เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 เวลา 16.00 น. ที่ลาน 18 ล้าน ปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล เครือข่ายภาคประชาชนได้จัดกิจกรรม “แบกเป้ขึ้นหลัง เที่ยวสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ปกป้องทะเลอันดามัน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม-2 มิถุนายนนี้ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และหยุดยั้งโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเดินทางไปตามเส้นทางที่ตกเป็นเป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ 9 แห่ง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับล่าสุด พ.ศ.2558-2579 (PDP2015)
บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีการแสดงดนตรีจากวงดนตรีหลากสไตล์ที่บรรเลงโดยเครือข่าย พร้อมการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อกังวลและองค์ความรู้ต่างๆ ที่สำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นในแถบอันดามัน นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายวิถีชีวิตคนทะเลอันดามัน
นายอัครเดช ฉากจินดา หนึ่งในตัวแทนคนอาสาสมัครร่วมกิจกรรมกล่าวว่า ในการรณรงค์ครั้งนี้ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติสามารถเข้าร่วมได้ เพื่อทำหน้าที่ผู้พิทักษ์อันดามันและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไม่ทำลายธรรมชาติ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน หรือท่าเรือ หากสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรม เชื่อว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นและเป็นการผลักดันคนท้องถิ่นให้ละทิ้งบ้านเกิดด้วย โดยที่ผ่านมาสัญญาณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) ได้พยายามผลักดันสร้างโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ก็ต้องพักโครงการและแผนไปหลายครั้งเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ กฟผ.มีความพยายามในการซื้อใจชาวบ้านกระบี่ โดยเฉพาะพื้นที่เกาะลันตา โดยส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น แพทย์อาสา และมีแจกของรางวัลเป็นระยะๆ แต่ชาวบ้านรู้ทันแล้วเริ่มปฏิเสธ โดยส่วนตัวมองว่าหากการร่วมมือของประชาชนเข้มแข็งพอ เชื่อว่าโรงไฟฟ้าจะไม่เกิด
“ที่ผ่านมาเราร้องเรียนหลายที่ ล่าสุดมีการพูดในช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรีของกระทรวงการท่องเที่ยวแล้วว่า เห็นควรให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผน แต่ประชาชนไม่ได้ไว้ใจทั้งหมด จึงหันมาทำกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อเตือนความจำว่า รัฐบาลยังไม่ล้มเลิก ดังนั้นต้องนำกิจกรรมการต่อสู้เชิงอนุรักษ์มาขับเคลื่อน เรายังยืนยันเช่นเดิมว่า อยากให้ไทยรับข้อเสนอนักวิชาการโดยการนำพลังงานหมุนเวียมาใช้ ทั้งโรงปาล์ม และอื่นๆ ผมก็ฟังมาหลายเวทีพบว่า ใช้เวลาแค่ 5-10 ปีทดลองน่าจะพอเห็นผล หากพลังงานไฟฟ้าไม่พอค่อยมาตกลงกันใหม่ แต่กฟผ.ต่างหากที่ไม่รับฟังและเร่งรัด กิจกรรมแบกเป้จึงกลายเป็นจุดต่อยอดการรณรงค์ไม่เอาถ่านหินอีกระลอกหลังจากการปฏิรูปพลังงาน” นายอัครเดช กล่าว
ด้านนางปณิดา โอมมณี หรือ ฟาริดา วัย 56 ปี ชาวสตูลกล่าวว่า ในฐานะลูกหลานอันดามัน จะเกิดอะไรขึ้นคนอันดามันก็จะลุกขึ้นมาปกป้อง ตนเชื่อว่าชาวบ้านไม่ยอมให้อันดามันเป็นเหมือนอุตสาหกรรมทะเลที่อื่น อาทิ จะนะ จังหวัดสงขลา และอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ขณะนี้ยอมรับว่ากังวลกับโครงการขนาดใหญ่ทุกประเภท เพราะกลัวว่าอันดามันจะเป็นพิษ และจากความล้มเหลวที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า การทำแบบประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ) ไม่สามารถใช้การได้จริง เพราะแม้จะดำเนินการไป รัฐบาลก็ย้อนมาทำร้ายประชาชนอยู่ดี คนที่จะตายเพราะอุตสาหกรรม คือ คนหากินที่พึ่งธรรมชาติ
นางปณิดากล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา กลุ่มแม่บ้านจังหวัดสตูลที่ทำหน้าที่ในการผลิตน้ำปู บูโด และอาหารทะเลแห้งออกวางขายในชุมชนเหมือนสุภาพสตรีอื่นๆที่สตูล ซึ่งขณะนี้สร้างความมั่นคงให้กับชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงวันอาทิตย์ที่ตลาดเปิดท้ายชายหาด ให้คนสตูลและนักท่องเที่ยวได้เดินตลาดเรียบง่ายแบบท้องถิ่น รายได้เฉลี่ยครั้งละ 600-2,000 บาท แล้วแต่จังหวะลูกค้าในพื้นที่ ขณะที่อาชีพอื่นก็ยังเฟื่องฟูไม่น้อย เช่น อาชีพจักสานใบจากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ล้วนสร้างรายได้แก่ชาวบ้านให้อยู่อย่างมีความสุขในท้องถิ่นและไม่ต้องจากบ้านเมืองเกิดไปที่อื่น
“คนสตูลไม่ต้องเอาอะไรมาก ทำประมงก็รอดแล้ว เราไม่ได้พูดเรื่องรวยนะ เรารอด อยู่ต่อได้ ไม่มีหนี้ มีสินก็บุญหัวแล้วนะ ทำไมผู้นำเขาไม่ชอบนะ เวลาเราสุขแบบเนียะ บางคนเขาก็เอ่ยว่าอยากมีเงินเยอะไปรับจ้างคนมาเลย์ทำประมงในเรือใหญ่ พอผิดหวังก็กลับมา แต่คนท่ามาลัย คนปากบาราไม่ต้องไปหรอก แค่นี้ก็มีอาหารทะเลกินตลอดปีแล้ว ไม่ต้องจากครอบครัวไปหลายเดือนเพื่อเงินไม่กี่พันบาท” นางปณิดา กล่าว
////////////////////////////