Search

ได้รับใบอนุญาตให้เดินทางไปสอบสัมภาษณ์แล้ว“น้องนิค”อดีตเด็กไร้รัฐปลื้มเผยอยากเป็นโปรแกรมเมอร์นักวิชาการชี้เป็นตัววัดประชาคมอาเซียน-มีอีกนับแสนในสังคมไทย

image

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายนิวัฒน์ จันทร์คำ หรือน้องนิค อดีตเด็กไร้รัฐซึ่งเติบโตและเรียนหนังสือในประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในการเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) จังหวัดสงขลา แต่ยังไม่สามารถเดินทางไปสอบสัมภาษณ์ได้เนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายเนื่องจากยังไม่ได้รับอนุญาตเดินทางจากฝ่ายปกครองว่า ขณะนี้กำลังรอใบอนุญาตจากทางอำเภอซึ่งหากได้รับอนุญาตแล้ว จะนั่งรถทัวร์แม่สาย-หาดใหญ่ไปสอบสัมภาษณ์ให้ทันวันที่ 6 ตุลาคม

นายนิวัฒน์กล่าวว่า ตนมีความสนใจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มานานแล้วโดยเรียนวิชานี้ได้เกรด 4 มาโดยตลอด ดังนั้นอนาคตจึงอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือทำงานเกี่ยวกับกราฟฟิค และตนเองก็คงไม่ไปจากสังคมไทยเพราะเกิดและเติบโตที่นี่ ที่สำคัญคือแทบไม่มีความผูกพันกับประเทศต้นทางเลย แม้แต่ภาษาก็ยังพูดได้แต่ภาษาไทย

“หากเรียนจบได้กลับมาทำงานแถวภาคเหนือ ผมอยากจะช่วยเหลือน้องๆอีกหลายคนที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับผม ทุกวันนี้เขายังไม่มีบัตรกันเลยนับสิบคน ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ไม่มีใครมาช่วยเขาให้มีบัตรอะไรสักอย่าง ไม่ต้องเป็นบัตรประชาชนก็ได้ ผมเองเคยผ่านเหตุการณ์เสียใจมาเยอะ ได้เห็นเพื่อนๆไปสอบแข่งขัน สอบชิงทุน เหลือผมเพียงคนเดียวในห้องที่ไม่มีโอกาส เพราะไม่มีบัตร ผมไม่อยากให้น้องๆตกอยู่ในสภาพนั้นเลย” น้องนิค กล่าว

ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รองศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า กรณีของน้องนิคเป็นเหมือนสัญญาณเตือนไปยังคนสัญชาติพม่าในประเทศไทยที่มีอยู่จำนวนไม่น้อย โดยพ่อแม่ของน้องนิคเป็นแรงงานจากประเทศพม่า แต่น้องนิคอยู่ในความดูแลของเอกชนไทย ทำให้เกิดมิตรภาพสำหรับคนในกลุ่มอาเซียนด้วยกันซึ่งประเทศไทยต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน เพราะหากปล่อยให้น้องนิคพ่ายแพ้หรือทำร้ายน้องนิค จะเหมือนกับสัญญาณเตือนภัยให้คนอีกนับหมื่นที่ชี้ว่ากลไกของประเทศไทยยังไม่พร้อมหรือไม่เอื้อต่อการเปิดประชาคมอาเซียน และเป็นการไม่ให้ความสำคัญต่อปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่ากรณีของน้องนิคจะเป็นตัวบ่งบอกด้วยว่าทัศนคติของประชาชนที่มีต่อประชาคมอาเซียนเป็นอย่างไร ขณะที่กลไกในจังหวัดเชียงรายจะเป็นตัวอย่างให้เรียนรู้ว่า หากเกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับน้องนิคในจังหวัดอื่นๆจะมีระบบหรือกลไกใดเข้ามาจัดการหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของอาเซียน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการช่วยเหลือน้องนิคจะทำให้เด็กและเยาวชนตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านไหลทะลักเข้ามาเรียนหนังสือในประเทศไทยหรือไม่ ดร.พันธุ์ทิพย์กล่าวว่า ในปี 2015 ซึ่งมีการเปิดเสรีอาเซียนก็ทำให้คนเข้าไหลเข้ามาอยู่แล้ว แม้ไม่มีกรณีของน้องนิค โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ดังนั้นควรเข้าใจก่อนว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร

“การเชื่อมโยงความรู้ด้านการศึกษาระหว่างกัน จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมีความเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น เช่น กรณีของน้องนิค หากเขาเรียนจบและกลับไปอยู่บ้านที่ท่าขี้เหล็กฝั่งพม่า เขาก็จะไม่หนีหายไปไหน เขายังผูกพันอยู่กับสังคมไทย ใช้สินค้าไทย เป็นมิตรภาพตลอดกาลกับสังคมไทย เหมือนกับครั้งหนึ่งที่ประเทศตะวันตกมาให้ทุนนักเรียนไทยไปเรียนต่อ ความรู้สึกกับประเทศเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ต่อไปเราอาจมีสมาคมนักเรียนเก่าไทยในพม่าก็ได้ เราต้องคิดกลับด้านให้ได้”ดร.พันธุ์ทิพย์ กล่าว

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวด้วยว่า เชื่อว่ามีเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับน้องนิคหรือมีปัญหาใกล้เคียงกันอยู่ในสังคมไทยอีกนับแสนคน เช่น กลุ่มที่ติดตามแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มบัตรเลขศูนย์ กลุ่มในค่ายอพยพเป็นต้น ดังนั้นจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออก

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนายสุรชาติ สะอาดเอี่ยม ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอแม่สาย ได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้นายนิวัฒน์ เดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ระหว่างวันที่ 4-10 ตุลาคม ทั้งนี้นายนิวัฒน์ได้ของคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือจนกระทั่งได้เดินทางไปในครั้งนี้

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →