เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่บริเวณหน้าวัดหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก โดยมีนายอำเภอเชียงของเป็นประธาน ทั้งนี้นายพุ่ม บุญหนัก อดีตประธานชมรมผู้จับปลาบึกบ้านหาดไคร้ กล่าวรายงานว่าภายหลังเทศกาลสงกรานต์เสร็จสิ้น ตามวิถีของคนที่นี่คือการออกไปหาปูหาปลา โดยเฉพาะการจับปลาบึกเป็นเป็นอาชีพเสริมของชาบ้านมาช้านาน โดยก่อนที่จะถึงฤดูจับปลาบึกจะต้องมีพิธีเลี้ยงผีแบบง่ายๆท้ายหมู่บ้านเพื่อขอให้มีโชคมีชัย โดยปลาบึกเป็นสัตว์ใหญ่จึงเชื่อว่ามีเจ้าที่คอยปกปักรักษา ดังนั้นจึงต้องขออนุญาต ซึ่งตั้งแต่จับปลาบึกกันมาไม่เคยเห็นว่าเรือใครล่มหรือมีเหตุร้าย อาจเป็นเพราะเราขออนุญาตถูกต้อง
“สมัยก่อนการจับปลาบึกทำกันแบบง่ายๆคือนั่งอยู่บ้านห้าง คอยดูปลาบึกขึ้นมาซี่งจะเห็นคลื่น แล้วใช้หอกแทง ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นการใช้แห จนกระท้ายสุดมาพัฒนาเป็นอวน 2 เส้น บางปีเราก็จับได้เยอะ เช่นปี 2533 ได้ถึง 69 ตัว แต่บางปีก็ไม่ได้เลย” นายพุ่ม กล่าว
นายพุ่มกล่าวว่า ต่อมาเมื่อปี 2549 ชาวประมงได้รวมตัวกันและมีหลายหน่วยงานร่วมสนับสนุนให้เลิกจับปลาบึก โดยการรับซื้ออวนหลังละ 2 หมื่นบาท แต่นับจากหยุดจับปลาบึกเป็นที่น่าสังเกตว่านักท่องเที่ยวลดลง
“การจัดพิธีบวงสรวงในวันนี้เพื่อรำลึกถึงปลาบึก สมัยก่อนผมออกไปหาปลาบึกโดยไม่เคยคิดถึงอันตรายใดๆ เรือลำน้อยๆ นั่งกันไป 4 คน ได้ปลาบึกตัวละ 100 กว่าโล แต่เราก็ยังพากันกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย” นายพุ่ม กล่าว
ด้านนายเรียน จินาราช อดีตพรานปลาบึกและอดีตประธานชมรมผู้จับปลาบึกฯกล่าวว่า ช่วงหลังสงกรานต์โดยปกติปลาบึกจะเริ่มว่ายมาถึงหาดไคร้ แต่ระยะหลังนี้ชาวบ้านไม่ได้จับปลาบึกแล้ว มีเพียงบางปีที่ปลาบึกวิ่งมาชนอวนของชาวบ้าน ทั้งนี้สาเหตุใหญ่ที่ทำให้ปลาบึกลดลงน่าจะมาจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการระเบิดหินและเกาะแก่งในแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และแหล่งหากินของปลาบึก นอกจากนี้ยังมีน้ำเน่าเสียที่ปล่อยออกมาโดยเฉพาะการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมถึงเรื่องการขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้หรือไม่ว่าทางการจีนมีโครงการระเบิดแก่งช่วงที่ 2 ตั้งแต่เชียงแสนไปถึงหลวงพระบางในสปป.ลาว ตามข้อตกลงเดินเรือพาณิชย์ระหว่าง 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน นายเรียนกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ชาวบ้านคงไม่เห็นด้วย และคงต้องรวมตัวกันขอร้องเขา
—————-