เรื่องของการบุกรุกและทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลทุกยุคสมัยต่างให้ความสำคัญ กระทั่งล่าสุดกับแนวทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66/2557 ว่าด้วยการปราบปรามการบุกรุกและทำลายทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งแผนแม่บททวงคืนผืนป่า หลังจากนั้นก็มีการไล่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำพื้นที่ป่า และจับกุมผู้กระทำผิดมากมาย ด้านหนึ่งถือเป็นการเอาจริงเอาจังที่ดี แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ไม่ใช่นายทุนหรือผู้มีอิทธิพล ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
“ตอนนี้เขามาปิดป้ายรอบผืนที่ทำกินของชาวบ้าน มีทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน ลงไปในพื้นที่นับพันคน มีนักข่าว
บาง ช่องไปด้วยแล้วมาออกข่าวว่าพื้นที่เหล่านี้ชาวบ้านบุกรุกเพราะมีนายทุนอยู่ เบื้องหลัง ผมในฐานะผู้ใหญ่บ้านยืนยันได้ว่า เราทำกินกันมา 40-50 ปี โดยไม่มีนายทุนเลย มีแต่ชาวบ้านจนๆ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน ผมพยายามทำหนังสืออุทธรณ์ไปแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่อ้างแต่คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และเลือกปฏิบัติ ไม่ใช้คำสั่งฉบับที่ 66”
นายอมรเทพ ภมรสุจริจกุล ผู้ใหญ่บ้านเลาวูอ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ บอกเล่าถึงการเข้าควบคุมพื้นที่ป่าของทหารที่สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่กรม อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยระบุว่าชาวบ้านถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ว่าร่วมมือกับนายทุนลักลอบตัดไม้
ผู้ใหญ่บ้านรายนี้ยืนยันว่า หมู่บ้านของตนเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีทั้งป่าชุมชนป่าสาธารณะ ป่าใช้สอย ป่าปลูกเฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ร่วมประมาณ 40,000 ไร่ โดยชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินแค่ประมาณ 1,000 กว่าไร่ เท่านั้น ที่เหลือร่วมกันอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากให้มีการรับรองสิทธิ์พื้นที่ทำกิดั้งเดิมนี้แก่ชาวบ้านในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ “ป่าอยู่ได้-คนก็อยู่ดี” ไม่ใช่มาจับกุมชาวบ้านที่อยู่อาศัยกันมานาน จนได้รับความ
เดือดร้อนอย่างในขณะนี้
“ชาวบ้านหลายรายขาดแคลนที่ทำกิน แต่ก็ยังพอเพาะปลูก ทำเกษตรผสมผสานได้ โดยพื้นที่ป่าทั้งหมดชาวบ้านส่วนมากไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ยืนยันว่ามีการบุกเบิกมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งบุกรุกภายหลังปี 2545 เหมือนที่ คสช.ประกาศให้ ยึดคืน ชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วยกับแผนแม่บท ที่บุกยึดคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และอยากสนับสนุนให้มีการออกโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านมีสิทธิครอบครองที่ทำกินถูก กฎหมาย”นายอมรเทพ กล่าว
อีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาเดียวกัน คือที่ บ้านโป่งปูเฟือง หมู่ 1 ต.แม่สรวย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย นายกมล อุปรัตน์ ชาวบ้านโป่งปูเฟือง เล่าว่า หมู่บ้านของตนได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ เพราะหมู่บ้านโป่งปูเฟืองก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2432 ต่อมาได้มีการประกาศเขตป่าสงวนแม่ลาวฝั่งซ้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในขณะนั้นได้เข้าปลูกป่าเป็นสวนป่าแม่ลาวในปี 2512 เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ทว่ากลับแจ้งข้อมูลไปยังส่วนกลางว่าปลูกไปถึง 300 ไร่ ซึ่งทับพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2513-2540 ยังมีการปลูกป่าทับที่ชาว บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางแปลงมีเอกสารสิทธิ ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่มีการปรับปรุงแผนที่ จึงเห็นชัดว่าพื้นที่ป่าและที่ทำกินทับซ้อนกัน ทำให้มีข้อขัดแย้งกันกันเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2547 ชาวบ้านตัดสินใจจะฟ้องร้องคดี จึงมีการตรวจสอบ
ทำ ให้รู้ว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ปลูกป่าแต่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำ กินของชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าการดำเนินการของตนเองมีความผิดพลาดและเกิดการทุจริต ขึ้น จึงมีการตกลงกันว่าให้ชาวบ้านสามารถทำกินในพื้นที่ดังกล่าวได้และจะไม่ มาสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน โดยแลกกับการที่ชาวบ้านไม่ฟ้องร้องคดี เรื่องจึงเป็นอันยุติ กระทั่งเมื่อ 3 ก.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ได้อ้างคำสั่ง คสช. เข้ามาทำลายสวนยางของชาวบ้าน และประกาศยึดที่ดินดังกล่าว
“ที่ดินนี้เป็นมรดกที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ได้เข้ามาทำกินในพื้นที่ เมื่อปี 2530 เดิมทีปลูกข้าวไร่และข้าวโพดต่อ มาเมื่อมี 2547 ได้ร่วมลงทุนกับญาติปลูกยางพารา จำนวน 5 ไร่ ประมาณ 350 ต้น จนกระทั่งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตัดต้นยางของผมและเพื่อนบ้านจำนวน 8 ไร่ แถมยังต้องเผชิญปัญหาการยึดคืนที่ดิน ทำให้ผมและเพื่อนบ้านหลายคนต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน” นายกมล ระบุ
ด้าน นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย กล่าวเสริมอีกว่า ที่ผ่านมา ปัญหาของชาวบ้านโป่งปูเฟืองได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในจังหวัดเชียงราย โดยมีผู้ว่าฯเชียงราย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันหารือมี ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าจะชะลอการจับกุมชาวบ้านไว้ก่อน ทำให้ชาวบ้านมีกำลังใจ แต่จู่ๆ เจ้าหน้าที่รัฐกลับมาตัดต้นยางพาราของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกวิตกกังวล
“เมื่อ คสช. บอกว่า จะคืนความสุขให้ประชาชนก็ควรแก้ไขปัญหานี้ให้ถูกต้อง ไม่ใช่เพิ่มทุกข์ให้ขาวบ้าน และเรื่องนี้ คสช. หรือคณะรัฐมนตรีควรเข้ามาแก้ไข เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีหลักฐานชัดเจนว่าอยู่มาก่อนป่า เขาปลูกต้นไม้ใหญ่ มีบ้านเรือนที่มั่นคง สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนอยู่กันมานาน ทางที่ดีคือ คสช. หรือคณะรัฐมนตรีควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน โดยลงมาดู
พื้นที่ด้วยตนเอง” อดีต สว.เชียงราย ให้ความเห็น
ไม่เพียงแต่ชาวบ้านที่มีสำมะโนครัวเป็น “คนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์” เท่านั้น คนอีกพวกหนึ่งที่เรียกว่าเป็น “กลุ่มชาติพันธุ์” ที่ ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่มายาวนานก่อนจะมีเส้นพรมแดนแบ่งเป็นประเทศต่างๆ ก็ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายนี้มากเช่นกัน ดังที่เกิดขึ้น ณ ชุมชนบ้านแม่ป่าเส้า-แม่คองซ้าย ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่นี่เป็นชุมชนเก่าแก่ของทั้ง “ชนเผ่าลั๊วะ” ในอดีตนานมาแล้ว ที่ยังคงทิ้งหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งถ้วยชามและกล้องยาสูบดินเผา หรือร่องรอยการปลูกชาและไผ่ไว้ให้เห็น และ “ชนเผ่าปกาเกอญอ” ที่เข้ามาอยู่แทนจนถึงปัจจุบัน
นางอามีมะ นอยิปา อายุ 30 ปี ตัวแทนหมู่บ้านห้วยหก อ.เวียงแหง กล่าวว่า ตนเพิ่งเสียพื้นที่ปลูกข้าวไร่และข้าวโพด รวมทั้งพืชผลการเกษตรอื่นๆ ไปประมาณ 5 ไร่ จากทั้งหมด 8 ไร่ โดยที่ดินของตนตั้งอยู่ในอุทยานห้วยน้ำดังโดยปลูกพืชผักมานานกว่า 10 ปี
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝังก็เกิดขึ้น เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาทำการแผ้วถางนาไร่ข้าวและข้าวโพดทั้งหมด 5 ไร่ ทำให้ตอนนี้ครอบครัวของตนเหลือที่ดินทำกินเพียง 3 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอยังชีพ เพราะยังต้องเลี้ยงลูกถึง 3 คน
“เราถางป่ามาปลูกทำกิน เมื่อก่อนคนของรัฐบอกเราว่าจะออกโฉนดทำกินให้ ออกเอกสารสิทธิให้แต่ยังไม่มีโอกาสได้ รับเอกสารสิทธินั้นเลย ก็มาเสียไร่ที่แผ้วถาง บุกเบิกมานาน หายไปแล้ว เพราะนโยบายที่เราไม่รู้เรื่องและไม่มีใครแจ้งให้ทราบ” ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ รายนี้ กล่าว
ในมุมมองนักวิชาการ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า นโยบายของ คสช. เป็นการกระทำที่ลัดขั้นตอน กล่าวคือเร่งจัดการที่ดินโดยมองเป้าหมายระดับชาติมากกว่ามองระดับชุมชน ไม่มีการรับฟังเสียงประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการที่เขียนไว้ เช่น ในคำสั่งที่ 66/2557 ที่ระบุว่าการจัดการพื้นที่ป่าที่ดินของรัฐ คสช. ระบุว่าต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่แล้วก็พบว่ามีหลายชุมชน ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน สูญเสียรายได้
ซึ่งการจัดการแบบนี้ ไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศแต่อย่างใด เพราะ คสช.กำลังพยายามทำลายบุคลากรของประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกสิกรรมอันเป็นอาชีพของคนไทยมาเนิ่นนาน ซึ่งไม่มีผลดีในอนาคตอย่างแน่นอน หากเร่งเพิ่มพื้นที่ประเทศมากขึ้น แต่แลกมาด้วยประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน
“อยากให้ คสช. เปิดใจรับฟังชาวบ้านที่เข้มแข็งเช่น ชาวบ้านห้วยหินลาดใน เพื่อมาร่วมเสนอบทเรียนให้แก่ภาครัฐในการจัดการทรัพยากรที่ดิน และใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อปฏิรูปประเทศ กระจายรายได้และสิทธิให้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่การเร่งรัดจัดการเพิ่มที่ดินของหลวง เพียงเพราะมองว่าป่าไม้ถูกทำลาย แต่ลืมไปว่าคุณภาพชีวิตประชาชนก็สำคัญไม่แพ้กัน”ดร.เพิ่มศักดิ์ ฝากทิ้งท้าย
ที่ ผ่านมา แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับการจัดสรรที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำกินให้กับประชาชนที่อยู่ ใกล้พื้นที่ป่า ภายใต้เป้าหมาย “คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข” แม้จะมีการพูดกันมาหลายครั้งในหลายรัฐบาลรวมถึงยุคนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่ามุมมองภาครัฐยังคงยึดติดกับวิธีเดิมๆ คือการจับกุมและขับไล่ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนที่ส่วนมากเป็นผู้มีรายได้น้อยและมีวิถีชีวิตอยู่กับ เกษตรกรรมได้รับความเดือดร้อน
ไหนๆ วันนี้ก็เดินหน้าปฏิรูปกันแล้ว..เอาแนวคิดดังกล่าวออกมาใช้เสียที จะได้ “คืนความสุข” อย่างแท้จริง!!!
บุษยมาศ ซองรัมย์
SCOOP@NAEWNA.COM
แนวหน้า 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557
—————————-