Search

คนบนดอย ใจเป็นไทย ร้องรัฐช่วย ให้สัญชาติ

คนเฒ่าไร้สัญชาติบนดอยสูงร้องรัฐแก้ปัญหาด่วน ไร้บัตรประชาชนทำให้ขาดสวัสดิการ-เดินทางไม่ได้ ยื่น 5 ข้อเสนอ วอนขอเป็นของขวัญวันผู้สูงอายุ 13 เม.ย. ระบุทำเรื่องแล้วหลายรอบ แต่เงียบหาย 

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่สำนักงานบ้านใกล้ฟ้า บ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้จัดงานวันคนเฒ่าไร้สัญชาติ โดยชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาทิ ลีซู อาข่า ลาหู่ ม้ง เมี่ยน จีนยูนนาน ไทยลื้อ ลาวอพยพ ไทยใหญ่ จำนวนหลายร้อยคนมาร่วมงาน ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคลในประเทศไทย วุฒิสภา เข้าร่วมสังเกตการณ์

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิ พชภ. กล่าวว่า อยากให้สังคมได้รับรู้ปัญหาของผู้เฒ่าไร้สัญชาติซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้มีอยู่จำนวนไม่น้อย เฉพาะแค่บนดอยแม่สลองก็หลายร้อยคน โดยผู้เฒ่าเหล่านี้ต้องอยู่อย่างมีปัญหา เพราะไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังเลี้ยงดูลูกหลานเติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลสนใจและเร่งแก้ปัญหาให้เป็นของขวัญในวันผู้สูงอายุ 13 เมษายน

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ถ้าแก้ปัญหาต้องแก้ให้ครบ โดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้คนเฒ่าเหล่านี้สามารถรักษาพยาบาลได้ แต่เดินทางไปไหนลำบาก การแก้ปัญหาอาจแบ่งได้ดังนี้ 1.กติกาใหญ่ระดับนโยบายที่เป็นกติกากลาง 2.ขั้นตอนปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือว่าผู้เฒ่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ แต่ภาครัฐบอกว่าไม่ใช่ วิธีการแก้ปัญหาคือต้องตั้งคณะกรรมการร่วมกัน 3.เรื่องประโยชน์ด้านสวัสดิการนั้น ภาคปฏิบัติช่วยได้มาก หากภาคราชการและระดับนโยบายช่วยเหลือก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้นเช่นเดียวกับเรื่องการรักษาพยาบาล ทำอย่างไรให้กลไกภาครัฐเข้ามาดูแลชาวบ้านได้

ผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มาร่วมงานประกอบด้วย 4 กลุ่มปัญหา ประกอบด้วย 1.ผู้เฒ่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว แต่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรไทย 2.ผู้เฒ่าที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลประเภท 6 3.ผู้เฒ่าที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลประเภท 0 และ 4.ผู้เฒ่าที่ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวทีได้เปิดโอกาสให้ผู้เฒ่าไร้สัญชาติได้ลุกขึ้นแสดงความในใจ โดยผู้เฒ่าหลายคน เช่น นายหลี่เชียวสือ ผู้เฒ่าชาวลีซู ได้แสดงความน้อยใจที่อยู่เมืองไทยมา 50 ปี แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ขณะที่ผู้เฒ่าชาวอาข่าจากบ้านป่าคาสุขใจระบุว่า ตอนนี้มีผู้เฒ่านับร้อยคนมีปัญหานี้ ขณะที่ลูกหลานต่างได้รับสัญชาติไปหมดแล้ว

“ทำเรื่องขอสัญชาติมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อน แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้รับสัญชาติ ทุกครั้งที่ไปยื่นที่อำเภอเขาก็รับเรื่องไว้แล้วก็เงียบหมายไป ครั้งนี้หากได้ก็แล้วไป แต่ถ้าเงียบหายไปอีก ผมจะฟ้องขอความเป็นธรรมจากศาลแน่นอน” นายเล่าเซ้ง แซ่เล้า ผู้เฒ่าม้ง กล่าว
ทั้งนี้ เครือข่ายคนทำงานด้านสัญชาติได้ยื่นหนังสือข้อเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติในประเทศไทยจำนวน 5 ข้อ โดยมีเนื้อหาดังนี้ 1.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าที่อาศัยอยู่นานและตกหล่นทางทะเบียนนั้น ขอให้สำนักงานทะเบียนมีหน้าที่ในการเพิ่มชื่อบุคคลที่มีข้อเท็จจริงว่ามีสัญชาติไทย แต่ตกหล่น เข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎรของคนสัญชาติไทย ส่วนกลุ่มผู้เฒ่าที่มีข้อเท็จจริงว่าไม่มีสัญชาติ ควรเร่งรัดให้สำนักงานทะเบียนดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้พัฒนาสถานะบุคคลของตน

2.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าที่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรและมีสิทธิในการได้รับการพัฒนาสถานะบุคคล (หัวเลข 6 และหัว 0) นั้น หากมีข้อเท็จจริงว่ามีสัญชาติไทย ขอให้เร่งรัดสำนักงานทะเบียนดำเนินการพิสูจน์สถานะตามกฎหมายโดยด่วน แต่หากข้อเท็จจริงว่าผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่มีสัญชาติไทย แต่อาจได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลได้ ก็ขอให้เร่งรัดดำเนินการ
3.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าที่ได้รับสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและรอแปลงสัญชาตินั้น ขอให้เร่งรัดดำเนินการเป็นกรณีพิเศษ เช่น การลดขั้นตอนการพิจารณา ให้ให้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องรายได้โดยคำนึกถึงสภาพแห่งรายได้ตามความเป็นจริง

4.ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาบุตรหลานของผู้เฒ่าไร้รัฐ-ไร้สัญชาติที่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ 2508 ควรเร่งรัดให้ออกกฎกระทรวงเพื่อไม่ให้บุตรหลานคนเหล่านั้นตกอยู่ในข้อสันนิษฐานที่ว่าเป็นคนต่างด้าวเข้าเมือง และเร่งรัดลดขั้นตอนในกระบวนการพิจารณาคำร้องขอสัญชาติตามมาตรา 7 ทวิวรรค 2 และ 5.ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการแยกหมู่บ้าน โดยการพิจารณาถึงภูมิศาสตร์ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ในการบริหารหมู่บ้านตนเอง และเกิดการกระจายอำนาจอันทำให้ดูแลชุมชนได้ทั่วถึง.
(ไทยโพสต์ 11 เมษายน 2555)
On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →