กฟผ.มามุขเดิม ก่อนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย(ค.3)โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ในวันที่ 12 ตุลาคม ได้ทุ่มเม็ดเงินซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์เพื่อนำเสนอข้อมูลในมุมของตัวเองในการสร้างความชอบธรรมต่างๆ
วันนี้(10 ตค.)ได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์โดยตั้งหัวข้อว่า “ความจริงที่ขอแชร์ สร้างโรงไฟฟ้า ฟังเสียงประชาชน” ซึ่งเป็นความพยายามชวนให้เชื่อว่าการเปิืดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการมาก่อนหน้า่นี้เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
แต่ข้อเท็จจริงที่เห็นในวันนี้คือชาวกระบี่จำนวนมากออกมาต่อต้าน และพยายามหาช่องทางสะท้อนเหตุผลที่ “ไม่เอา”โรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่กลับถูกปิดกั้นจากกฟผ.โดยมีกองกำลังทหาร ตำรวจ และพลเรือนเป็นเครื่องมือ
ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล รองศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การจัดเวทีของกฟผ.เป็นโมฆะตั้งแต่ครั้งแรก เพราะในการจัดเวทีครั้งแรก(ค.1)ซึ่งเป็นการรับฟังปัญหาของชาวบ้าน กฟผ.กลับไม่เอาข้อวิตกกังวลของชุมชจำนวน 49 ข้อที่เสนอเพิ่มเติมภายใน 15 วัน ไปไว้ในการประชุมครั้งต่อมา(ค.2)
ดร.เรณูกล่าวว่า ในเวทีค.2 เป็นการนำข้อวิตกกังวลไปแก้ไข ดังนั้นเมื่อไม่เอาทั้ง 49 ข้อไปไว้ แต่อ้างว่าจะเอาไปใส่ในค.3ซึ่งเป็นเวทีที่นำร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาหารือร่วมกับชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูก
“ขณะนี้ชาวบ้านได้ฟ้องศาลปกครองอยู่ เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้ควรเป็นโมฆะ โดยเฉพาะมีเอกสารเป็นรายลักษณ์อักษร” ดร.เรณูกล่าว และว่า นอกจากนี้กฟผ.ยังมีการเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น บอกกับชาวบ้านว่าจะใช้เรือบรรทุกถ่ายหินขนาด 3 พันตัน แต่ตอนหลังบอกว่าจะเพิ่มเป็นขนาด 1 หมื่นเดทเวทตัน ซึ่งเรื่องขนาดนี้ต้องกินน้ำลึกมาก ไม่ใช่มาวิ่งในร่องน้ำแคบๆของชาวบ้าน
“การที่เขาทุ่มซื้อโฆษณาในหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องธรรมดา เพราะจริงๆแล้วเขาลงทุนยิ่งกว่านี้อีก มีการนำผู้นำชุมชนไปดูงานต่างประเทศ ดิฉันอยากให้มีการตรวจสอบการใช้งบประมาณของกฟผ.” ดร.เรณู กล่าว
ดร.เรณูกล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่งคือมีการนำโลโก้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล มาไว้บนหน้าปกของรายงาน ทำให้ชาวบ้านเกิดความสับสน ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านกำลังส่งไปร้องเรียนนายกสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง โดยเฉพาะหากมีการตรวจสอบพบว่าการทำรายงานการศึกษาเหล่านี้ไม่ลึกซึ้งพอหรือไม่ตรงข้อเท็จจริงถือว่าเป็นการไม่ถูกต้องทางจริยธรรมทางวิชาการ