เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 นายบุญสืบ เผือกอ่อน ชาวบ้านคลองชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็น 1ในผู้พบจระเข้น้ำจืดขนาด 1.5 เมตร น้ำหนัก 60 กิโลกรัม เปิดเผยว่า จระเข้ติดอยู่ในจั่นดักปลาของชาวบ้านที่วางไว้บริเวณริมคลองชมพูห่างจากเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงประมาณ 10 กิโลเมตร จุดที่พบห่างจากบ้านชาวบ้านเพียง 200 เมตร และห่างจากใจกลางหมู่บ้าน 1,500 เมตร จระเข้ตัวนี้มีขนาดเล็กกว่าตัวที่เคยพบขึ้นมาวางไข่เมื่อเดือนพฤษภาคม และอีกตัวที่พบเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนในจุดที่พบจระเข้ตัวล่าสุดนี้ชาวบ้านเคยเห็นจระเข้ขึ้นมาหลายครั้งแต่ไม่เคยมีใครบันทึกภาพได้ทัน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พบว่าจระเข้ได้เข้ามาติดจั่นของชาวบ้านจึงแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จึงมีการเคลื่อนย้ายจระเข้ที่พบไปไว้ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.5(วังแดง) เพื่อทำการตรวจสอบว่าเป็นจระเข้พันธ์ไทยแท้ที่อาศัยตามธรรมชาติในคลองชมพูหรือไม่
ล่าสุดนายธีรเชษฐ์ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู กล่าวถึงความคืบหน้าว่า เดิมทีชาวบ้านตั้งใจจะเก็บตัวอย่างเลือดและนำจระเข้ปล่อยคืนธรรมชาติ แต่ทางอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวงเสนอว่าควรจะเก็บจระเข้ไว้ก่อนเพื่อรอผลตรวจดีเอ็นเอให้ชัดเจนว่าเป็นจระเข้ป่า เนื่องจากเกรงว่าหากเป็นจระเข้เลี้ยงที่หลุดออกมาแล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสายพันธ์ุจระเข้ป่าที่อาศัยอยู่ในคลองชมพู ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่นำจระเข้ไปฝากอนุบาลไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ กรมประมง เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม และมีการทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานร่วมกัน จนกว่าจะทราบผลดีเอ็นเอที่ชัดเจนที่คาดว่าจะใช้เวลาตรวจประมาณ 1-2 เดือน อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังไม่วางใจความโปร่งใสในการตรวจของเจ้าหน้าที่ จึงมีการเก็บตัวอย่างเลือดและเนื้อเยื่อเตรียมมอบให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านจระเข้ที่ชาวบ้านไว้วางใจทำการตรวจสอบคู่ขนานเป็นหลักฐานเปรียบเทียบด้วย
“ชาวบ้านมั่นใจว่าจระเข้ตัวนี้เป็นจระเข้คลองชมพู เพราะลักษณะฟันแตกต่างจากจระเข้เลี้ยง ธรรมชาติน่าจะออกแบบฟันซี่เล็กๆ แบบนี้ไว้ใช้กินปลา และเมื่อเทียบกับจระเข้ที่ชาวบ้านพบ 4 ครั้งในรอบปีนี้ แม้แต่ละตัวจะมีขนาดต่างกันแต่มีลักษณะกายภาพคล้ายกันมาก และจุดที่พบแต่ละตัวห่างกันกว่า 10 กิโลเมตร จึงเชื่อว่าในคลองชมพูน่าจะมีจระเข้อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 5-6 ตัว” นายธีรเชฐษ กล่าว
