เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 ที่โรงเรียนอาดัง เกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ได้มีเวทีประชุมเจรจาการแก้ไขปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะ โดยมี พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการเจรจา ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอไอ) ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนชาวบ้าน และนักธุรกิจชาวต่างชาติ
ทั้งนี้บรรยากาศก่อนการประชุมตัวแทนชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะได้แสดงรำร็องเง็ง (การแสดงของชาวอูรักลาโว้ย)แบบร่วมสมัยทั้งเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ เพื่อต้อนรับคณะกรรมการฯ ก่อนการเปิดเจรจา ต่อมาเวลาประมาณ 09.00 น คณะกรรมการฯ และผู้เกี่ยวข้องได้จัดประชุมอย่างเป็นทางการ โดยผู้แทนดีเอสไอ ได้นำแผนที่เปรียบเทียบของแต่ละหน่วยงาน กับแผนที่ทำมือของชาวบ้าน (ยังไม่มีการเปิดเผยที่มาของแผนที่ทางอากาศ)มาตรวจสอบ ซึ่งพบว่ามีการครอบครองเอกสารสิทธิที่ดินมีความผิดปกติทั้งหมด 50 แปลง โดยเบื้องต้นพบว่า มีการประกาศเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนทั้งที่ราชพัสดุ นส.3 สค.1 และมีชื่อผู้ครอบครองซ้ำซ้อนมากที่สุด บางแปลงมากถึง 5 ราย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้ตรวจเทียบเคียงกับการให้ปากคำที่ผู้อ้างกรรมสิทธิ์นำชี้พื้นที่ครอบครองแล้วพบว่า มีความผิดปกติทั้งการนำชี้และการออกเอกสารเท็จ แต่เบื้องลึกเพื่อสรุปข้อมูลที่สมบูรณ์นั้น จำเป็นต้องรอข้อมูลจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ และสำนักงานที่ดินเพิ่มเติม เพื่อนำมาวิเคราะห์เทียบกับแผนที่การใช้ประโยชน์ทางที่ดินก่อนการประกาศใช้ ส.ค.1 ซึ่งคือแผนที่ทางอากาศปี 2493 และแผนที่ทางอากาศหลังประกาศใช้ สค.1 ปี 2497
พลเอกสุรินทร์ กล่าวในที่ประชุมว่า จากข้อมูลที่ดีเอสไอนำเสนอ เชื่อว่าหลายหน่วยงานรู้ดีว่าใครชี้แจงเท็จ ใครชี้แจงจริง โดยข้อมูลทุกอย่างที่นำมาวิเคราะห์ ตนและคณะกรรมการฯจะพิจารณาอย่างเป็นธรรม กรณีที่ชาวเลมีการขายที่ดินไปหมดแล้ว จะเป็นเรื่องที่รับทราบกันเองอย่างเป็นสาธารณะ หรือถูกบังคับขายหรือด้วยวิธีใดก็ตามตนก็จะแก้ปัญหาตามความจริง คือไม่ร้องสิทธิ์ให้คนที่โกหก แต่อาจจะช่วยเหลือเรื่องพื้นที่ทำกินในฐานะชนเผ่าดั้งเดิมต่อไปของไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2553 ส่วนกรณีคนที่ขายที่ส่วนบุคคลไปแล้ว หากพบบุกรุกที่ดินอุทยานเพิ่ม หรือที่ดินอื่นที่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ของตน ก็จะต้องใช้วิธีไกล่เกลี่ยกับเจ้าของที่ดินภายหลัง เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก
“กรณีนายทุนผมอยากให้มองอะไรที่เป็นสัจจะและเป็นธรรม กรณีที่สาธารณะคุณก็อย่าพยายามเอาเปรียบคนอื่น ให้ใช้เฉพาะสิทธิ์ที่ตนมี แต่ให้เอื้อเฟื้อพื้นที่แก่คนอื่นบ้างตามสิทธิสาธารณะประโยชน์ กรณีการซื้อที่ดินนั้น หากมันละเมิดสิทธ์เกินไปอยากให้ระงับการประทำก่อน ผมอยากให้มองทุกคนเป็นเพื่อนในชุมชน ไม่อยากให้เป็นศัตรู แต่เราต้องเข้าใจว่าชาวเล คือ ชาวบ้านดั้งเดิมที่เข้ามากันที่ให้เราอยู่ เราอาศัย หากไม่มีเขาในอดีตเราจะเสียที่ดินให้มาเลเซีย นอกจากนี้ฟ้องร้องระหว่างนายทุนกับอุทยานฯนั้น ผมจะไม่ดำเนินการอะไรมากมาย เพราะผมมาแก้ปัญหาความมั่นคง ของชาวเลกับเอกชน และชาวเลกับอุทยานฯ แต่กรณีเอกชนกับอุทยานฯ ใครโกงใคร ผมไม่ทราบ” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
ในภาคบ่ายได้มีการจัดเวทีสาธารณะของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีตัวแทนแต่ละฝ่ายเข้าร่วม ยกเว้นตัวแทนสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด เป็นที่น่าสังเกตว่าครั้งนี้มีตัวแทนจากตระกูลอังโชติพันธุ์ คู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทกับชาวบ้านเกาะหลีเป๊ะ เข้าร่วมเวทีด้วย ทั้งนี้ในเวทีมีการตั้งคำถามสำคัญ ถึงการร้องขอคืนพื้นที่บางส่วนจากเจ้าของที่ดินรายดังกล่าว เนื่องจากเป็นสุสานเก่าของชาวเล แต่ปรากฏว่าเจ้าของที่ดินรายดังกล่าวยืนยันว่าไม่สามารถให้ชาวเลใช้เป็นสุสานหรือพื้นที่อนุสรณ์สถานใดๆทั้งสิ้น และมองว่ามีทางอื่นในการแก้ปัญหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาอื่นๆที่ชาวบ้านร้องขอ ให้มีการจัดการและแก้ปัญหาโดยด่วน คือ 1. เร่งจัดหางานทำเพื่อช่วยเหลือชาวเลที่ตกงาน 2. ขอให้ทหารและตัวแทนกรมเจ้าท่าอนุมัติหรือออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประกาศหน้าชายหาดรอบเกาะเป็นพื้นที่สาธารณะ ชาวบ้านสามารถจอดเรือได้ 3. ให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประจำเกาะ 4. จัดหาพื้นที่สุสานฝังศพเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวเล 5.ขอให้ระงับการสร้างกำแพงปิดกั้นเส้นทางสัญจรและเลิกการก่อสร้างใดๆที่มีการกั้นเขตสาธารณูปโภค เช่น คลอง บ่อน้ำ
6.ให้มีการอำนวยความสะดวกเรื่องการอนุรักษ์ป่าไม้ส่วนรวมและช่วยแก้ปัญหาขยะบนเกาะ รวมทั้งขอติดป้ายสุสานไม่ให้นักท่องเที่ยวรบกวน โดยเร่งจัดระเบียบนักท่องเที่ยว 7. หาร้านค้าชุมชนเพื่อการสนับสนุนอาชีพและรายได้แก่ชาวบ้าน 8. จัดอาชีพขับรถรับจ้างให้รองรับชาวเลในจำนวนที่สอดคล้องกับคนนอกที่เข้ามารับจ้าง ซึ่งขณะที่มีคนนอกเกือบ 50 ราย ที่ได้สิทธิในอาชีพดังกล่าว และหาเรือใหม่ให้คนขาดแคลนโดยเปิดเป็นงบประมาณกู้ยืมแก่ชาวบ้าน
ขณะที่ตัวแทนจากกรมที่ดินให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวนอกรอบเวทีว่า อำนาจในการแก้ไขปัญหาที่ดินบนเกาะนั้น ไม่ได้อยู่ที่คณะกรรมการ ชุดดังกล่าว และดีเอสไอไม่ได้มีข้อมูลที่หามาเอง ดังนั้นหลักฐานที่เผยแพร่ผ่านสื่อควรระงับไว้ก่อน เพราะการนำชี้จากแค่บางคนแล้วมาออกข่าวเป็นการทำลายความมั่นคงภายใน อย่างไรก็ตามกรณีข้อมูลจากสำนักที่ดินพบว่า การแจ้งครอบครองที่ดินนั้นมี สค.1 ทั้งหมด 41 แปลง (ข้อมูลการครอบครองในปี 2498 ) จากนั้นมาแปลงเป็น นส.3 ทั้งหมด 24 แปลง ยังเหลืออีก 23 แปลงยังไม่ได้เปลี่ยนเป็น นส.3 ซึ่งเกินมา ส่วนนี้สำนักที่ดินไม่มีหน้าที่ตรวจสอบใดๆ และการเปลี่ยนแปลงที่ดินหรือการดูแลสิทธิเป็นเรื่องของรัฐบาลระดับกลางไม่ใช่คณะกรรมการฯ
//////////////////