Search

ความในใจ”ปราชญ์ปกาเกอะญอ” จากทุกข์ยุคสัมปทาน สู่ยุคแผนแม่บท

พะตี1

แม้ฤดูกาลเกี่ยวข้าวมาถึงแล้ว แต่สำหรับพาตี (ลุง) ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ยังคงต้องออกจากบ้านเกิด ที่สบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่อย่างต่อเนื่อง แม้สังขารจะล่วงเลยเข้าไปสู่วัย 65 ปีแล้วก็ตาม แต่พาตีตาแยะกลับทำกิจกรรมได้สารพัดโดยเฉพาะการเดินเท้าปฏิรูปที่ดินประเทศไทย ที่ผ่านมา แม้จะถูกห้อมล้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พาตีก็ยังต้องทำด้วยความเต็มใจ ตกค่ำยังคงนั่งประชุมวางแผนงานกับสมาชิกอีกหลายฝ่ายที่ทำงานด้านภาคประชาสังคมอย่างตั้งใจและมีเป้าหมาย เหมือนกับทุกกิจกรรมที่ผ่านมา เพียงเพราะเชื่อในระบบยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งการเดินเท้าของของภาคประชาชนครั้งนี้ก็มีผลที่น่าพอใจ คือ ทำให้ผู้บริหารประเทศระดับรัฐมนตรียอมตั้งโต๊ะประชุมวางแผนแก้ปัญหาที่ดินและป่าไม้อย่างเป็นทางการ

เริ่มต้นเหมันต์ฤดู ทีมผู้สื่อข่าวตัดสินใจติดตามชีวิตพาตีตาแยะไปที่สบลาน เพื่อทำความรู้จักกับครอบครัวและชุมชนเพิ่มเติม พาตีจัดรถจักรยานยนต์ลงมารับทีมงานและพาโดยสารเข้าไปในป่าลึก ที่บ้านหลังเล็กยังมีแม่บ้านปกาเกอะญอ ที่ใครๆ เรียกว่าโม (ป้า) มือเดพอ ทำหน้าที่เป็นแม่ครัวและเลี้ยงหลานอยู่บ้าน ครั้นพบผู้มาเยือนโมยังยิ้มต้อนรับและหาน้ำมาให้ดื่ม ส่วนพาตีปลีกตัวไปดูแลควายใต้ถุนบ้าน

“ไม่รู้เมื่อไหร่พาตีจะได้อยู่บ้านเฉยๆ สักทีนะ เหนื่อยน่าดูเลยเนี่ย โมได้ยินพาตีพูดว่ามีเพื่อนบ้านถูกฟันไร่ ยาง ไร่ข้าว โมนึกว่ามีคนจะเอาฮอ มาสำรวจป่าไล่พวกเราอีกแล้ว แต่สรุปว่าไม่ใช่ ใช่มั๊ย ” โมถามไถ่กึ่งกังวล กึ่งห่วงใย ก่อนจะต่อความบอกว่า สบลานคือบ้าน ปกาเกอะญอในพื้นที่ไม่ขอออกไปไหนอีกแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่รัฐบาลต้องการสร้างเขื่อนหรือเหตุผลอื่นใด เพราะปกาเกอะญอยอมถอยมาแล้วทั้งชีวิต มาถึงที่นี่หลายคนหามหาร้านค้า ถามหาไฟฟ้า บ้านหลังอื่นมีโซลาเซลล์ใช้ก็จริง แต่บ้านของตนและพาตีไม่มี

“โมก็เคยถามแกว่าอยากได้ไหม แกบอกว่าไม่อยากได้ กลางคืนมันเวลาพักผ่อน จุดตะเกียงส่องทางกลับที่นอน แป๊บเดียวก็มืดแล้ว ไปนอนร่างกายต้องใช้งานต่อในวันรุ่งขึ้น จะเอาไฟฟ้ามาปลุกให้ตัวเองตื่นทำไม สำหรับพาตีแล้ว เขาไม่เคยอยากได้อะไรนอกจากที่ดิน ที่ทำกินและน้ำไว้ดื่ม กับสัตว์พวก ควาย ไก่ หมู ไว้กิน ไว้ใช้งานและขายออกตลาดบ้างเท่านั้น เขาต่อสู้เพื่อปกป้องป่ามานาน จนโมอยากให้พัก อยากให้หยุด แต่พาตีไม่หยุด เราก็ห่วงมาก เวลาไปจากบ้านนานถึง 4-5 วัน โทรศัพท์โมก็ไม่มี ใช้ไม่เป็น ฟังวิทยุได้ยินเรื่องเขื่อน เรื่องป่าทีก็สะดุ้ง ตกใจ กลัวว่าสิ่งที่พาตีทำไม่ได้ผล เราเห็นใจเขาแต่ก็เชื่อในความพยายาม หวังแค่ให้เขาอยู่บ้านกับเรานานๆ บ้างก็เท่านั้น ” ผู้เป็นภรรยาเล่าเรื่องราวและจุดยืนของสามีพร้อมตัดพ้อด้วยความห่วงใย

ฝ่ายพาตีตายแยะเมื่อเสร็จงานกลับเข้าบ้านมานั่งล้อมวงกินมื้อค่ำร่วมกัน โมทำ “ต้มผักกาดจอ” เลี้ยงครอบครัวเกือบ 10 ชีวิต เราต้องผลัดกันกินครั้งละ 4-5 คน เพราะพื้นที่ในบ้านคับแคบ ความพอเพียงที่เห็นยืนยันว่าผู้เฒ่ารายนี้อยู่กับความพอดีและใช้ชีวิตเรียบง่าย

พะตี2

ตกค่ำเราใช้เวลากับการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้ๆ บ้าน พาตีย้อนเรื่องราวว่า เมื่อครั้งสมัยสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่รุ่นฝรั่งจนมารุ่นคนไทยเข้ามารับช่วงต่อ ขณะนั้นปกาเกอะญอพูดไทยไม่ได้ บนเนื้อที่ป่ากว่าหมื่นไร่กลายเป็นป่าเงียบ ไม่มีชีวิต ปกาเกอะญอทุกคนเกรงกลัวอำนาจรัฐเข้ามาขับไล่จากป่า ที่เคยทำกินก็ต้องทิ้งไร่ไว้แล้วเอาตัวรอดก่อน พอเรื่องเงียบก็กลับไปดูข้าวไร่ ไปบางทีเม็ดข้าวร่วงกองกับพื้นเพราะแห้งไม่ได้เกี่ยวนาน ไปเจอตอไม้ใหญ่ในป่าพิธีกรรมที่ชาวบ้านไม่กล้าตัด ผู้เฒ่าคนรุ่นก่อนเล่าว่าบางรายถึงกับน้ำตาตกเพราะรักษาต้นไม้มาทั้งชีวิต แล้วใครมาโค่นลงไม่รู้ ข้าวพันธุ์ดีที่หวังจะเป็นต้นทุนการดำรงอยู่กลายเป็นเรื่องผิดมหันต์ที่ทางการไม่เคยเข้าใจ แต่ครั้งนั้นชาติพันธุ์ทุกคนความรู้น้อย สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ชะตากรรมก็คือยอมอพยพออกจากพื้นที่เดิม

“ป่าไม้เหมือนแม่พ่อ เขาถูกโค่นลง คือตัดผู้เลี้ยงดูเรา มองอีกด้านป่าคือลูกหลาน หากเขาถูกทำร้ายเราก็เจ็บปวด ทุกวันนี้เพื่อดูแลพ่อแม่สีเขียวของเรา และดูแลลูกๆ ที่เป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์นี้ เราจึงต้องเร่งต่อต้านทุกอย่างที่ทำลายป่าแบบไม่สมเหตุผล ซึ่งตอนนี้ป่าในอำเขตออบขานมีมากกว่า 1 หมื่นไร่ มีทั้งป่าใช้สอย ป่าทำไร่หมุนเวียน ป่าพิธีกรรม และป่าอนุรักษ์ เราต้องรักษาเขาไว้ให้ได้ เพราะเราเคยมบทเรียนเมื่อครั้งสัมปทานป่าไม้มาแล้ว อย่างกรณีรัฐบาลเตรียมจะประกาศเขตอุทยานออบขาน ห้ามชุมชนเข้าไปเกี่ยวข้องในป่านั้น เราก็ห่วงมากนะ เรากลัวว่าปล่อยเป็นอุทยานแล้วชุมชนจะไม่มีสิทธิ์ใช้สอยและออกกฎดูแลป่าร่วมกับรัฐ ” พาตีอธิบาย

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุถึงหลักการสัมปทานป่าว่า ปี พ.ศ. 2511 พื้นที่ป่าไม้ที่เป็นป่าสัมปทานมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 230,000 ตารางกิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 คณะรัฐมนตรีมีมติปิดป่าสัมปทานทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่สัมปทานทั้งหมด ทำให้พื้นที่สัมปทานถูกปิดไป 122,784 ตารางกิโลเมตร จนปี พ.ศ. 2527 รัฐบาลมีมติเปิดป่าสัมปทานเพื่อผ่อนคลายให้มีการทำไม้ได้อีกเป็นพื้นที่ 24,063 ตารางกิโลเมตร รวมแล้วเป็นพื้นที่ป่าสัมปทานทั้งสิ้น 130,815 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของพื้นที่ประเทศ ส่วนป่าที่เหลืออยู่ร้อยละ 3.5 ของประเทศถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้แก่ พื้นที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ และป่าต้นลำธาร ซึ่งไม่ซ้อนทับกับพื้นที่ป่าสัมปทานและไม่รวมพื้นที่ที่เป็นพื้นน้ำของ อุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่ง

จากหลักฐานป่าไม้ที่หลงเหลืออยู่ตามข้อความที่ปรากฎในเว็บไซต์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุได้ชัดว่าป่าเหลือน้อยมาก และนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มวางแผนปรับโครงสร้างพื้นที่ป่าโดยใช้ยุทธศาสตร์แผนแม่บทป่าไม้ และใช้กำลังเจ้าหน้าที่บุกทวงคืนพื้นที่ของชาวบ้านหลายแห่งโดยอ้างข้อหาบุกรุก ส่งผลให้ชะตาชีวิตของประชาชนส่วนมากต้องมาบรรจบกันในกิจกรรม “เดินก้าวแลก เพื่อปฏิรูปที่ดินประเทศไทย” ซึ่งพาตีตาแยะเป็นสมาชิกร่วมอุดมการณ์อีกคนที่ได้รับความนับถือว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ที่น่าเลื่อมใสที่ขับเคลื่อนนโยบายชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการจัดการป่าและที่ดินมาจากรัฐบาลชุดก่อนเพื่อต่อต้านการประกาศเขตอุทยานฯ สืบเนื่องมาจนถึงยุคโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน และมาถึงยุคแผนแม่บทป่าไม้ ถึงแม้สะเมิงไม่ได้เป็นพื้นที่ในแผนทวงคืนผืนป่า แต่พาตียืนยันว่า ชุมชนอำเภอสะเมิงต้องเรียนรู้และตั้งรับเสมอ จึงทำให้เขาต้องจากบ้านบ่อยครั้งเพื่อร่วมเคลื่อนไหวในโอกาสต่างๆ

วันนี้พาตีไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ทั้งประเทศให้เราเห็นภาพได้ชัด แต่บางส่วนจากคำบอกเล่าทุกครั้งเหมือนตำราเล่มใหญ่ ที่ถอดประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะบทเรียนที่ชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงพบเจอเมื่อครั้งสัมปทานป่าไม้ อยู่เหนือจินตนาการของคนเมืองที่ไม่ได้มีชีวิตติดอยู่กับป่าเขา แต่เชื่อว่า สังคมพอจะแยกแยะได้ ในโอกาสเยี่ยมชุมชนสบลานครั้งนี้ พาตีให้เกียรติพาเดินสำรวจพื้นที่ป่า และสำรวจไร่ข้าวของปกาเกอะญอ เราลงไปดูพาตีและครอบครัวเก็บเกี่ยวข้าวในไร่จนมืดค่ำ

ระหว่างทางสู่ไร่ข้าวสีทอง พาตีอธิบายถึงไร่หมุนเวียนสั้นๆว่า “หลักการทำไร่หมุนเวียนของปกาเกอะญอ คือ เลือกพื้นที่ไร่จุดใดแล้วให้ใช้ป่าจุดเดิมนั้นเพื่อทำไร่ครั้งต่อไปแล้วต้องฟื้นป่าขึ้นมาใหม่เมื่อครบกำหนด โดยสบลานทำไร่หมุนเวียน 6 -7 ปี โดยไร่หมุนเวียนแยกออกจากป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์และป่าพิธีกรรม ใครละเมิดกฎนี้ต้องมีอันเป็นไป หรือป่วยหนัก ”

ด้วยเหตุนี้พาตีจึงเริ่มต้นรวมกลุ่มเปิดโรงเรียนวิถีชีวิตมานานหลายปี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้แก่ปกาเกอะญอรุ่นหลัง และสอนให้จำแนกประเภทป่า รวมทั้งทำพิธีกรรมบวชป่าเพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาบุกรุกทำลาย ตามความเชื่อของปกาเกอะญอ

“ในป่าลึกมีต้นไม้ใหญ่หลายต้น พาตีต้องพาเด็กๆ มาไหว้ ตอนที่เราไปเยี่ยมชาวบ้านที่ถูกไล่ตัดต้นยาง เราไปเยี่ยมพี่น้องที่จะถูกสร้างเขื่อนทับที่ทำกิน เราก็มาไหว้ต้นไม้ใหญ่ในป่าก่อน พาตีก็ไหว้พระ ไหว้ผีให้เขาพ้นคดีความบุกรุก ให้เขาไม่ต้องถูกโยกย้ายไปที่อื่น พาตีกลัวคนบนดอยจะเจอเรื่องราวความทุกข์เหมือนครั้งสัมปทานป่า ที่ต้องหนีเจ้าหน้าที่เหมือนมีสงคราม”

ทั้งหมด คือ เหตุผลที่ผู้เฒ่าคนหนึ่งยอมเดินตากแดดในเมืองร้อนด้วยหวังจะสนับสนุนให้รัฐบาลมีการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรม

 

เรื่อง จารยา บุญมาก
ภาพ ปิยศักด์ อู่ทรัพย์


——————————————

On Key

Related Posts

“สารหนู”น้ำกกพ่นพิษหมู่บ้านท่องเที่ยว“กะเหรี่ยงรวมมิตร”ซบหนักยอดหาย 80% ต้องปล่อยช้างหากินในป่า-เผยชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลยังคงใช้น้ำปนเปื้อนในวิถีชีวิต-ประมงจังหวัดส่งตัวอย่างปลาตรวจ คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายดา ควานช้างปางช้างบ้Read More →

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →