เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายไมตรี จงไกรจักร์ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนจ.ภูเก็ตและมีการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทางเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดแถบอันดามันได้นัดรวมตัวกันเพื่อต้อนรับนายกฯพร้อมทั้งจัดทำเอกสารสรุปประเด็นปัญหาต่างๆของชาวบ้านที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาของชาวเลที่กำลังเผชิญสถานการณ์หนักหน่วงเพราะถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัย แม้กระทั่งสุสานของบรรพบุรุษก็ถูกนายทุนฟ้องขับไล่ ทั้งนี้ชาวเลจากจังหวัดในทะเลอันดามัน โดยเฉพาะในจ.ภูเก็ตจำนวน 1,000 คนจะร่วมกันทำกิจกรรมแสดงออกทางวัฒนธรรม เพื่ออธิบายให้สังคมได้เข้าใจและรับรู้ความมีตัวตนของพวกเขา
นายไมตรีกล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีชาวบ้านที่ประสบปัญหาและได้รับความเดือดร้อนในกรณีอื่นๆอีกราว 1,000 คนจะเดินทางมารวมตัวกันที่วิทยาลัยเทคนิคถลาง เพื่อยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์เช่นเดียวกันพร้อมทั้งออกแถลงการณ์ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ 1.ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาชาวเลที่ราไวย์อย่างเร่งด่วน ทั้งปัญหาที่ดินที่เอกชนออกเอกสารทับที่อยู่อาศัยชาวเลกว่า 2,000 คน ซึ่งกำลังถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง ทั้งยังถูกฟ้องขับไล่ ไม่มีที่ทำกินในทะเลเพราะการประกาศเขตอนุรักษ์และอุทยานทางทะเล ทำให้ชาวเลถูกจับและตั้งข้อหาบุกรุกทำกินในเขตอนุรักษ์ กว่า 20 คน ทั้งที่รัฐบาลมีมติ ครม.เมื่อ 2 มิถุนายน 2553 รับรองเรื่องเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเล จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งแต่งตั้งกรรมการเขตวัฒนธรรมพิเศษชาวเลตามมติ ครม. เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลทั้งชนเผ่าใน 41 ชุมชนอย่างเร่งด่วนก่อนที่คนกลุ่มนี้จะไม่มีผืนดินอยู่
นายไมตรีกล่าวว่า 2.ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการโฉนดชุมชน ตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส) ทั้ง 55 พื้นที่ ตามที่ได้มีการรับรองพื้นที่ให้เข้าถึงการบริการของรัฐ เช่นไฟฟ้า ประปา โดยใช้พื้นที่ ชุมชนปลากระตัก ในภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่อง และขอให้เร่งดำเนินการในพื้นที่อื่นๆทั้ง 435 พื้นที่ทั่วประเทศที่ยื่นขอออกโฉนดชุมชน 3.ให้รัฐบาลเร่งตั้งกรรมการและอนุกรรมการทั้ง 12 ชุด ตาม มติ ที่ประชุมขปส.ซึ่งเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์)เป็นประธานกรรมการและ มอบหมายให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี( นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล) เป็นประธานที่ประชุม ครั้งที่1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา
“ชาวบ้านทั้ง 2,000 คนที่มารวมตัวกันนี้มีความเดือดร้อนจริงๆ และไม่ได้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล พวกเราจะมุ่งเน้นกิจกรรมด้านวิถีวัฒนธรรม ซึ่งจะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เราอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญตรงนี้ด้วย” นายไมตรี กล่าว
นางปรีดา คงแป้นผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ชาวเลเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมในท้องทะเลอันดามันและรักสันโดษมีชีวิตเรียบง่าย ซึ่งปัจจุบันมีชาวเลกระจายตัวในชายฝั่งจ.ภูเก็ต ระนอง กระบี่และสตูล 41ชุมชน จำนวน 17,485 คน โดยคนเหล่านี้ต้องเผชิญปัญหาวิกฤตอันเป็นผลพวงจากการพัฒนา ทั้งนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว และการประกาศเขตอนุรักษ์ทางทะเล ซึ่งปัจจุบันมีชาวเลถึง 25 ชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินและบางแห่งถูกฟ้องขับไล่ทั้งๆที่พวกเขาอยู่กันมาก่อน โดยในจำนวนนี้มี 15 แห่งที่มีสุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ถูกบุกรุกโดยที่ชาวเลไม่มีหนทางปกป้อง
“ในหลายพื้นที่ผู้หญิงชาวเลไม่สามารถหาหอยตามโขดหินได้เพราะอยู่ไกล้โรงแรมและรีสอร์ท ขณะที่ผู้ชายก็ไม่สามารถดำน้ำหาปลาได้เหมือนเมื่อก่อนเพราะเจ้าของรีสอร์ทจัดเตรียมไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวดู ทั้งๆที่พื้นที่เหล่านั้นพวกเขาหากินกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ นอกจากนี้ชาวเลยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยกว่า 500 คนยังไม่มีบัตรประชาชน” นางปรีดากล่าว
ด้านนายธีระ สลักเพชรอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) อยากให้รัฐบาลขับเคลื่อนตามมติครม.เกี่ยงกับชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยมีมติครม.รองรับและมีผู้แทนส่วนราชการ นักวิชาการและเอกชน เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหากรัฐบาลสนับสนุนให้เดินหน้าต่อไป จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการจัดการปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสมัยตนได้สนับสนุนงบประมาให้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชาวเลขึ้นที่จ.ภูเก็ต นอกจากนี้ในปี 2555 ทราบมาว่าวธ.ยังได้ตั้งงบประมาณไว้สำหรับงานงานด้านนี้อีก 10 ล้าน
“หากท่านนายกฯมอบเรื่องนี้เป็นนโยบายและให้รัฐมนตรีวธ.เข้าไปดูแลอย่างจริงจัง โดยใช้กลไกลคณะกรรมการที่มีอยู่แล้ว จะสามารถแก้ปัญหาให้ชาวเลได้อีกหลายเรื่อง ทั้งด้านที่ทำกินและวิถีวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดี และกลายเป็นแบบอย่างด้านการท่องเที่ยว ซึ่งแม้แต่อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเอง เมื่อเดินทางมายังอันดามัน เขายังขอพบชาวเลเลย” นายธีระกล่าว