Search

เสียงจากกลุ่มชาติพันธุ์ และสันติภาพในพม่าที่ยังห่างไกล

20150131083254_IMG_6545

หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 พม่าเริ่มมีหน้าตาและฐานะดีขึ้นในสายตาโลก ยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความพยายามสร้างกระบวนการสันติภาพโดยเจรจากับกองกำลังกลุ่มต่างๆ โดยการสนับสนุนอย่างอู้ฟู่ของกลุ่มประเทศตะวันตก แม้แต่ประเทศไทยเอง ฝ่ายความมั่นคงยังมีนโยบายปิดศูนย์อพยพต่างๆ ตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตก เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ที่หนีภัยความได้กลับประเทศ นัยว่าเป็นการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในพม่า ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความอึดอัดใจและไม่มีทางเลือกมากนัก

ในการเฉลิมฉลองวันครบรอบการได้รับเอกราชปีที่ 67 ของพม่าที่กรุงเนย์ปีดอว์ เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่รัฐบาลพม่าเชิญกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าร่วม ขณะที่ประธานนาธิบดีเต็งเส่งได้ประกาศเดินหน้าแผนสันติภาพ โดยให้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งตรงกันวันสหภาพ (Union Day)ที่ได้มีการลงนามข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2490

แม้ตอนแรกจะมีเสียงขานรับจากผู้นำกลุ่มกองกำลังต่างๆอยู่พอสมควร แต่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ดูเหมือนเสียงเหล่านี้จะค่อยๆเบาบางลง สาเหตุหนึ่งเนื่องจากการที่ทหารพม่ายังเดินหน้าบุกยึดพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งคะฉิ่น ดาระอั้ง รวมถึงกะเหรี่ยงและไทยใหญ่

 

ในช่วงปลายเดือนมกราคมเป็นต้นมามีการจัดงานวันชาติของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆเป็นระยะๆ ทำให้สื่อมวลชนที่เข้าไปร่วมงานต่างต้องตั้งคำถามถึงแผนการลงนามสันติภาพของประธานาธิบดีเตงเส่ง

เริ่มจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ซึ่งจัดงานวันปฏิวัติกะเหรี่ยงเมื่อวันที่ 31 มกราคม ขึ้นในฐานที่มั่นเดบือโหน่ เขตจังหวัดมือตรอว์ ตรงข้ามกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีพล.อ.บอจ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้รับความศรัทธาและความนิยมจากชาวกะเหรี่ยงในฐานะผู้นำที่มีจุดยืนที่ชัดเจน โดยเฉพาะการยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้มีการหยุดยิง และถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนที่จะมีการประกาศเดินหน้าแผนสันติภาพ

“เป้าหมายสูงสุดของ KNU ยังมีความหวังที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่สถานการณ์อาจไม่เอื้อม หนทางไปสู่การมีรัฐอิสระอาจดูเป็นเรื่องยากในเวลาอันใกล้ เนื่องจากพม่าผู้ถืออำนาจปกครองย่อมไม่ต้องการสูญเสียอำนาจ ดินแดน และทรัพยากร” พล.อ.บอจ่อ แฮ ให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมา และเห็นภาพความเป็นจริงที่ไม่น่าไว้วางใจรัฐบาลพม่า

เขามองว่า ด้วยเหตุผลสำคัญที่ดินแดนนี้ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ พม่าจำเป็นต้องยอมรับความจริงเรื่องนี้ การจะก้าวไปสู่สันติภาพอย่างแท้จริง พม่าต้องให้ความสำคัญต่อการเร่งพัฒนาทางการเมืองควบคู่ไปกับการเจรจาสันติภาพกับชาติพันธุ์ต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะการแก้กฎหมายการเลือกตั้ง ลดเงื่อนไขผู้ที่จะเข้าไปนั่งในสภาผู้แทน ปรับลดสัดส่วนตัวแทนจากกองทัพ รวมถึงตัวแทนกองทัพที่ไม่ใช่ทหาร ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่มีสัดส่วนที่นั่งในสภาผู้แทน

