สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

สำรวจหมู่บ้านร้าง ชุมชนสึนามิแห่งเกาะพระทอง

 

2014_BanLions_2942
มุมหนึ่งอันรกร้างของหมู่บ้านไลอ้อนส์ ที่มีจำนวนบ้าน 165 หลัง ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ ปัจจุบันมีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียง 10 กว่าครอบครัวเท่านั้น

 

ณ แผ่นดินทิศเหนือ ฝั่งทะเลด้านตะวันตกของเกาะพระทองโอบล้อมไปด้วยป่าพรุและทุ่งหญ้า ที่นี่คือหมู่บ้านปากจก ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

บ้านสองชั้นที่ปลูกติดเรียงรายและแบ่งเป็นตรอกซอยจำนวน 165 หลัง ถูกสร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์สึนามิซัดถล่มเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งกลืนชาวบ้านปากจกไปถึง 75 ชีวิต หมู่บ้านใหม่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 23 ไร่

เหนือขึ้นมาจากชายฝั่งอันเป็นจุดที่ตั้งของหมู่บ้านปากจกที่ต้องสูญสลายไปกับคลื่นยักษ์ ภายหลังชาวบ้านมักเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า ‘บ้านไลอ้อนส์’ อันเป็นชื่อของสโมสรไลอ้อนส์ผู้ระดมทุนช่วยสร้างหมู่บ้านให้แก่ผู้ประสบภัยบนเกาะพระทอง

สภาพหญ้าไม้รกครึ้ม และสีหม่นจากเชื้อราที่เกาะกินพื้นปูน ขณะที่โรงเรียนเงียบสงัดปราศจากเสียงเจี้อยแจ้วของเด็กๆ ราวกับว่าหมู่บ้านไลอ้อนส์แห่งนี้ร้างไร้ผู้คนมานาน แต่อันที่จริงยังคงมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 10 หลังคาเรือน

“ปัญหาที่คนอยู่ที่นี่ไม่ได้คือเรื่องไฟฟ้าไม่มีใช้ น้ำดื่มก็ต้องซื้อ น้ำใช้ก็ขุ่นเหลือง” ‘อรวรรณ เทียนใส’ สมาชิกองค์การบริการส่วนตำบลเกาะพระทอง ผู้เป็นแม่ลูกอ่อน หนึ่งในชาวบ้านยุคบุกเบิกของหมู่บ้านไลอ้อนส์ ยอมรับว่าการปรับตัวเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนย้ายออกจากหมู่บ้านไลอ้อนส์

เธอเล่าว่า 8 ปีที่แล้วตัดสินใจย้ายจากบ้านท่าแป๊ะโย้ยที่อยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะซึ่งตัวหมู่บ้านไม่ได้รับเสียหายมากนักจากสึนามิ เมื่อมีการก่อสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่สำหรับผู้ประสบภัย ชาวบ้านบนเกาะได้เข้าไปลงชื่อจองบ้านที่สร้างขึ้น 115 หลัง จนไม่เพียงพอต้องสร้างเพิ่มอีก 50 หลัง แต่เมื่อเวลาผ่านไปชาวบ้านทยอยย้ายออกไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันเหลืออยู่แค่ไม่กี่หลังเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่รวมถึงครอบครัวใหญ่ของเธอด้วย มีทางเลือกอื่นที่คิดว่าดีกว่า บางคนกลับไปอยู่ที่บ้านท่าแป๊ะโย้ย บางคนขึ้นไปที่หมู่บ้านผู้ประสบภัยบนฝั่ง ซึ่งสะดวกต่อการดำรงชีวิตมากกว่า

2014_KohPrathong_2910
ปลาแห้งถูกนำมาตากไว้เพื่อเตรียมเก็บไว้ทำอาหารในครัวเรือน ยืนยันว่ายังมีผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านไลอ้อนส์

 

“ช่วงใกล้คลอดเคยกลับไปอยู่บ้านครอบครัวญาติบนฝั่งหลายเดือน ทำให้รู้สึกเลยว่าผูกพันกับบ้านไลอ้อนส์ อยากรีบกลับมาอยู่บ้านที่เราเคยอยู่ เพราะอยู่ที่นี่มันสบายใจ มันเป็นบ้านของเราเอง ไปอยู่บนฝั่งต้องอยู่รวมกันหลายคน เราอยู่ที่นี่มันเป็นบ้านของเราพ่อแม่ลูก อีกอย่างอยู่บนเกาะหากินง่ายกว่า เพราะรายจ่ายน้อย ผักปลาหาง่าย อยู่บนฝั่งแค่เปิดประตูบ้านก็เสียเงินแล้ว” ‘อรวรรณ เทียนใส’ กล่าว

อรวรรณบอกอีกว่า คนที่อยู่ในหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอาชีพประมงแล้ว เนื่องจากเส้นทางเข้า-ออกเรือไม่สะดวก จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวหลังสึนามิ ทั้งรับจ้างวิ่งเรือรับ-ส่งและนำเที่ยว หรือเป็นลูกจ้างรีสอร์ต ถึงแม้จะดูเหมือนหมู่บ้านร้างแต่ปัจจุบันยังมีคนเข้ามาถามอยู่บ้างว่าต้องการเข้ามาอยู่ที่บ้านไลอ้อนส์ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเองหรือบางคนอยากเข้ามาทำเป็นบ้านพักตากอากาศใกล้ทะเล แต่พอเข้ามาอยู่จริงๆ ถ้าไม่สามาถปรับตัวให้ได้ไม่นานจำต้องย้ายออกไป

“คนที่เข้ามาอยู่จริงมีมาก แต่อยู่ได้มีส่วนน้อย คนที่เข้ามาคืออยากได้บ้านเป็นของตัวเอง แต่มาอยู่จริงแล้วอยู่ไม่ได้”

สำหรับ ‘ลุงตุละ กล้าทะเล’ ชาวเลชุมชนเทพรัตน์ เป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่เลือกตัดสินใจจากเกาะพระทองขึ้นมาตั้งหลักบนฝั่งที่หมู่บ้านเทพรัตน์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนในการสร้างบ้านให้แก่ผู้ประสบภัยสึนามิ บอกว่า ชีวิตที่เทพรัตน์ไม่แตกต่างจากวิถีชีวิตเดิมที่เคยดำรงอยู่บนเกาะพระทอง เพราะที่นี่ใกล้ทะเล เรือเข้า-ออกสะดวก ซึ่งหลังจากสึนามิใหม่ๆ ตนได้สิทธิ์บ้านที่หมู่บ้านไลอ้อนส์หนึ่งหลัง แต่อยู่ไม่ได้จึงตัดสินใจย้ายออกจากที่นั่น

“เขาสร้างบ้านปากจกใหม่แต่มันอยู่ใกล้หมู่บ้านเดิมที่มีคนตายจนร้างทั้งหมู่บ้าน เขาไปสร้างผิดที่ แต่ถ้าเขาสร้างที่แป๊ะโย้ย ผมก็จะไปอยู่ เพราะหากินง่าย ไปมาสะดวก แต่ที่ไลอ้อนส์คนกลัว อยู่คนละเดือนสองเดือนก็ย้ายออก” ลุงตุละ กล่าว

สำหรับ ‘พี่สพลกิตติ์ กล้าทะเล’ ชาวเลอีกคนหนึ่งแม้จะย้ายออกไปจากเกาะพระทองเกือบสิบปีนับจากคลื่นสึนามิสงบลง แต่ยังคงไปมาหาสู่ญาติมิตรบนเกาะแห่งนี้ไม่ขาด อีกทั้งยังเป็นสมาชิก อบต.เกาะพระทอง เขาเองเป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกที่จะย้ายออกไปอยู่บนฝั่ง โดยบอกอย่างน่าสนใจถึงกระบวนการจัดการให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยว่า ตอนนั้นชาวบ้านมีตัวเลือกหลายทาง เพราะมีหลายองค์กรเข้ามาช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย และให้ชาวบ้านเลือกว่าถ้าต้องการอยู่บนเกาะต้องไปอยู่ที่หมู่บ้านไลอ้อนส์ แน่นอนคนส่วนใหญ่ต้องการอยู่บนเกาะที่เป็นเหมือนบ้านเกิด ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ได้ไม่นานต้องย้ายออกจากที่บ้านไลอ้อนส์ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะย้ายออกไปอยู่ที่หมู่บ้านใหม่บนฝั่ง ทั้งที่หมู่บ้านนพรัตน์ หมู่บ้านชัยพัฒนา และหมู่บ้านทุ่งละออ ซึ่งเอื้อต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านมากกว่า

พระทอง3
บรรยากาศหน้าหาด บ้านท่าแป๊ะโย๊ย เกาะพระทอง

 

“ตอนแรกเขาเริ่มปลูกบ้านร้อยกว่าหลังเพราะคิดว่าคนต้องกลับไปอยู่ที่เดิม แต่ที่ปากจกคนตายเยอะภาพมันติดตา คนที่โดนสึนามิเต็มๆ ยังไงก็ไม่ยอมกลับไปที่เดิม แม้เขาจะสร้างไว้สวยงามและแข็งแรงแต่ความเป็นจริงมันอยู่ไม่ได้ ตอนสร้างไม่เคยมาถามความเห็นของชาวบ้านว่าอยากให้สร้างตรงไหนหรือทำบ้านยังไง คิดแค่ว่าชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่ยังไงก็ต้องกลับมาอยู่ที่เดิม แต่พอมีโอกาสไปอยู่บนฝั่งได้ การทำประมงยังทำได้เหมือนเดิม และมีข้อดีคือลูกไปโรงเรียนสะดวก คนแก่ไปโรงพยาบาลก็สะดวกกว่า เพราะชาวบ้านได้ร่วมคิดว่าควรสร้างบ้านแบบไหนให้เหมาะกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน” ‘พี่สพลกิตติ์ กล้าทะเล’ กล่าว

นานวันเข้าแสงแดดลามเลียบ้านแต่ละหลังให้ทรุดโทรม หย่อมหญ้าขึ้นไปทุกผืนดินที่ว่างเปล่า และยิ่งไม่มีเจ้าของบ้านอยู่คอยดูแล หมู่บ้านย่อมทวีความรกร้าง แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่เลือกลงหลักปักฐาน ณ บ้านไลอ้อนส์ ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยความหวังและพยายามเต็มเติมอยู่เสมอ เพราะเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2557 พวกเขาเพิ่งลงแรงตัดหญ้าที่ขึ้นสูงและเก็บกวาดบริเวณรอบบ้าน ซึ่งทำเท่าที่จะทำกันได้ เป็นไปตามกำลังของชาวชุมชนที่จำกัด

บ่ายคล้อยแล้ว ที่ร้านค้าเล็กๆ แห่งเดียวของชุมชน ชาวบ้านกำลังนั่งคุยกันถึงกิจกรรมรำลึก 10 ปี สึนามิ ที่จะจัดขึ้นในปีนี้ พวกเขาเตรียมที่จะไปร่วมกับชาวบ้านหมู่อื่นๆ บนเกาะพระทอง เพื่อทำบุญอุทิศกุศลให้แก่ญาติมิตรผู้จากไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น

10 ปี แห่งสึนามิของคนบ้านไลอ้อนส์ จึงเป็นทั้งเวลาที่ช่วยเยียวยาความสูญเสีย ขณะเดียวกันยังเป็นเวลาแห่งการเริ่มต้นของพวกเขาอีกด้วย

 

เรื่อง : ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี    ภาพ : ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์

On Key

Related Posts

กลุ่มติดตามสันติภาพพม่าเผยข้อมูลล่าสุดฝ่ายต่อต้าน SAC ยึดครองพื้นที่ได้ 55 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ญี่ปุ่นเชิญ 4 กองกำลังร่วมแสดงจุดยืน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 กลุ่มติดตามสันติภาพพม่า BNIRead More →