Search

แนะรัฐยุติแผนแม่บทป่าไม้ชาวบ้านร้องสื่อถูกทำลายไร่-สวนป่าไม้ยันไม่จับชาวบ้าน-พ้อถูกอัดทั้งข้างบนข้างล่าง

1

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ป่าชุมชนบ้านแม่ป่าเส้า-แม่คองซ้าย ตำบลแม่คอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สื่อมวลชนจากส่วนกลางประมาณ 20 คน โดยการสนับสนุนของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นวันที่ 2 กรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายยึดคืนผืนที่ป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เวลา 13.00 น.ชาวบ้านร่วมกันจัดพิธีบวชป่า จากนั้น ได้มีการจัดเวทีโดยมีชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงซึ่งได้รับผลกระทบมาสะท้อนปัญหา โดยมีนายชยันต์  วรรธนะภูติ   นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายทนงศักดิ์ ธรรมโม ผู้อำนวยส่วนป้องกันรักษาป่าและป้องกันไฟป่า สำนักป่าไม้ที่ 2 จังหวัดเชียงราย นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตกรภาคเหนือ นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการจากศูนย์สันติศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และอนุกรรมการด้านที่ดินและป่าในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

2

นายอมรเทพ  ภมรสุจริจกุล   ผู้ใหญ่บ้านเลาวู  อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่  กล่าวว่า  หมู่บ้านของตนเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  มีทั้งป่าชุมชน ป่าสาธารณะ ป่าใช้สอย  ป่าปลูกเฉลิมพระเกียรติ  มีพื้นที่ร่วมประมาณ 40,000  ไร่ โดยชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินแค่ ประมาณ 1,000 กว่าไร่ เท่านั้นที่เหลือร่วมกันอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ  ชาวบ้านหลายรายขาดแคลนที่ทำกิน  แต่ก็ยังพอเพาะปลูก ทำเกษตรผสมผสานได้ โดยพื้นที่ป่าทำกอินทั้งหมด ชาวบ้านส่วนมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ยืนยันว่ามีการบุกเบิกมานานแล้ว  ไม่ใช่เพิ่งบุกรุกภายหลังปี  2545 เหมือนที่ คสช.ประกาศให้ยึดคืน  ชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วยกับแผนแม่บทฯ ที่บุกยึดคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และอยากสนับสนุนให้มีการออกโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านมีสิทธิครอบครองที่ทำกินถูกกฎหมาย

“ตอนนี้เขามาปิดป้ายรอบผืนที่ทำกินของชาวบ้าน มีทหาร เจ้าหน้าที่อุทยานฯลงไปในพื้นที่นับพันคน มีนักข่าวบางช่องไปด้วยแล้วมาออกข่าวว่าพื้นที่เหล่านี้ชาวบ้านบุกรุกเพราะมีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ผมในฐานะผู้ใหญ่บ้านยืนยันได้ว่า เราทำกินกันมา 40-50 ปีโดยไม่มีนายทุนเลย มีแต่ชาวบ้านจนๆหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ผมพยายามทำหนังสืออุทธรณ์ไปแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่อ้างแต่คำสั่งคสช.ฉบับที่ 64 และเลือกปฎิบัติไม่ใช่คำสั่งฉบับที่ 66”นายอมรเทพ กล่าว

3

นางอามีมะ  นอยิปา  อายุ  30 ปี  ตัวแทนหมู่บ้านห้วยหก  อำเภอเวียงแหง กล่าวว่า  ตนเพิ่งเสียพื้นที่ปลูกข้าวไร่และข้าวโพด  รวมทั้งพืชผลการเกษตรอื่นๆ ไปประมาณ 5 ไร่ จากทั้งหมด  8 ไร่ โดยที่ดินของตนตั้งอยู่ในอุทยานห้วยน้ำดังโดยปลูกพืชผักมานานกว่า 10 ปี แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝังก็เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาตนไปรับจ้างทำสวนให้กับนายทุยรายหนึ่ง เพราะว่างการทำไร่ของตน  มีเพื่อนบ้านมาบอกว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาทำการแผ้วถางนาไร่ข้าวและข้าวโพดทั้งหมด 5 ไร่   ทำให้ตอนนี้ครอบครัวของตนยังมีที่ดินทำกินเหลือแค่ 3 ไร่ ยังคิดไม่ออกว่าอนาคตจะเลี้ยงลูก 3  คน

“เราถางป่ามาปลูกทำกิน เมื่อก่อนคนของรัฐบอกเราว่าจะออกโฉนดทำกินให้ ออกเอกสารสิทธิ์ให้แต่ยังไม่มีโอกาสได้ รับเอกสารสิทธิ์นั้นเลย ก็มาเสียไร่ที่แผ้วถาง บุกเบิกมานาน หายไปแล้วเพราะนโยบายที่เราไม่รู้เรื่องและไม่มีใครแจ้งให้ทราบ” นางอามีมะ กล่าว

ขณะที่นายทนงศักดิ์    กล่าวว่า  การปราบปราบการบุกรุกพื้นที่ป่าและการดำเนินการตามประกาศ คสช. นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะในฐานะผู้ปฏิบัติงานต้องปฎิบัติตามคำสั่งเบื้องบน และมีชาวบ้านเป็นเบื้องหลัง ทำให้ถูกกระแททั้งข้างบนข้างล่าง การทำงานค่อนข้างยาก และเห็นใจชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ตามกรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรมป่าไม้ ยืนยันว่าไม่มีการจับกุมผู้เดือดร้อนที่ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ  แต่เน้นการจับกุมนายทุนรายใหญ่ โดยจะจับกุมผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่าใช้แผนที่ทางอากาศปี 2545  เข้าจับกุม โดยใครบุกรุกพื้นที่เกินเขตป่าสงวนเกินบริเวณที่ปรากฎในแผนที่ จะจัดการจับกุมทันที หากเป็นชาวบ้านก็จะเจรจาก่อน ทั้งนี้การจับกุมทุกครั้งต้องพิสูจน์ตัวบุคคล ประวัติทำกิน เอกสารสิทธิ์ และหลักฐานการครอบครองให้แน่ชัด กรณีบ้านโป่งปูเฟืองที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีนั้น ยอมรับว่าชาวบ้านส่วนมากมีที่ทำกินทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ยึดพื้นที่นั้นยืนยันว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ แต่เป็นของสวนป่า ส่วนกรณีของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่มาร่วมเวทีนั้น ตนไม่สามารถตอบได้เพราะเป็นเรื่องของอุทยานฯ

4

ด้าน  ดร.เพิ่มศักดิ์  กล่าวว่าแผนแม่บทฯของ คสช.เป็นโอกาสดีในการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐ  แต่จากกรณีที่ลงตรวจสอบพื้นที่บ้านโป่งปูเฟือง  จังหวัดเชียงรายพบว่า การทำตามประกาศของ คสช.เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า เป็นนโยบายที่เลือกปฏิบัติ  เพราะภาพที่เห็นในหมู่บ้าน ด้านหนึ่งของชุมชนนั้นมีที่ทำกินมา 10 กว่าปี และมีชีวิตเรียบง่าย  กลับโดนเจ้าหน้าที่บุกยึดที่ดิน  แต่อีกด้านเป็นภาพภูเขา มีต้นยางพาราและไร่องุ่นนับพันไร่ซึ่งคาดว่าเป็นของนายทุนรายใหญ่ กลับไม่มีร่องรอยการยึด  หรือทำลาย ทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเช่นเดียวกับชาวบ้าน
“การทำลายพืชผล เกษตรกรรมของชาวบ้าน เป็นการทำที่ไม่เข้าใจสภาพการจัดการชุมชน  หน่วยงานหลายแห่งไม่มีความเป็นธรรม แต่เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่มีโอกาสให้ชาวบ้านร่วมเจรจา  พอถามว่าทำไมชาวบ้านไม่ร้องเรียน ความเดือดร้อนต่อ คสช. ปรากฎว่าคำตอบหดหู่มาก เพราะชาวบ้านที่ไปเจรจา ถูกดำเนินคดีหลายราย” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

“เราเห็นภาพชัดว่าหลักการในแผนแม่บทฯกับทางปฎิบัติไปกันคนละทาง เท่าที่เรารวบรวมใน 26 กรณีที่ของชาวบ้านที่ประสบปัญหาเรื่องนี้ สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรม แทนที่คสช.จะเริ่มต้นด้วยการใช้มาตรการเชิงบวกและสร้างมิตรกับชาวบ้านกลับเลือกใช้วิธีรุนแรง”ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

นายประยงค์   กล่าวว่าปัญหาเนื่องจากคำสั่งฉบับที่ 64 ของคสช.ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระทำการละเมิดโดยเลือกปฎิบัติไม่ยอมใช้คำสั่งฉบับที่ 66 ที่ระบุว่าไม่ให้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ซึ่งการไปตัดต้นยางหรือพืชผลของชาวบ้านซึ่งปลูกมาก่อนที่คำสั่งนี้จะออกเมื่อเดือนมิถุนาย 2557 จึงสับสน และแผนแม่บทฯที่เขียนขึ้นมาเป็นไปด้วยความลักลั่น ถือว่าเป็นการกัดกระดุมเม็ดแรกผิด ทำให้การแก้ปัญหาต่อมาผิดเรื่อยๆ เช่น ในแผนแม่บทฯบอกว่าจะคืนพื้นที่ป่า 26  ไร่ภายใน 10 ปี โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์ แต่ผลคือการทวงผืนป่าครั้งนี้กลับทวงคืนที่ดินทำกินของชาวบ้าน

นายประยงค์กล่าวว่า หากต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นร้อยละ 40 ก็ต้องเพิ่มในทุกๆจังหวัดให้ได้ร้อยละ 40 แต่ในแผนแม่บทฯกลับกำหนดให้พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และน่านให้เป็นพื้นที่วิกฤตรุนแรงและต้องเร่งทวงคืนและปราบปรามทั้งๆที่ 3 จังหวัดดังกล่าวมีพื้นที่ป่ามากที่สุด โดยแม่ฮ่องสอนมีป่าถึงร้อยละ 81 ซึ่งไม่รู้ว่ารัฐบาลจะไปทวงผืนป่าคืนจากจังหวัดเหล่านี้ทำไมทั้งๆที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลป่าอย่างดี ดังนั้นทางแก้ปัญหาคือคสช.ต้องยุติแผนแม่บทฯก่อน

นายชยันต์กล่าวว่า การสูญเสียพื้นที่ป่าไม่ได้เกิดจากชาวบ้านรายเล็กรายน้อย และในแผนแม่บทฯก็ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไปสู่เกษตรเชิงพานิช เช่น ข้าวโพด ยางพารา ซึ่งรัฐสนับสนุนทำให้เกิดภูเขาหัวโล้นขึ้นมากมาย นอกจากนี้ในแผนแม่บทฯยังไม่คำนึงถึงความเป็นจริง เพราะใช้กำลังเข้าไปบุกทำลายไร่สวนของชาวบ้าน ดังนั้นแทนที่จะคืนความสุขให้ประชาชนกับเป็นการคืนความเดือดร้อนให้มากกว่า”

On Key

Related Posts

ชาวบางกลอยกลุ่มใหญ่ยืนยันเจตนารมณ์กลับดินแดนบรรพชน“ใจแผ่นดิน” หลายภาคส่วนร่วมกันจัดงานรำลึก 11 ปี ‘บิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย-หวังความยุติธรรมปรากฎ “วสันต์ สิทธิเขตต์”แต่งเพลงให้กำลังใจชุมชนถูกกดขี่

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 25Read More →

กองกำลังชาติพันธุ์-PDF ผนึกกำลังครั้งใหญ่เปิดศึกไล่ฐานทหารพม่า บก.ควบคุมยุทธศาสตร์ที่ 12 -มุ่งเป้าตัดเส้นทางเชื่อมต่อเมืองเมียวดี ทัพตัดมะดอว์ส่งบินรบทิ้งระเบิดหนักหน่วงสะกัดกั้น

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 พะโดซอตอนี (Padoh Saw TRead More →