“ในขณะที่สถานการณ์การสู้รบยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่พม่ากลับพยายามใช้โต๊ะเจรจาโฆษณาให้นานาชาติเห็นว่ากำลังจะเกิดสันติภาพ ขึ้นในพม่าเพื่อดึงดูดการลงทุน” พล.อ.บอจ่อ แฮ กล่าว “เราต้องการเห็นชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถปกครองตนเองภายใต้กฎหมายที่เหมาะสม ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เช่นรูปแบบสหพันธรัฐ ซึ่งต้องเริ่มจากการสร้างสันติภาพร่วมกัน ยอมรับข้อเสนอซึ่งกันและกัน สันติภาพจึงจะเดินไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าพม่ายังคงใช้วิธีเอาเรื่องการลงทุนหรือการพัฒนามากดดันเรา สันติภาพคงจะเดินไม่ถึงเป้าหมาย”

สำหรับโต๊ะเจรจาสันติภาพที่กำลังจะมีการลงนามในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ พล.อ.บอ จ่อ แฮ ยืนยันว่า KNU จะเข้าร่วมเวทีดังกล่าวอย่างแน่นอน แต่จะไม่ยอมลงนามจนกว่าทางพม่าจะแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการปฏิบัติตามข้อเรียก ร้องของ KNU ที่ต้องการให้มีการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่กะเหรี่ยง ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอไปก่อนหน้านี้

นี่คือเสียงดังก้องไพรมาจากกองพล 5 ของKNU

เนชั่น6

ทางด้านกองกำลังพรรคมอญใหม่ (New Mon State Party) ได้จัดงานวันชาติมอญในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่เมืองพญาตองซู ตรงข้ามอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบรี โดยมีพล.อ.โทโมน ประธานพรรคมอญใหม่ เป็นแม่งาน ซึ่งระหว่างงานพล.อ.โทโมนได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในท่วงทำนองเดียวกับผู้นำKNU โดยระบุว่าขณะนี้แม้สถานการณ์การเมืองในพม่าที่รัฐบาลทหารพยายามจะเสแสร้งบอกนานาชาติว่าเร่งทำสัญญาหยุดยิงผ่านกระบวนการตั้งสภาสหพันธรัฐชาติสหภาพ หรือ UNFC ก็ตาม ทว่าที่ผ่านมากองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่เคยเห็นความจริงใจที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลพม่า

พล.อ.โทโมน กล่าวว่า แม้ใกล้เลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง ก็ดูเหมือนสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ยังมีทหารพม่าอีกหลายส่วนพยายามโจมตีกองกำลังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ข้อตกลงการเจรจาหยุดยิงดำเนินการต่อไปไม่ได้ และตนเชื่อว่าตราบใดที่พม่าไม่ยอมแก้รัฐธรรมนูญปี 2008 ก็ย่อมไม่ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ตราบใดที่ชาติพันธุ์ทั้ง 12 กลุ่มไม่ได้รับความจริงใจ ก็ย่อมไม่เกิดประชาธิปไตยอันยั่งยืนได้ และไม่สามารถเข้าสู่อาเซียนได้อย่างสมบูรณ์

“ตอนนี้ประชาธิปไตยยังไม่มี คนมอญกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศพม่าและในประเทศไทย ยังต้องการประชาธิปไตยอยู่ เราขอยืนยันเช่นเดิมว่าพร้อมจับอาวุธต่อสู้เช่นเดิม หากพม่ายังไม่แสดงความจริงใจออกมา โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่สร้างความเป็นธรรม”พล.อ.โทโมน กล่าว และเขายังได้ตอบคำถามกรณีที่มีโครงการทำเหมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ควบคุมดูแลว่า ชาวมอญจะยังคงประท้วงต่อไปต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนาประเทศที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยต้องเร่งพัฒนา เรื่องความมั่นคงในประเทศก่อน โดยการศึกษาและการรักษาวัฒนธรรมของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า เป็นรากฐานหนึ่งที่สำคัญ

เสียงดังจากแนวรบด้านตะวันตกของประเทศไทยเข้มข้นและขึงขังไม่แพ้ตอนเหนือ

เนชั่น3

หลังวันชาติมอญ 3 วัน ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ได้มีการจัดงานครบรอบ 68 ปีวันชาติไทไหญ่ขึ้นบนดอยไตแลง ฝั่งตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีพลโทเจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉานใต้(SSA-South) เป็นประธาน โดยบรรยากาศในปีนี้เป็นไปอย่างคึกคักกว่าปีก่อนๆ โดยใช้กำลังพลสวนสนามมากถึง 2,000 นาย และมีแขกเหรื่อมากมายโดยเฉพาะเหล่าผู้แทนกองกำลังชาติพันธุ์ต่างมาร่วมกันอย่างคับคั่ง อาทิ สหภาพชนชาติกะเหรี่ยง KNU พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี KNPP กองทัพว้า UWSA  สหภาพัฒนาลาหู่ LDU กองทัพเมืองลา MDAA กองทัพรัฐฉานเหนือ SSA-North

พลโทเจ้ายอดศึก ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวถึงการลงนามในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ว่า หลังจากเราลงนามเจรจาหยุดยิงไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้า และที่ไม่คืบหน้าเพราะการเจรจาพูดคุยนั้นไม่ใช่การเจรจาที่แท้จริง แต่ 2 ฝ่ายยังเป็นคู่แข่งกัน ต่างฝ่ายต่างอยากใหญ่ ไม่ได้หาแนวทางสู่จุดหมายร่วมกัน กรณีที่พม่าต้องการให้ลงนามหยุดยิงในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ความจริงทั้งกลุ่มในรัฐฉานและกลุ่มต่างๆ ก็หยุดยิงมา 3 ปีแล้ว เหลือเพียงกลุ่มคะฉิ่น KIA และสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง KNU-KNLA

“เราตั้งใจคุยเรื่องการเมืองพม่า จริงๆ แล้วเรื่องไม่ยาก แต่มาทำให้ยากกันเอง วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้มี 2 ประเด็น คือ 1. เป็นวันสหภาพพม่า ทางพม่าจึงเชิญทุกกลุ่มมาร่วมงาน เพื่อให้เกิดภาพความปรองดองสามัคคี และ 2. พยายามให้มีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ แต่ผมดูแล้วลำบาก”

พลโทเจ้ายอดศึกกล่าวว่าแนวโน้มการหยุดยิงทั่วประเทศยังมีอีก 2 กลุ่มที่ไม่ลงนาม สิ่งที่สภากอบกู้รัฐฉานเห็นว่าการลงนามที่จะมีขึ้น ต้องพัฒนาไปสู่การเจรจาทางการเมืองที่รอกันมาแล้ว 3 ปี

“ถ้าผมไป ผมจะถามเขาว่า ถ้าผมลงนามแล้วจะมีการเจรจาทางการเมืองมั้ย ถ้าเกิดการเจรจาก็ลงนามได้ ผมลงนามเพียงกลุ่มเดียว ผมก็จะลง แต่ถ้าไม่เกิด ผมก็ไม่ลง” พลโทเจ้ายอดศึกประกาศจุดยืน

พลโทเจ้ายอดศึกกล่าวว่ารูปแบบการเจรจาการเมืองที่สภากอบกู้รัฐฉานต้องการ มี 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ความเป็นสหพันธรัฐ 2. ประชาธิปไตยที่แท้จริง 3. สิทธิเสรีภาพ การปกครองตนเอง และ 4. แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ซึ่งทุกกลุ่มต่างก็เห็นด้วยกับ 4 ข้อนี้ แต่รัฐบาลพม่าไม่รับโดยบอกว่าจะให้เป็นสหพันธรัฐแต่เป็นคนละรูปแบบ

 

 

“สำหรับเรา สหพันธรัฐคือขอให้มีรัฐบาลกลาง และแต่ละรัฐก็มีรัฐบาลท้องถิ่นปกครองเอง มีรัฐธรรมนูญ มีตำรวจ มีการดูแลความปลอดภัยของเราเองได้ มีประชาธิปไตย”

ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลพม่ามีแนวทางตอบรัฐหรือไม่ พลโทเจ้ายอดศึกกล่าวว่าก็มีการคุยกันหลายครั้ง อูอ่องมิน ผู้นำการเจรจากของรัฐบาลพม่าซึ่งก็มีท่าทีตอบรับที่จะไปบรรจุในข้อตกลง ทั้งนี้สภากอบกู้รัฐฉานยืนยันจุดยืนตลอดว่า แนวทางสันติภาพต้องยึดสัญญาปางโหลง เอาน้ำใจปางโหลงมาดูกัน ใช้เป็นแนวทางเจรจาทางการเมืองที่เราต้องการ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ต้องเกิดสิ่งนี้ ทุกกลุ่มน่าจะเดินทางไปร่วมงาน แต่การหยุดยิงทั่วประเทศอาจเกิดขึ้นยาก

เมื่อถามว่าการพัฒนาการทางการเมืองของพม่าน่าจะเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ พลโทเจ้ายอดศึกตอบว่าพม่าต้องจริงในในการแก้ปัญหาการเมืองใหม่ ถ้ายึดตนเองก่อนก็ยาก ในการเจรจา 2 ฝ่ายต้องยอมเข้าหากัน

“ผมคาดหวังว่า หากมีการเจรจาทางการเมืองกับพม่า ประชาชนก็จะได้กลับสู่เมือง ได้ทำมาหากิน เพรารัฐฉานของเรามีทรัพยากร มีที่นา มีอาหาร รัฐฉานมีทุกอย่าง สิ่งที่ขาดหายไป คือเสรีภาพ”

เสียงที่ดังมาจากดอยไตแลง ดูจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ทำให้พอเห็นภาพ

 

เนชั่น1

ขณะเดียวกัน ภายในงานวันชาติของรัฐฉานบนดอยไตแลง ผู้สื่อข่าวยังได้มีโอกาสสอบถามท่าทีของกองกำลังกู้ชาติคะเรนนี โดยนาย รี มอน ทู (Ri Mond Htoo) รองประธานพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (KNPP) กล่าวว่าการต่อสู้กับรัฐบาลพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชคะเรนนี ดำเนินมามายาวนาน แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลพม่าเปิดให้มีการเจรจาหยุดยิงเพื่อสร้างสันติพม่า แต่การเจรจากลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด KNPP มองว่าเป็นเกมของรัฐบาลพม่าที่พยายามสร้างภาพ ให้เห็นว่าได้มีการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้มีความคืบหน้าเลย ดังนั้นที่จะมีการประชุมเจรจาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ทาง KNPP อาจไม่เข้าร่วมด้วย

ถ้าฟังจากน้ำเสียงของเหล่าผู้นำกองกำลังกู้ชาติตลอดแนวรบลุ่มน้ำสาละวินตั้งแต่รัฐฉาน คะเรนนี กะเหรี่ยงมาจนถึงรัฐมอญ ต่างมีความรู้สึกในลักษณะใกล้เคียงกันคือ “ความไม่จริงใจ”จากรัฐบาลพม่า เพราะในขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งพยายามที่จะป่าวประกาศให้ชาวโลกเห็นถึงความเอาจริงในการเดินหน้าของขบวนการสันติภาพ แต่ในส่วนของกองทัพพม่ากลับเล่นอีกบทบาทหนึ่งนั่นคือการบุกยึดพื้นที่ของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ

ไม่ว่าผลสรุปของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะออกมาอย่างไร แต่เกมการเมืองที่รัฐบาลพม่ากำลังเล่นอยู่กับกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์และสังคมโลกนั้น ได้สัมฤทธิ์ผลเป็นที่น่าพอใจแน่ เพราะกระบวนการสันติภาพที่มีผลประโยชน์เป็นอาวุธได้ก่อให้เกิดความแตกแยกให้กับเหล่าผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆขึ้นอย่างถ้วนหน้า

ประวัติศาสตร์ของพม่าได้บ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญด้านการเมือง ไม่แพ้การรบ หากไม่แน่จริง ชนชาติพันธุ์พม่าที่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ คงไม่สามารถมีอำนาจปกครองเหนือแผ่นดินหลากหลายชาติพันธุ์นี้มาได้ยาวนาน

—————

 เรื่องโดย โลมาอิรวดี
ตีพิมพ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ 13 มกราคม 2558

—————

 

 

On Key

Related Posts

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →