Search

ชาวบ้านยื่นยูเนสโก้เบรคแผนอุทยาน จัดตั้งป่าแกงกระจานเป็นมรดกโลก-หวั่นซ้ำทุกข์ ร้อง 5 ประเด็น-ชี้ควรแก้ปัญหาข้อพิพาทให้เสร็จก่อน

un

 

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 เวลาประมาณ 14.00 น. นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ นำนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ (มึนอ) ภริยานายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งถูกบังคับให้สูญหายไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี เข้ายื่นหนังสือต่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้) เรื่องข้อกังวลและข้อเสนอต่อการขอจัดตั้งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในประเทศไทย

นางอังคณา กล่าวว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันของครอบครัวนายพอละจี ซึ่งเป็นช่องทางการปกป้องสิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่แก่งกระจาน ที่ส่วนมากเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน โป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกจะจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยโอกาสครบครอบ 180 วันการหายตัวไปของนายพอละจี ทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ความหวังของนายพอละจี ที่พยายามช่วยผลักดันสิทธิชาวบ้านในแก่งกระจาน ให้มีสิทธิมีเสียงนั้น ถูกสานต่อ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยูเนสโก้ที่รับเรื่องไว้ พร้อมรับปากว่ายินดีส่งรายงานคดีความและส่งข้อมูลเรื่องความไม่ชอบมาพากล และคดีความเรื่องการเผาไล่ผลักดันการย้ายถิ่นฐาน ชาวบ้านบางกลอยบน ให้สำนักงานใหญ่รับทราบ

“ตอนนี้ ต้องเข้าใจว่ายูเนสโก้ยังไม่ทราบเรื่อง เพราะที่ผ่านมาเรายื่นหนังสือถึงสหประชาชาติ แค่กรณีการหายตัวของพอละจีเท่านั้น ยังไม่เคยรายงานผลกระทบแบบภาพรวม โอกาสนี้จึงต้องเร่งส่งรายงานให้ยูเนสโก้รับทราบ เพราะอาจจะมีผลในการระงับแผนจัดตั้งป่าแก่งกระจานเป็นมรรดกโลกได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเข้าใจว่า ทางยูเนสโก้ อาจทราบแค่ข้อมูลด้านเดียว เรื่องช้าง เรื่องจระเข้และทรัพยากรบางประเภทในป่าเท่านั้น เขาไม่ได้รู้ว่าในป่ามีชาวบ้าน มีชุมชนอยู่ ดังนั้นการจัดเป็นมรดกโลกจะอาศัยแค่ข้อมูลด้านเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงการใช้ประโยชน์ของชุมชนด้วย ” นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา กล่าวด้วยว่า นอกจากการยื่นยูเนสโก้แล้ว เครือข่ายฯ ได้ไต่ถามถึงกรณีการติดตามคดีการหายตัวไปของนายพอละจี ทราบว่า สหประชาชาติ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีจดหมายหรือหนังสือตอบกลับ แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ล่าช้า แต่อย่างไรก็ตามการเดินหน้าเพื่อสิทธิคนส่วนมากก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 180 วัน เครือข่ายฯ จึงต้องเสนอข้อกังวลเรื่องประกาศป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกให้ทั่วโลกรับทราบ เพื่อที่อย่างน้อยได้ปกป้องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอีกหลายร้อยชีวิตที่นายพอละจีได้เคลื่อนไหวมาโดยตลอด

ด้านนายวุฒิ บุญเลิศ ผู้ประสานงานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรม ฯ กล่าวว่า การประกาศป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเรื่องที่น่าคิดอย่างมากกรณีการเร่งรัดจัดการผืนป่าโดยไม่กังวลถึงผลกระทบต่อชาติพันธุ์ในพื้นที่ โดยข้อกังวลหลัก คือการจัดตั้งเป็นไปได้ยาก เพราะข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานฯที่ผ่านมา ยังไม่มีการแก้ปัญหา หรือเยียวยาโดยเฉพาะกลุ่มผู้ถูกอพยพลงมาจากพื้นที่บางกลอยบน หรือใจแผ่นดินที่ส่วนมากยังขาดแคลนพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งต้องออกไปหางานรับจ้างในเมือง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบหลายๆ ด้านตามมา เช่น ปัญหาด้านครอบครัว การถูกเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงานเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน เป็นต้น

“ประเด็นนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ระหว่างการศึกษาและเสนอแนะให้หน่วยงานต่างๆ เร่งแก้ไข แต่ยังหาทางออกไม่ได้ อีกทั้งนายพอละจี ผู้ดำเนินการร่วมแก้ไขปัญหา ก็มาหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย กระทรวงทรัพยากรฯ จะเร่งออกข้อเสนอเพื่อทำมรดกโลกจึงไม่ควรเกิดขึ้น นอกจากนี้ข้อกังวลอื่นๆที่มีคือ ชาวบ้านเกรงว่าเมื่อประกาศเป็นเขตมรดกโลกแล้ว จะมีบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษา มาเที่ยวและทำกิจกรรมในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาขาดแคลนทรัพยากร ทั้งที่อยู่อาศัยและทำกิน “ นายวุฒิ กล่าว

นายวุฒิ กล่าวต่อว่า เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคีขอเสนอ 1 ให้มีการแก้ไขประเด็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อนุรักษ์ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตมรดกโลก โดยเฉพาะกรณีการอพยพชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2 ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดเวทีทำความเข้าใจให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบทุกด้านทั้งข้อดีและข้อเสียของการจัดตั้งมรดกโลก และให้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้เนื่องจากมีผลกระทบกับชุมชนและคนหลายกลุ่ม

นายวุฒิกล่าวว่า 3 การประกาศมรดกโลกทางธรรมชาติต้องไม่ละเมิดสิทธิของคนที่อาศัยและพึ่งพิงป่า เช่นวิถีการดำเนินชีวิตตามประเพณี ให้ความสำคัญและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร และมรดกโลกด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญและเน้นแต่เรื่องพืชและสัตว์เพียงอย่างเดียว 4 .มีการรับรองและกำหนดเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 5 มีกลไกการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและข้อขัดแย้งที่ชัดเจน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้และมีความยุติธรรม

นางสาวพิณนภา กล่าวว่า หลังจากที่บิลลี่หายตัวไป นอกจากคนในป่าแก่งกระจานจะมีความกลัวและกังวลเรื่องที่ดินทำกินในป่าแก่งกระจานแล้ว ขณะนี้ชาวบ้านป่าเด็ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตนและครอบครัวอาศัยอยู่ยังต้องกังวลกรณีการสร้างเขื่อนป่าเด็งด้วย เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน เริ่มลงพื้นที่สำรวจข้อมูลที่ดินที่อาจถูกเวนคืนแล้ว โดยเจ้าของที่ดินซึ่งตนขออาศัยอยู่ก็เริ่มมีความกังวลเช่นกัน อาจเป็นไปได้ว่า ตนและครอบครัวจะต้องย้ายถิ่นฐานเร็วๆ นี้ ด้วย ดังนั้นพื้นที่ป่าแก่งกระจานก็เป็นความหวังเดียวที่ชาวบ้านต้องการพัก อาศัย ซึ่งหากเป็นมรดกโลก ชาวบ้านก็ต้องกลายเป็นคนไร้บ้านไปตลอดชีวิต

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →