เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู กลุ่มเที่ยวไทยไปชมภู อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง องค์การบริหารส่วนตำบลชมพู และชาวบ้าน ร่วมกันจัดกิจกรรมปล่อยจระเข้ธรรมชาติคืนสู่คลองชมภู ณ บริเวณแอ่งวังกาดำ พื้นที่ชุมชนชมภู ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง โดยมีนายอำเภอเนินมะปรางในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ในช่วงเช้ามีตัวแทนของชาวบ้านชมภูและตัวแทนของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ไปรับจระเข้ที่ถูกนำไปฝากไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนำกลับมาปล่อยในคลองชมภูในบ่ายวันเดียวกัน โดยพิธีการปล่อยจระเข้เริ่มต้นจากการให้ผู้เฒ่าผู้แก่ทำพิธีตั้งศาลเจ้าพ่อวังกาดำ จุดธูปบอกกล่าวถึงการนำจระเข้อันเป็นบริวารของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักษ์รักษาผืนป่าและสายน้ำมาคืนสู่คลองชมภู หลังจากนั้นจึงดำเนินการปล่อยจระเข้คืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีผู้สื่อข่าวท้องถิ่นหลายสำนักติดตามรายงานข่าว รวมไปถึงชาวบ้านชมภูที่มาร่วมงานกว่า 100 คน
นอกจากนี้ภายหลังจากปล่อยจระเข้ ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านคำประกาศลุ่มน้ำคลองชมภู อันมีใจความสำคัญเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนหันกลับมาให้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นรากฐานของการดำรงชีวิต โดยเฉพาะประชาชนในเขตชนบท ที่มีวิถีผูกยึดโยงกับระบบธรรมชาติและทรัพยากรที่มิอาจแยกขาดจากกัน การที่ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง ย่อมหมายถึงวิถีชีวิตผู้คนที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นผลพวงจากการมุ่งพัฒนาโครงสร้างต่างๆ เช่น เหมือง เขื่อน เพื่อมุ่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มทุนและการเมือง แต่กลับเป็นหายนะทั้งต่อชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพร่างกาย ป่าต้นน้ำถูกทำลาย ชุมชนและวัฒนะธรรมจะล่มสลาย จึงขอเรียกร้องให้มีความเข้าใจต่อกิจกรรมของเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ว่าเป็นไปเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม สิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น บนหลักการการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่จะแสดงออกทางความคิดเห็นต่อการแก้ไขปัญหาตามระบอบวิถีทางประชาธิปไตย
นายสุริยา หาญไพบูรณ์ นายอำเภอเนินมะปราง กล่าวว่า จระเข้ที่ได้นำมาปล่อยในวันนี้มีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจนแน่ชัดแล้วว่าเป็นจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ ซึ่งอาศัยอยู่ตามธรรมชาติในคลองชมภู จึงถือเป็นสัตว์ป่าที่ทุกคนควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ การปล่อยจระเข้คืนถิ่นในครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสที่ดีอันเกิดจากความร่วมมือกันของชาวบ้านชุมชนชมภูในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ลำน้ำ และสัตว์ป่า การที่ชุมชนลุกขึ้นมาปกป้องช่วยสอดส่องดูแลจึงเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของราชการ ทั้งยังถือเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะการอนุรักษ์ และการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งชาวบ้านได้รวมตัวกันเป็นเครื่อข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภูและกลุ่มเที่ยวไทยไปชมภู ที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
ด้านนายแวะ สนใจ ผู้อาวุโสของชุมชนชมภู กล่าวว่า จระเข้ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในวันนี้ถือเป็นสัตว์ป่าที่มีคุณค่าต่อชุมชนอย่างมาก เนื่องจากเป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ซึ่งไม่ได้มีเพียงจระเข้ตัวเดียวเท่านั้น เพราะชาวบ้านที่หาปลาก็มักจะพบจระเข้อยู่บ่อยครั้งและแต่ละตัวมีขนาดต่างกัน แสดงว่าคลองชุมภูนั้นเป็นแหล่งอาศัยหากินของจระเข้ป่าตามธรรมชาติ ซึ่งในประเทศเหลือเพียงไม่กี่แห่ง นอกจากนี้ยังมีช้าง กระทิง เก้ง สัตว์ป่าน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผืนป่าแถบนี้ยังเป็นแหล่งพึ่งพิงที่สำคัญของชุมชนที่ชาวบ้านได้เข้าไปหาเห็ด หน่อไม้ ผักหวาน ซึ่งพืชผักเหล่านี้จะมีหมุนเวียนตลอดทั้งปี เป็นทั้งแหล่งอาหารและเป็นรายได้ที่สำคัญ ชาวบ้านทุกคนจึงมีหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขณะนี้กำลังจะมีโครงการพัฒนาทั้งเขื่อนและหมืองทองเข้ามาที่คลองชมภู ตนจึงอยากเรียกร้องต่อรัฐว่าการทำโครงการเหล่านี้ควรคำนึงถึงผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดขึ้นด้วยว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ด้านนายธีรเชษฐ์ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู กล่าวว่า หลังจากปล่อยจระเข้คืนสู่คลองชมภูในวันนี้แล้ว คงจะต้องเข้าไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนอุทยานและส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ถึงแผนการติดตามพฤติกรรมการปรับตัวของจระเข้ ว่าจะสามารถกลับมาหากินและดำรงชีวิตตามธรรมชาติได้หรือไม่ โดยในส่วนชุมชนมีความยินดีและมีความพร้อมที่จะเข้าไปช่วยติดตามและเฝ้าระวังจระเข้ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์จระเข้ตามวังน้ำลึกที่ชาวบ้านเคยพบจระเข้และมีการวางไข่ เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงกำลังจะมีการกำหนดเขตหวงห้ามเพื่อป้องกันการรบกวนและการเข้าไปล่าจระเข้ ซึ่งชาวบ้านควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดเขต เนื่องจากหากไม่มีการพูดคุยร่วมกันก่อน อาจจะกระทบต่อชาวบ้านที่จะเข้าไปหาผัก หาหน่อไม้ หรือจับปลา ซึ่งการกำหนดเขตหวงห้ามอาจจะร่วมกันเสนอเพื่อกำหนดเฉพาะวังน้ำลึกที่ชาวบ้านเคยพบจระเข้บ่อยครั้งให้เป็นเขตอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปจับปลาหรือหาของป่าเพราะจะเป็นการรบกวนสัตว์ป่า โดยหากดำเนินการได้เช่นนี้ยิ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขาได้มีส่วนร่วมในการดูและทรัพยากรอย่างแท้จริง ชาวบ้านย่อมจะคอยเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลป้องกันไม่ได้เกิดการล่าสัตว์ป่าหรือการตัดไม้
———
ขอบคุณภาพจากกลุ่มเที่ยวไทยไปชมภู
———