ประณามแหกมติเอ็มอาร์ซีเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี-ยื่นแถลงการณ์ 4 ข้อ “ปลิว”แจงไม่ใช่สร้างเขื่อนแต่เป็นฝายน้ำล้น
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย เชียงราย, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จำนวนกว่า 70 คน เดินทางรวมตัวหน้า บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2555 เพื่อชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาวซึ่งอยู่ติดชายแดนไทย ภายหลังจากที่บริษัท ช.การช่าง ได้ประกาศความก้าวหน้าของโครงการโดยการลงนามในสัญญาเพื่อก่อสร้างไฟฟ้ากับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัดของลาว ทั้งนี้ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทางบริษัท ช.การช่าง หยุดการก่อสร้างเพราะขัดต่อมติของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี ที่ระบุให้ชะลอโครงการดังกล่าว
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้วแกนนำเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า หากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงจะถูกทำลาย เพราะเขื่อนจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำและขวางการอพยพของพันธุ์ปลา รวมถึงส่งผลต่อระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดธรรมชาติเหมือนที่ได้รับบทเรียนจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าทางเอ็มอาร์ซีจะมีมติที่ประชุมให้ชะลอการสร้างเขื่อนเพื่อประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านแล้ว แต่จากการลงพื้นที่พบว่าทาง บริษัท ช.การช่าง กลับเดินหน้าสร้างเขื่อน ถือเป็นการละเมิดมติเอ็มอาร์ซีอย่างชัดเจน
“ขณะนี้ชาวบ้านห้วยสุย แขวงไซยะบุรีถูกอพยพให้ออกจากพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อน และยังพบว่าชาวบ้านหลายคนไม่ได้รับวามเป็นธรรมจากมาตรการการชดเชย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการสร้างถนนเข้าสู่พื้นที่เขื่อนและมีการเปิดหัวงานการสร้างเขื่อนเเล้ว” นายนิวัฒน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.ให้บริษัท ช.การช่าง หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที จนกว่าการศึกษาผลกระทบของเอ็มอาร์ซีจะแล้วเสร็จ 2.ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี 3.ให้ธนาคารกรุงไทย, กสิกรไทย, ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ ระงับและยกเลิกการปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างเขื่อน และ 4.ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียนให้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการลงทุน
ภายหลังจากการยื่นหนังสือที่สำนักงานใหญ่บริษัทช. การช่าง ชาวบ้านทั้งหมดได้เดินทางต่อไปยังสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านกรณีที่ธนาคารให้การสนับสนุนเงินกู้ บริษัท ช.การช่าง ซึ่งเท่ากับเป็นการร่วมมือทำลายชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ด้านนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2555 ว่า โครงการดังกล่าวจัดเป็นประเภทฝายน้ำล้น หรือ Run of the river ความสูง30 เมตรไม่ใช่เขื่อน เนื่องจากกลวิธีไม่มีการกักเก็บน้ำ แต่ปล่อยให้น้ำไหลผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเหมือนโครงการในแม่น้ำดานูบ ประเทศออสเตรีย ซึ่งฝายน้ำล้นไซยะบุรีนั้นตั้งเป้าผลิตกระแสไฟฟ้า 1,280 เมกะวัตต์ ยืนยันว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงมากสุดเท่ากับปริมาณน้ำที่ขึ้นสูงในฤดูฝนเท่านั้น
ส่วนกรณีละเมิดมติของที่ประชุมเอ็มอาร์ซีนั้น นายปลิว กล่าวว่า เอ็มอาร์ซีมีข้อห้าม 2 ประการ คือ ห้ามดูดน้ำออกจากแม่น้ำโขง และการห้ามกักเก็บน้ำ แต่โครงการนี้เป็นฝาย ไม่ได้มีการกักเก็บน้ำเหมือนเขื่อนทั่วไป ดังนั้นเชื่อว่าโครงการนี้จะไม่ส่งผลต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขง และการอพยพพันธุ์ปลาอย่างที่เป็นกังวลเพราะไม่มีการกักเก็บน้ำอย่างที่เข้าใจ ในขณะที่เอ็มอาร์ซีกำหนดให้มีการศึกษาสิ่งแวดล้อมทั่วไปเท่านั้น ไม่ได้มีข้อโต้แย้ง
นายปลิว กล่าวถึงการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ว่า มีการโยกย้ายกว่า 3 พันคนไปยังพื้นที่อีกหมู่บ้านในแขวงไซยะบุรี ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับโครงการอื่น โดยทางการลาวสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่ดีกว่าเดิม เนื่องจากสร้างเป็นรูปแบบชุมชน จากปกติที่ชาวบ้านจะอาศัยแบบแยกกันอยู่ รวมทั้งสร้างระบบสาธารณูปโภคให้แก่ชุมชนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 1 พ.ค.จะมีการจัดประชุมเอ็มอาร์ซีระดับรัฐมนตรีของแต่ละประเทศซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีจะไปเป็นประธานเปิดงาน เครือข่ายชาวบ้านแม่น้ำโขงได้นัดรวมตัวกันเดินทางไปยังที่ประชุมเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี.