ใครคนหนึ่งเคาะประตูบ้านของ “บุญ” ด้วยความถี่ที่ทำให้เขานึกกลัวจับใจในวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจ โดยชายท่าทางมีฐานะและแต่งตัวสะอาดเข้ามาขอร้องให้เขาพาครอบครัวย้ายออกจากชุมชนมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
ชายคนนั้นให้เหตุผลว่า หากบุญไม่ย้ายออกจะไม่รับรองความปลอดภัย เหตุการณ์วันนั้นแม้จะผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ “บุญ” ยังไม่เคยลืม เพราะท่าทีวันนั้นคล้ายกับสัญญาณเตือนให้เขารู้ตัวว่า จะผ่านไปกี่ปี กี่ยุค ชาวโรฮิงญา ก็คือ พลเมืองชายขอบที่ตกอยู่ในความมืดตลอดเวลา ต้องเลี้ยว ต้องหันไปในทิศทางที่ผู้คนเหล่านั้นออกคำสั่งอย่างไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ใดๆ
หลังจากคืนนั้น บุญตัดสินใจมาซ่อนตัวใกล้ๆ ตลาดจังหวัดนนทบุรี เพื่อใช้ชีวิตขายโรตีต่อไปแบบหลบซ่อนตัว ส่วนภรรยาชาวพม่าและลูก ยังอยู่ที่มหาชัย
“เขาน่าจะเป็นคนดูแลที่พัก เพราะตอนแรกที่เราขอเข้ามาอยู่เขาคิดเราเดือนละ 3,000 บาท มากกว่าแรงงานพม่าที่มีบัตรถูกกฎหมาย แต่เมื่อมีการตรวจแรงงานผิดกฎหมาย เราเองก็ไม่มีหลักฐานอะไรเลย วันนั้น บอกเราว่าต้องรีบออกไป เพราะทหารเข้ามาตรวจพื้นที่ เขาไม่อยากโดนจับไปด้วย แต่ผมก็ไม่ได้เชื่อ ยังคงพาลูกทำแป้งโรตีต่อไป แต่ระยะหลังกระแสข่าวแรงขึ้น ผมคุยกับเมียว่าจะเอายังไงกันดี เมียจึงบอกให้ผมหาทางย้ายที่อยู่ชั่วคราวแล้วเก็บเอกสารไว้ให้ หากเหตุการณ์ดีเมื่อไหร่ค่อยกลับไปหาครอบครัว” ชายวัย 47 ปีเล่าถึงมุมเล็กๆ ของชีวิตแรงงานต่างด้าว เขาอาจไม่ถูกจัดกลุ่มไว้ใน “แรงงานเพื่อนบ้าน” เหมือนที่ภาครัฐกำลังเรียกขานแรงงานจากลาว เขมรและพม่า เพราะทุกวันนี่ชาวโรฮิงญา แทบไม่มีตัวตนในแผนที่โลก
บุญเป็นมุสลิมชาวพม่า ที่เติบโตมาในครอบครัวโรฮิงญาที่ถูกชาวพุทธส่วนใหญ่ต่อต้าน เขาจึงต้องหนีหัวซุกหัวซุนมาอยู่เมืองไทย โดยอาศัยเป็นลูกจ้างเรือประมงที่จังหวัดระนอง แล้วค่อยๆ ย้ายถิ่นขยับเข้ามาในเมืองใหญ่เรื่อยๆ จนกระทั่งพบภรรยาที่มหาชัย
เขาจึงตัดสินใจอาศัยอยู่ในโรงงานแปรรูปไม้ซึ่งภรรยาทำงานอยู่นานกว่า 4 ปี โดยยึดอาชีพขายโรตี ครั้นพอมีการออกกฎจัดระเบียบแรงงาน เขาจำใจต้องแยกทางจากครอบครัวเพราะไม่รู้จะอ้างตัวในฐานะคนสัญชาติใด
“พอมีข่าวว่าทหารเข้ามา ตัวผมเองรู้ว่าชะตาชีวิตเป็นอย่างไร หากผมอยู่ต่ออาจต้องถูกส่งกลับประเทศ แต่ถ้าผมหนี ผมยังมีโอกาสไปเจอครอบครัวอีกครั้ง ผมภาวนาให้ลูกผมได้สัญชาติไทย หรือได้สัญชาติพม่า ที่คนทั่วไปยอมรับ ไม่ใช่โรฮิงญาเหมือนผม ที่ไม่มีทางเลือกแล้วในชีวิตนี้” บุญจำนนต่อชะตากรรม และพยายามมีชีวิตรอดเพื่อให้เมล็ดพืชที่หว่านไว้เติบโตดีกว่าเดิม
“ทุกวันนี้รายได้ขายโรตีมีก็จริง แต่ก็แค่พออยู่ได้ ขณะที่ผมแทบไม่มีสิทธิความเป็นคนเหลืออยู่เลย ต้องแอบซ่อนอาศัยอยู่ในเมืองไทย ผมไม่รู้ว่าทหารเขาจะจัดการเรามั้ย เมื่อไหร่ แต่จากประสบการณ์ของคนไม่มีบัตรอย่างผมถือว่าทำผิดกฎหมายไทย ผมยอมรับ แต่อยากให้เห็นใจว่าผมก็ต้องทำเพื่อลูก เพื่อเมียบ้าง” เขาย้ำในทุกข์ของชีวิตที่ถูกลืม
ทุกวันนี้บุญยังคงขายโรตี ขายความหวาน มัน กรอบและนุ่ม ให้คนไทยลิ้มรส ทั้งๆที่ในชีวิตจริงของเขาแทบไม่มีความหวานเหลืออยู่เลย
——————-
โดย จารยา บุญมาก
——————-