นายธีรเชษฐ กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องจระเข้ว่าเป็นเจ้าพ่อดูแลปกปักษ์รักษาคลองชมพู การย้ายจระเข้ไปไว้ที่นครสวรรค์จึงต้องให้ผู้อาวุโสของชุมชนทำพิธีบอกกล่าว ซึ่งชาวบ้านได้ทำการขอขมาขออณุญาตินำจระเข้ไปทำการตรวจพิสูจน์ให้เสร็จและจำรีบนำมาปล่อยคืนธรรมชาติ ขณะที่ตนเองเชื่อว่าการปรากฏตัวของจระเข้หลายครั้งในปีนี้เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำและป่าเป็นอย่างดี ซึ่งไม่เหมาะสมหากจะมีการดำเนินการทำโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำคลองชมพู โดยเฉพาะเขื่อนคลองชมพู ที่กรมชลประทานผลักดันมาตลอด รวมทั้งการผลักดันสัมปทางเมืองทองคำในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ชาวบ้านคัดค้านมาเนื่องจากเกรงถึงผลกระทบรุนแรงที่ตามมา
ด้าน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หลังจากได้เข้าไปดูที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดนครสวรรค์ เบี้องต้นพบว่าจระเข้ตัวที่ชาวบ้านพบน่าจะเป็นพันธุ์ไทยแท้ แต่ไม่มั่นใจว่าเป็นจระเข้ป่าตามธรรมชาติหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันการตรวจดีเอ็นเอยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นจระเข้ป่าตามธรรมชาติหรือจระเข้เลี้ยง โดยจระเข้เลี้ยงส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์ไทยแท้อยู่แล้ว ซึ่งองค์ประกอบทางพันธุ์กรรมแทบไม่มีความแตกต่างกัน การตรวจดีเอ็นเอจึงบ่งชี้ได้เพียงว่าเป็นจระเข้พันธุ์ไทยแท้หรือจระเข้พันธุ์ผสมน้ำจืดกับน้ำเค็มเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องจับจระเข้มาขังไว้เพราะ สามารถใช้วิธีการเก็บตัวอย่างเกร็ดหรือเนื้อเยื่อมาตรวจดีเอ็นเอก็เพียงพอแล้ว
ดร.นณณ์ กล่าวต่อว่า จากการสังเกตุทางกายภาพของจระเข้ตัวที่พบล่าสุดจากคลองชมพูและจากภาพถ่ายของตัวที่พบก่อนหน้านี้ พบว่ามันมีความแตกต่างจากจระเข้พันธุ์ไทยแท้ที่พบโดยทั่วไป โดยเฉพาะลักษณะของฟันซี่เล็กและมีจำนวนไม่มาก แตกต่างจากจระเข้เลี้ยงที่ส่วนมากฟันจำนวนมากและมีขนาดใหญ่เมื่อปิดปากฟันยังโผล่ออกมาให้เห็น อีกทั้งสีผิวที่ค่อนข้างดำไม่เหมือนผิวสีดำอมเหลืองและมีลายของจระเข้เลี้ยง จึงเป็นแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากจระเข้ทั่วไปและน่าจะมีความเป็นไปได้ว่าจระเข้ที่พบจะเป็นจระเข้ป่าสายพันธุ์เฉพาะที่อาศัยอยู่ในคลองชมพู อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยหรือเก็บตัวอย่างจระเข้ในคลองชมพูอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการจับจระเข้ขึ้นมาได้ มีเพียงการบันทึกไว้เป็นภาพถ่ายไว้เท่านั้น แต่ข้อมูลขณะนี้สามารถยืนยันได้ชัดเจนคือในคลองชมพูมีจระเข้อาศัยอยู่มากกว่า 1 ตัว และมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากจระเข้ทั่วไป
“แม้อาจไม่สามารถพิสูจน์ด้วยดีเอ็นเอว่าเป็นจระเข้ป่า แต่การปรากฏตัวของจระเข้ที่เป็นสัตว์นักล่าขนาดใหญ่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร สามารถล่าทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก อย่างน้อยืนยันได้ถึงความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์อย่างมากของคลองชมพูและป่าบริเวณนั้น” ดร.นณณ์ กล่าว