจอดที่อื่น มันมีอยู่หลายลำผลัดเปลี่ยนกันไป เราเคยร้องเรียนเพื่อให้เขาไปจอดห่างจากฝั่งไม่น้อย 5 กิโลเมตร แต่เรื่องก็เงียบหายไป” เฒ่าวัย 75 ปี รู้สึกมืดมิดและอับจนหนทางแก้ไข แกไม่รู้ข้อมูลอะไรมากนักเกี่ยวกับเรือลำใหญ่ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขนถ่ายปูน บางครั้งเรือก็ล่ม แต่ไม่ค่อยจะเป็นข่าว

“เห็นว่าเขาขนปูนไปพม่า บางคนเขาบอกว่าเจ้าของเป็นคนมีอำนาจ ถามไปถามมาบางคนก็ว่าเป็นของรัฐมนตรี” ผู้เฒ่าเชื่อไปตามประสาข่าวชาวบ้าน แต่ความเชื่อนี้ดูจะมีเค้าไม่น้อย เพราะขนาดเรือล่มหรือเมื่อปูนรั่วไหลออกมาทำลายสิ่งแวดล้อมมากมาย เรื่องราวกลับถูกกลบกลืนอยู่ใต้ท้องทะเลโดยที่สังคมไม่เคยได้รับรู้

เส้นทางการขนถ่ายปูนซีเมนต์ในทะเลอันดามันกำลังสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2557 เรือใหญ่ 2 ลำพร้อมปูน 3,000 ตันจมลงทะเลใกล้เกาะลิบง จังหวัดตรง โดยเรือบรรทุกเหล่านั้นมุ่งหน้ามาขนถ่ายสินค้าที่เรือใหญ่ใกล้เกาะปอ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายต่อไปยังพม่า สาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุครั้งนี้คือ การเลี่ยงเส้นทางน้ำลึกมาใช้ร่องน้ำใกล้ฝั่งซึ่งย่นระยะทางได้หลายชั่วโมง 

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 เรือบรรทุกปูนก็เคยล่มในย่านเกาะลิบงมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นทำให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งสัตว์น้ำ พะยูน รวมไปถึงชุมชนต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า แต่สุดท้ายปัญหาเดิมๆก็ยังวนเวียนอยู่เช่นนั้น

“นี่เรือปูนยังทำให้ย่อยยับไม่พอ เรือถ่านหินก็จะมาอีก” คนเฒ่าถอนใจอย่างเหนื่อยหน่ายที่เห็นเกาะปอกำลังกลายเป็นสี่แยกพักจอดเรือบรรทุก

ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กำลังเดินหน้าโหมโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นที่บ้านคลองรั้ว อำเภอเหนือคลอง ซึ่งได้รับการคัดค้านจากชุมชนอย่างหนัก เพราะหวั่นเกรงในเรื่องผลกระทบที่จะตามมาอย่างมากมาย แต่ดูเหมือนกฟผ.จะไม่สนใจเสียงทักท้วงสักเท่าไหร่ และเร่งเครื่องมากขึ้นเข้าสู่ยุคกระจุกตัวทางอำนาจ 

image

ตลอดเส้นทางรอบเกาะปอ ซึ่งเป็นถนนแคบๆสำหรับขับขี่จักรยานยนต์ จักรยานและเดินเท้า ต่างมีป้ายคัดค้าน “ถ่านหิน” เช่นเดียวกับบนเกาะลันตาน้อย ลันตาใหญ่ ตลอดจนถึงแนวชายฝั่งทะเลย่านนี้ ต่างร่วมกันรณรงค์ไม่เอาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“เขาจะมาทอดเสมอตรงนั้นอีก พวกเรายอมไม่ได้หรอก” ผู้เฒ่าสะอาดบอกด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยว แต่ไม่โดดเดี่ยวเพราะทั้งชุมชนเกาะปอต่างก็เห็นด้วยกับการคัดค้านครั้งนี้

ท้องทะเลสีมรกตของจังหวัดกระบี่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลกถึงความงดงาม  แต่ดูเหมือนภาครัฐกำลังยัดเยียดนวัตกรรมใหม่ชนิดถอนรากถอนโคนเดิมให้อันดามัน 

ผู้เฒ่าสะอาดและคนเล็กคนน้อยคงต้องเหนื่อยกันอีกหลายยก แต่หากพลังทางสังคมเกื้อหนุน บางทีเกาะปอและท้องทะเลอันดามันอาจหลุดรอดมหันตภัยครั้งใหญ่นี้ได้

On Key

Related Posts

นายจ้างสีขาว-ลูกจ้างต่างด้าวหวั่นข้อมูลลงทะเบียนแรงงานหลุดถึงมือรัฐบาลพม่า-เชื่อถูกนำไปเช็คบิลแน่หลังรัฐบาลทหารพม่าถังแตกสั่งเรียกเก็บภาษี 25% ชาวมอญตื่นสั่งลูกเลิกเรียนแห่กันเข้ามาขุดทองในไทย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 นางนิลุบล พงษ์พะยอม ตัวRead More →

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →