เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ตัวแทนชาวบ้านชมภู ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีการลอบสังหาร นายพิทักษ์ โตนวุธ ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู ซึ่งถูกยิงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2544 โดยผู้ตายเป็นแกนนำร่วมกับชาวบ้านในการคัดค้านสัมปทานโรงโม่หิน รวมทั้งร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายวิทูรัช ศรีนาม รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตัวแทนพบกับชาวบ้าน
ทั้งนี้ ในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม มีตัวแทนทหารจากองทัพภาคที่ 3 เดินทางมาพบกับชาวบ้านที่วัดชมภู เป็นครั้งที่ 2 เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลกเพื่อยื่นหนังสือดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์วุ่นวายกระทบต่อความมั่นคง แต่ชาวบ้านไม่ยินยอมเพราะได้เตรียมตัวพร้อมใจที่จะร่วมเดินทางไปกันกว่า 100 คน จึงมีการมีการต่อรองกับทหารจนได้ข้อสรุปว่าจะอนุญาติให้ตัวแทนชาวบ้านเพียง 7 คนเดินทางไปพร้อมกับทหารในเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม
นายเชาว์ เย็นฉ่ำ ในฐานะตัวแทนชาวบ้านชมภู กล่าวว่า สาเหตุที่ตลอด 14 ปี ชาวบ้านพยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่การตายของนายพิทักษ์ โตนวุธนั้น เนื่องจากเขาเป็นคนที่ยืนเคียงข้างกับชาวบ้านในการต่อสู้กับโรงโม่หิน และเรียกร้องความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่ส่งผลกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในการทำเหมืองหินมาโดยตลอด จนกระทั่งตัวเองถูกลอบยิงเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้อายุความของคดีเหลือเพียง 6 ปีเท่านั้น แต่ตำรวจยังไม่สามารถให้ความกระจ่างหรือสืบสาวไปถึงตัวผู้สั่งการได้ ทั้งที่มีการหมายจับนายสุริยะ ขุนอุดร ที่ระบุว่าเป็นมือปืน
“ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะพึ่งพาหน่วยงานราชการใดได้บ้าง ผ่านไป 14 ปี จนลูกสาวของนายพิทักษ์โตขนาดนี้คดีก็ไม่ไปถึงไหน ขนาดตำรวจยังทำอะไรไม่ได้ แล้วจะให้ชาวบ้านฝากความหวังไว้กับใคร แม้แต่การเคลื่อนไหวของชาวบ้านก็ถูกจับตาจากทางทหาร การเดินทางมาพบผู้ว่าฯในวันนี้ยังถูกสั่งห้ามและกดดันอย่างหนัก ถ้าในอนาคตชาวบ้านมีความเดือนร้อน ทั้งเรื่องโรงโม่หินหรือโครงการเขื่อนคลองชมพู ชาวบ้านคงจะเคลื่อนไหวลำบาก” นายเชาว์กล่าว
นายเชาว์ กล่าวอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ บริษัท อนุมัติการศิลา จำกัด ซึ่งอดีตดำเนินกิจการโรงโม่หินในพื้นที่ตำบลชมพู เนื่องจากปัจจุบันมีความพยายามยื่นคำร้องต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขาวังทอง เพื่อออกโฉนดหลายครั้ง และมีการเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่โรงโม่หิน จนชาวบ้านกังวลว่าโรงโม่หินอาจจะกลับมา แม้ล่าสุดสำนักงานที่ดินฯ ชี้แจงว่าได้ปฏิเสธคำร้องไปแล้วก็ตาม เนื่องจากพื้นที่ที่บริษัทอนุมัติการศิลาฯ พยายามเข้ามาอ้างสิทธิ์นั้นอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้ายมาก่อน จนกระทั่งปี 2536 รัฐได้อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมและไม่มีแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่า และนำไปสู่การให้สัมปทานเหมืองหินแก่เอกชน ซึ่งขัดแย้งจากข้อเท็จจริง เพราะเป็นพื้นที่ป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ เป็นมีแหล่งโบราณคดีขุนตะค้าน เป็นแหล่งอาหารและต้นน้ำของชาวบ้านและสัตว์ป่าได้พึ่งพิง ชาวบ้านจึงกังวลว่าหากไม่มีการตรวจสอบ ในอนาคตอาจมีการออกเอกสารสิทธิ์และนำไปสู่การกลับมาดำเนินการโรงโม่หิน ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนโดยรอบ
นายเชาว์กล่าวต่อว่า ชุมชนชมภูมีแนวคิดที่ต้องการผลักดันให้เกิดพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยชุมชนขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ เนื่องจากแถบนี้นี้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำน่าน บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ทั้งเป็นแหล่งโบราณคดี เพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่อาจเกิดจากการทำเหมือนหิน เหมือนทอง และโครงการเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่จะจะเกิดขึ้นในอนาคต
//////