ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ภาพการท่องเที่ยวเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นมุมพักผ่อนที่คนเมืองที่เลื่องชื่อ ด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในฐานะตำนานแห่งชุมชนริมน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีหมู่บ้านเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกจำนวนนักท่องเที่ยวได้อย่างมากในช่วงวัดหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีทั้งสวนมะละกอ สวนทุเรียน ร้านอาหารและร้านขนมไทยโบราณที่แต่ละบ้านตั้งใจทำมาแค่พอขายไปแต่ละวันได้กำไรมากบ้าง น้อยบ้าง เป็นวิถีที่ใครๆ โหยหา ซึ่งสร้างเสน่ห์ให้คงอยู่ยาวนาน เพราะผู้ไปเยือนจะได้ดื่มดำกับความเป็นเอกลักษณ์ของเกาะเกร็ดอย่างแท้จริง
มาถึงวันนี้ ชุมชนเกาะเกร็ดกลายเป็นพื้นที่ลงทุนที่ใครๆไปแล้วต้องติดกับดักร้านค้าที่แน่นขนัด ผลพวงจากการพัฒนาการท่องเที่ยวไร้ขีดจำกัด ก้าวแรกที่นักท่องเที่ยวสัมผัสคือ ร้านค้าที่นำสินค้าผลิตจากโรงงานเข้ามาตั้งขาย อาทิ เสื้อผ้าไทย 4 ภาค, เครื่องปั้นเซรามิก ฯลฯ ที่ไม่ต่างจากตลาดนัดทั่วไป ขณะที่สภาพชุมชนที่อยู่ลึกเข้าไปในช่วงกึ่งกลางของเกาะ ซึ่งหลายครอบครัวเคยมีวัฒนธรรมผลิตเครื่องปั้นดินเผาและมีเตาโบราณ กลับกลายเป็นดั่งเมืองร้างที่ปล่อยทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
เรื่องนี้ ธวัชชัย เชื้อเต็ง นักปั้นและแกะสลักเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด เล่าว่า ปัจจุบันเขามองเกาะเกร็ดอย่างใจหาย เพราะนักปั้นมือดีหลายคนเริ่มท้อถอยกับการพัฒนาเครื่องปั้นดินเผา หลายคนเลิกกิจการอยู่บ้านเฉยๆ เพราะขณะนี้มีโรงงานหลายแห่งเข้ามาทำการตลาดแบบผูกขาดกับชาวบ้านที่มุ่งหวังกำไรจากการท่องเที่ยว โดยจ้างคนเกาะเกร็ดเป็นแค่แรงงานฝีมือ ไม่ให้โอกาสในการเป็นเจ้าของกิจการและหักค่าบริการขนดิน ขนวัตถุดิบ และขนสินค้าเข้ามาทั้งทางบก ทางน้ำ โดยสินค้าเครื่องปั้นดินเผาสำเร็จรูปที่เป็นผลผลิตของโรงงานมักจะเน้นการส่งออกในราคาที่ต่ำ เพื่อเพิ่มจำนวนลูกค้า แล้วคนปั้นที่ทำอย่างประณีตก็แทบไม่เหลือรายได้
“เมื่อก่อนชาวบ้านแต่ละรายจริงจังกับการทำงานมาก มีการคิดค้นวิธีเผาที่ทำให้หม้อดินเผามีสีแตกต่างกัน ปั้นยังไงให้ได้ดินสีเทาดำ แกะลายไทยอะไรที่สร้างผลงานแต่ละชิ้นใส่ไปตามความรู้ของคนมอญโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ราคาสินค้าอยู่ที่ชิ้นละไม่ต่ำกว่า 500 บาท เพราะงานใช้เวลานานและช่างต้องใจเย็น แต่พอมีนายหน้ามารับซื้อ ช่วงแรกก็ดี ระยะหลังมีการใส่สี มีการเติมแต่ง เกาะเกร็ดกลายเป็นแหล่งแรงงานที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาสู่ตลาดใหญ่ ซึ่งส่วนนี้ทำให้คุณค่าลดทอนลงเรื่อยๆ ชาวบ้านอยู่บ้านไม่ได้ก็ต้องยอมเปิดบ้านให้กับนักลงทุนรายอื่นเข้ามาทำกิจการ”
ธวัชชัย ย้ำถึงปัญหา ปัจจุบัน ธวัชชัยเป็นช่างมืออาชีพที่มีหน้าที่ให้ข้อมูลกับฝ่ายวิชการและเปิดบ้านรับนักเรียน นักศึกษา ศิลปิน และนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาเยือนเกาะเกร็ด ซึ่งนักปั้นหลายรายปฏิเสธการบริการดังกล่าว เพราะมองว่าเสียเวลา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตในเกาะเกร็ดจึงเหมือนระเบิดลูกใหญ่ที่ทำลายวิถีชีวิตคนท้องถิ่นไปแล้ว
“เราต้องเข้าใจว่า เครื่องปั้นดินเผาบ้านเรา คือ งานหัตกรรม ไม่ใช่งานอุตสาหกรรม แต่ผมไม่ได้มีสิทธิไปยัดเยียดความรู้นั้น ผมบอกนักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาสอบถามเสมอว่า เราเป็นหัตกรรม เราต้องทำตามรูปแบบเดิม เอาให้สวย ให้ดีจริงๆ ลายไทยที่เป็นเสน่ห์ของคนเกาะเกร็ดมีทั้งลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายบัว ลายกนก ประจำยาม จุดแข็งอยู่ที่ความประณีต ความละเอียดอ่อน และความคมชัดของลวดลาย สีที่เป็นความดั้งเดิมของท้องถิ่น คือ สีดินแดง ซึ่งเหล่านี้องค์ความรู้ที่คนรุ่นใหม่ควรเข้าใจ ผมคนหนึ่งที่ไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้หายไป”
ธวัชชัยให้ข้อมูลเพิ่มว่า เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ดจะไม่มีการเคลือบน้ำยา เหมือนสินค้าที่ถูกโรงงานและพ่อค้าคนกลางสั่ง เช่น ตรงขอบปากของภาชนะเครื่องปั้นดินเผาดั้งเดิมจะกลมกลึงราวกับกระบอกไม้ไผ่ผ่า มีการตกแต่งลวดลายที่งดงามจากการกดด้วยแม่พิมพ์ที่เรียกว่า “หนามทองหลาง” หรือแกะสลักด้วยมีดสลัก ไหล่ของภาชนะต้องผายออก และเป็นเส้นโค้งลาดลงมา เครื่องใช้ของคนเกาะเกร็ดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ แต่เดิมนั้นสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น โอ่งน้ำดินเผา อ่าง ครก และกระถางต้นไม้ เป็นภูมิปัญญาของช่างปั้นชาวจีนที่ย้ายมาอยู่เกาะเกร็ด อีกประเภทหนึ่ง คือ ผลิตภัณฑ์ที่สวยงามเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษซึ่งมีหลายชนิด แต่มักเรียกรวมๆ ว่า “โอ่งสลัก” ส่วนในปัจจุบัน ช่างปั้นดินเผาเกาะเกร็ดได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟดินเผาแกะสลัก นาฬิกาดินเผาแกะลาย โคมเทียน ซึ่งมีช่างปั้นไม่มากที่ยังคงทำอยู่ โดยระยะหลังประมาณ 3-4 ปีมานี้ช่างปั้นหลายรายยกเลิกกิจการไปแล้ว เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายค่าขนส่งไม่ไหว
แม้ธวัชชัยกับช่างบางคนยังคงยืนหยัดเพื่อทำหน้าที่เจ้าบ้านในการสร้างสรรค์งานหัตกรรม แต่เขาก็อดกังวลกับปัญหาการท่องเที่ยวไม่ได้ โดยเฉพาะการเข้ามาของไกด์นำเที่ยว ที่แฝงตัวหากินตลอดเวลากับการคิดค่าหัวคิวนำคณะท่องเที่ยวเยี่ยมโรงงาน เขายอมรับว่าการเติบโตของเกาะเกร็ดเปลี่ยนไปเร็ว แต่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนไปโดยคนเกาะเกร็ดไม่ได้อะไรเลยจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีวิกฤติเครื่องปั้นดินเผาเท่านั้น แต่สินค้าทุกอย่างในเกาะเกร็ดขณะนี้ นอกจากทอดมันหน่อกะลาแล้ว สินค้าต่างๆ ไม่ใช่ของคนท้องถิ่น 100 % อีกต่อไป ซึ่งอนาคตนักท่องเที่ยวไม่ได้ตื่นตากับการชื่นชมเสน่ห์เฉพาะตัวของคนเกาะเกร็ดต่อไป ชุมชนก็จะเป็นแค่แหล่งจับจ่ายใช้สอยธรรมดา ท้องถิ่นควรส่งเสริมอาชีพในลักษณะกิจการเพื่อสังคม
“ทั้งหมดที่เล่ามา ผมแค่ไม่อยากให้เกาะเกร็ดเป็นแค่ตลาดนัดธรรมดา” ธวัชชัย ทิ้งท้าย
———– โดย จารยา บุญมาก