เมื่อวันที่ 14 มีนาคม เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากร ลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เครือข่ายลุ่มภาคเหนือ เครือข่ายแม่น้ำพม่า องค์กร กรีนวอเตอร์เฉด องค์กรแม่น้ำนานาชาติ จากประเทศจีน พร้อมชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชนเผ่าต่างๆ รวมประมาณ 300 คน ร่วมทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน เนื่องในงานวันหยุดเขื่อนโลกตามประเพณีปกากะญอ ศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ บริเวณชายหาดบ้านสบเมย ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน รวมทั้งในงานยังมีเวทีแลกเปลี่ยนงานอนุรักษ์ชุมชน สรุปสถานการณ์และวิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาลุ่มน้ำ จากลุ่มน้ำสาละวิน ไทย จีน พม่า ลุ่มน้ำโขง และลุ่มน้ำภาคเหนือ
น.ส.เพียรพร ดีเทศ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินเป็น 1 ใน 10 สายน้ำ ของโลกที่มีความยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ โดยไม่มีสิ่งใดกีดกั้น ตลอดความยาวของแม่น้ำสาละวินนั้น มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ รวมทั้งวิถีชุมชน ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 13 กลุ่มชาติพันธุ์ แม่น้ำสาละวินยังเป็นที่หมายปองของนักสร้างเขื่อน เวลานี้ มีโครงการสร้างเขื่อนอย่างน้อย 13 แห่งกำลังถูกวางแผนก่อสร้างในพื้นที่ตอนบน ของแม่น้ำสาละวิน ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า และในประเทศพม่า มีโครงการสร้างเขื่อนอีกอย่างน้อย 6 แห่ง สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนฮัตจี ที่อยู่ห่างจากพื้นที่บ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพียง 47 กิโลเมตรเท่านั้น โดยโครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ไซโนไฮโดร ของจีน เป็นโครงการที่มีความคืบหน้ามากที่สุด
ทางด้านนายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนฮัตจีที่คนไทยจะได้รับ นอกจากความต่อเนื่องเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศตั้งแต่พื้นที่ที่มีการ สร้างเขื่อนจากประเทศพม่าแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาน้ำเอ่อ ท่วมเข้ามาในพื้นที่บางส่วนของ จ.แม่ฮ่องสอน อีกด้วย ที่สำคัญคือ เขื่อนแห่งนี้สร้างอยู่บนรอยเลื่อนศรีนครินทร์พอดี โดยรอยเลื่อนนี้เป็นรอยเลื่อนที่ค่อนข้างจะมีพลัง น่าเป็นห่วงว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ทั้งคนพม่าและคนไทยจะได้รับผลกระทบด้วย และเป็นผลกระทบที่ค่อนข้างหนักด้วย
ขณะที่นายฟานเสี่ยว นักวิชาการธรณีวิทยา จากศูนย์แร่ธาตุมณฑลเสฉวน ประเทศจีน กล่าวว่า การสร้างเขื่อนสาละวินจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินในประเทศจีน จะเป็นพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวบ่อยมาก นักธรณีวิทยาในจีนหลายคนเป็นห่วงในประเด็นนี้มาก ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากเกิดในจีนแล้วประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะเขื่อนดังกล่าวอยู่ห่างจากประเทศไทยเพียง 47 กิโลเมตรเท่านั้น.
มติชน วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555