เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ “เปิดหลักฐานใหม่ ผลตรวจสิ่งแวดล้อม … เหมืองทองคำพิจิตร” โดยดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์คณะวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงว่า ผลการวิเคราะห์โลหะหนักในดิน ซึ่งทางทีมงานที่เก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างดิน ดำเนินการในช่วงวันที่ 27-28 กันยายน 2557 จำนวน 56 ตัวอย่าง เพื่อศึกษาวิเคราะห์โลหะหนักได้แก่ สารหนู แคดเมียม แมงกานีส ตะกั่ว ในพื้นที่ตำบลวังโพรง ตำบลเขาเจ็ดลูก ตำบลวังหินและตำบลท้ายดง โดยค่ามาตรฐานความปลอดภัยในดินที่ใช้สำหรับการอยู่อาศัยและการทำเกษตรกรรม ปี 2547 ที่กำหนดโดยสำนักงานวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ผลการศึกษาเบื้องต้นที่เสร็จสิ้น คือ ผลของการศึกษาปริมาณสารหนู ใช้มาตรฐานไม่เกิน 3.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือ 1 ในล้านส่วน จากตัวอย่าง 56 ตัวอย่างพบว่า 47 ตัวอย่าง มีค่าสารหนูสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยพบค่าความเข้มข้นสูงสุด 387.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต่ำสุด 35.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยส่วนมากการพบปริมาณสารหนูนั้นจะพบในตัวอย่างกองดินและกองหินทิ้ง แบ่งเป็นผลจากการตรวจกองดินทิ้งพบอยู่ที่ 99.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กองหินทิ้ง 95.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และดินขอบบ่อกักเก็บกากแร่ 2 พบที่กองหินทิ้ง 45.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กองดินทิ้ง 35.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
“จากผลการตรวจหลายๆ อย่างที่พบ โดยส่วนตัวมองว่า ผลวิจัยที่ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ คิดว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ควรจะเลื่อนเวทีสาธารณะออกไปก่อน แล้วให้นักวิชาการหลายๆส่วนที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องข้อมูลเพิ่มเติม ยังไม่ควรจะจัดเวทีเพื่อขอความคิดเห็นจากหน่วยงานอื่น เพราะผลวิจัยแต่ละครั้งมีข้อมูลใหม่เสมอและน่าศึกษาต่อเนื่องให้เกิดความละเอียด” ดร.อาภา กล่าว
ด้านภญ.ดร.ลักษณา เจริญใจ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าผลการวิเคราะห์ไซยาไนด์และโลหะหนักในพืช โดยใช้ตัวอย่างที่บริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ในพืชที่หลากหลาย พบว่า ปริมาณไซยาไนด์ในพืชประเภทไม้เถา เช่น ผักบุ้ง กะทกรก และในหญ้าปากควายบริเวณใกล้บ่อทิ้งกากแร่ มีปริมาณไซยาไนด์อยู่ที่ 18-24 ppm ส่วนปริมาณตะกั่วพบในพืชทุกตัว เช่น สะเดา ขนุน กระถิน ปริมาณตะกั่วยังอยู่ที่ 10 ppm แม้จะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานแต่ต้องระวังไว้เพราะสารตะกั่วเป็นโลหะหนักที่ไม่ควรจะมีในพืชโดยเฉพาะต้นข้าว เพราะโลหะตะกั่วไม่ได้มีตามธรรมชาติในพืชบางชนิดเหมือนไซยาไนด์ ที่ตามธรรมชาติอาจพบได้ในมันสำปะหลัง จึงต้องศึกษาข้อมูลลึกไปในส่วนของการทำเกษตรของประชากรเพิ่มเติมว่ามีการใช้สารเคมีอื่นร่วมด้วยหรือไม้
ภญ.ดร.ลักษณา กล่าวว่านอกจากนี้ทางทีมได้ศึกษาปริมาณแคดเมียมด้วย โดยผลการศึกษาพบในต้นข้าวมีแคดเมียมสูงกว่าเกณฑ์ 0.3 ppm ขณะที่สารแมงกานีสพบสูงเกินมาตรฐานในพืชหลายชนิด เช่น ต้นข้าว ผักบุ้ง ตะไคร้ กระชาย ซึ่งสอดคล้องกับการพบสารแมงกานีสในตะกอนดินและน้ำบางจุดเป็นไปได้ว่า การที่พืชบางชนิดโตในน้ำ และโตในดิน อาจมีส่วนซึมซับสารจากพื้นที่ด้วยเพราะการพบโลหะหนักพร้อมกันทั้งดิน น้ำ พืชและเลือดของประชาชนมีนัยสำคัญที่ต้องเร่งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
ดร.อรนันท์ พรหมมาโน อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าผลการศึกษาสารโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะ โดยตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2557 (ระหว่างเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม) โดยศึกษาโลหะหนักประเภท สารหนู แมงกานีส ไซยาไนด์ ปรอท และตะกั่ว และคัดกรองความเสียหายของ DNA โดยการตรวจ ไมโครนิวเคลียส (Micronucleus test) จำนวนผู้เข้าร่วมการตรวจทั้งหมด 731 ราย พบความผิดปกติโดยรวม 483 ราย แบ่งเป็นการปนเปื้อนดังนี้ สารหนูในปัสสาวะเกินค่ามาตรฐาน 73 ราย แมงกานีสในเลือดเกินค่ามาตรฐาน 168ราย ความเสียหายของ DNA 91 ราย ส่วนผลการตรวจเลือดและปัสสาวะของชาวบ้านรอบเหมือง สารหนูในปัสสาวะร่วมกับแมงกานีสในเลือด 36 ราย สารหนูในปัสสาวะร่วมกับความเสียหายของ DNA 35 ราย แมงกานีสในเลือดร่วมกับความเสียหายของ DNA 67 ราย สารหนูในปัสสาวะร่วมกับแมงกานีสในเลือดและ ความเสียหายของ DNA 13 ราย
ดร.อรนันท์ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสารหนู (Total Arsenic) ในปัสสาวะ โดยสุ่มตัวอย่างในพื้นที่จำนวน 714 ราย โดยใช้ค่ามาตรฐานในปัสสาวะ 0-50 ไมโครกรัมต่อกรัม ครีเอตินิน พบว่ามีค่าต่ำสุด ที่ 2.5 ไมโครกรัมต่อกรัม ฯ สูงสุดตรวจได้ 476.8 ไมโครกรัมต่อกรัม ฯ จำนวนชาวบ้านที่มีผลการตรวจเกินค่ามาตรฐาน 152 ราย คิดเป็น 21.3% ซึ่งเมื่อเทียบการพบทั้งในพืช ดิน น้ำ แล้วก็พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างสอดคล้องกับการพบโลหะหนักปนเปื้อนในเลือดและปัสสาวะของคน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนควรที่จะต้องเร่งรัดทำการรักษาและคัดกรองประชาชนก่อนเพื่อให้ปลอดภัยและเป็นการป้องกันสุขภาพโดยตรง จากนั้นขั้นตอนต่อไปคือ รอผลวิจัยอย่างละเอียดถึงการปนเปื้อนสารโลหะหนักในทรัพยากรต่างๆรอบเหมือง เพราะขณะนี้กลุ่มที่น่าห่วงคือกลุ่มที่มี DNA ผิดปกติ
ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าทั่วโลกใช้ทองคำเพื่อการสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับประทานบัตรในประเทศไทยมี 2ราย คือ บริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด 14 แปลง พื้นที่ 3,900ไร่ และบริษัททุ่งคำ จำกัด 6แปลง พื้นที่ 1,200ไร่ และค่อนข้างมีความขัดแย้งกับชาวบ้านหลายครั้ง ดังนั้นสถานการณ์การจัดการเหมืองทองจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มขึ้น เพราะในต่างประเทศมีกระบวนการจัดการเหมืองที่ดีกว่าเมืองไทย ขณะที่การเก็บค่าภาคหลวงและการบังคับใช้กฎหมายก็ดีกว่าไทย
อ่านรายงานอย่างละเอียดผลวิจัยพืชได้ที่ (https://transbordernews.in.th/home/?p=7000)
/////////////////