เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพิ่งอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พศ.2558-2579 (PDP 2015) โดยแผนฉบับนี้ครอบคลุมระยะเวลาทั้งหมด 21 ปี ตั้งแต่ พศ. 2558-2579 ระยะเวลาของแผนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งมีการจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยมีกรอบเวลาของแผนเดียวกับแผนพีดีพี 2015
มีหลายประเด็นที่มีการทักท้วงจากภาควิชาการและภาคประชาสังคม โดยเฉพาะประเด็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ที่กำหนดไว้ให้มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 แต่พบว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองกลับมากเกินจำเป็นตลอดระยะเวลาของแผน บางปีมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 39 ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วจะสร้างโรงไฟฟ้าไปทำไมมากมาย เพราะทุกวันนี้โรงไฟฟ้าใหญ่ๆ ทั้งถ่านหิน ชีวมวล เขื่อน จะไปลงที่ไหน ก็มักถูกประชาชนในพื้นที่ตั้งคำถามเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม และนำมาสู่ความขัดแย้ง ทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
นี่อาจเป็นสาเหตุให้แผนพีดีพีฉบับนี้ มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ระบุถึงการจัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งพลังน้ำและแหล่งอื่น (hydro/import) โดยเฉพาะจากลาว และเพิ่มพม่าและยูนนาน-จีนตอนใต้ โดยกระทรวงพลังงานได้วางแผนสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง ในหมวดการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ ณ เดือนกันยายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 7 แผนพีดีพีฉบับนี้จะเพิ่มการรับซื้อจากต่างประเทศเป็นร้อยละ 10-15 ในช่วง 11 ปีแรกของแผน ซึ่งมีโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันระบุไว้หลายโรง อาทิ โรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ 1,473 เมกกะวัตต์ และเขื่อนไซยะบุรี 1,220 เมกกะวัตต์ (กำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2579 อยู่ที่ 70,410 เมกกะวัตต์) และจะขยายเป็นร้อยละ 15-20 ในช่วง10 ปีหลังหลังของแผน โดยมีปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 7,700 เมกกะวัตต์
ในเวทีรับฟังความคิดเห็นซึ่งจัดในวันที่ 28 เมษายน เหตุผลหลักที่กระทรวงพลังงานอธิบายในการเพิ่มการนำข้าไฟฟ้าคือ ไทยติดหลายประเทศและเป็นไฟฟ้าพลังน้ำสะอาด สัดส่วนการนำเข้าจึงเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือกระทรวงพลังงานมองว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำสุดคือไฟฟ้าพลังน้ำต่างประเทศ 2.41 บาท/หน่วย (ในขณะที่ถ่านหิน 2.54 ความร้อน 5.57 กังหันแก๊ส 10.02 บาท/หน่วย)
หันมามองโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้านที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนไว้ ทั้งมีข้อผูกพันซื้อไฟฟ้า (ลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้ว) พบว่ามีอย่างน้อย 2 โครงการใหญ่ทางฝั่งตะวันออกในลาว คือโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาลิกไนต์ 1,473 เมกกะวัตต์ และเขื่อนไซยะบุรี (แม่น้ำโขง) 1,220 เมกกะวัตต์ ส่วนทางฟากตะวันตก คือ แม่น้ำสาละวินในพม่า มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่กฟผ. ร่วมลงทุน ได้แก่ เขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยง 1,360 เมกกะวัตต์ เขื่อนเมืองโต๋น (มายตง หรือเดิมเรียกว่าเขื่อนท่าซาง) ในรัฐฉาน 7,100 เมกกะวัตต์
แม้จะดูเหมือนว่าโครงการเหล่านี้อยู่นอกประเทศ มีราคาถูก คาร์บอนต่ำ แต่กลับมีต้นทุนที่มองไม่เห็นซ่อนอยู่ ทั้งความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ยังไม่มีการศึกษาที่รอบด้านครอบคลุมอย่างเพียงพอที่จะตอบได้ว่า ทั้งแม่น้ำโขงและสาละวิน อันเป็นสายน้ำหลักของภูมิภาค จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหากมีเขื่อนกั้นและเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างรุนแรง
สำหรับลุ่มน้ำสาละวิน ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นทันทีหากมีการสร้างเขื่อนกั้นสายน้ำ คือผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐฉาน ในพม่า ซึ่งรัฐบาลพม่ากำลังอยู่ระหว่างการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังในพื้นที่ แต่ยังมีรายงานการปะทะสู้รบอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ เขื่อนเมืองโต๋นจะสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินทางตอนใต้ของรัฐฉาน ความมหึมาของเขื่อนจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ท่วมบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ของประชาชนอย่างน้อย 3 แสนคน ที่ถูกกวาดล้างถอนรากถอนโคนออกจากพื้นที่รัฐฉานเมื่อปี 2541-2543 ปัจจุบันประชาชนเหล่านี้หนีภัยความตายมาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดน และเป็นแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย
“ผู้ลี้ภัยถาวร” อาจเป็นของแถมผูกมาด้วยกับไฟฟ้าจากประเทศพม่า
สถานการณ์พื้นที่เขื่อนฮัตจีเมื่อในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา มีรายงานจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยง Karen Rivers Watch ว่าได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU กองพล 5 เขตมือตรอ รัฐกะเหรี่ยง รายงานถึงสถานการณ์ของพื้นที่หัวงานเขื่อนฮัตจี ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอนลงไปตามลำน้ำสาละวินประมาณ 47 กิโลเมตร ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน กองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่า 4 กองพัน ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังปกป้องชายแดน (BGF) กองพัน 1013 และ 1014 สนธิกำลังกับกองพันเคลื่อนที่เร็วของกองทัพพม่า(LIB) กองพัน 210 กับ 205 ปฏิบัติการเข้าโจมตีพื้นที่ตำบลแม่ปริ และตำบลทีตะดอท่า ในพื้นที่ อ.บือโส่ เขตมือตรอ กองกำลังร่วมชุดนี้ได้เข้าควบคุมพื้นที่จึงทำให้เกิดการปะทะกับกองกำลัง KNU ส่งผลให้ KNU ต้องยอมสูญเสียพื้นที่ควบคุมบางส่วน
กลุ่มสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยงรายงานว่าปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่าส่งผลให้ผู้นำชุมชนหลายคนถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน มีการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่ไว้ และมีชาวบ้านถูกฆ่าอย่างน้อย 1 คน รวมถึงมีการปิดด่านริมน้ำสาละวินทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถเดินทางไปมายังเขตเมืองได้ (ด่านตรวจริมแม่น้ำสาละวินที่เป็นจุดสำคัญสกัดการเดินทางไปยังเมืองเมียนจีหงู่ หรือ พะอัน คือ ด่านแมเซก ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด่านแห่งนี้ถูกควบคุมโดยกองกำลัง BGF กองพัน 1012)
ระยะเวลาเพียง 2 สองเดือนนี้ในพื้นที่เกิดการปะทะไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เจ้าหน้าที่ KNU เขตมือตรอ ให้ข้อมูลว่า ในระหว่างการดำเนินกระบวนการสันติภาพ แต่ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงภายใต้ KNU กลับมีการเคลื่อนไหวของกองทัพฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นจึงยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อกันและกัน
แหล่งข่าวที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และเคยลงพื้นที่สำรวจพื้นที่หัวงานเขื่อนฮัตจีเปิดเผยว่า ปฎิบัติการโจมตีดังกล่าวเป็นปฎิบัติการที่ต่อเนื่องจากการโจมตีช่วงปลายเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งครั้งนั้นมีชาวบ้านหนีภัยการสู้รบข้ามแม่น้ำเมยมายังบ้านแม่ตะวอ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กว่า 300 คน
“เดิมทีพื้นที่แมเซก ซึ่งเป็นด่านสกัดการเดินทางจากหัวงานเขื่อนลงมายังเมืองเมียนจีหงู่นั้น อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยง DKBA แต่หลังการโจมตีของกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่าในเดือนตุลาคม กองกำลัง BGF กองพัน 1012 ได้เข้ามาควบคุมพื้นที่ จากการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงทหารระดับปฎิบัติการในพื้นที่ของ DKBA บางคนประเมินว่าคงมีการโจมตีอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะพื้นที่เป้าหมายที่ฝ่ายกองทัพพม่าต้องการเข้าควบคุมคือ พื้นที่ บอตอรอ เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าหากกองทัพพม่าเข้าควบคุมพื้นที่แห่งนี้ได้ คือการคุมพื้นที่ทั้งเหนือและใต้ของหัวงานเขื่อนได้ และปฏิบัติการที่มีความต่อเนื่องนี้ มีความเชื่อมโยงกับความพยายามของกองทัพพม่าที่ต้องการควบคุมพื้นที่สร้างเขื่อนฮัตจีอย่างแน่นอน
“แม้ช่วงนี้อยู่ในการพูดคุยกระบวนการสันติภาพในประเทศพม่า และในพื้นที่ของเคเอ็นยูมีการเจรจากับกองทัพรัฐบาลพม่าว่า ทั้งสองฝ่ายจะไม่ดำเนินการเคลื่อนไหวใดๆ ทางทหาร แต่เฉพาะในพื้นที่กองพลที่ 5 ก่อนการเจรจาสันติภาพมีฐานที่มั่นของกองทัพรัฐบาลพม่าทั้งหมด 70 ฐาน แต่ขณะนี้กลับเพิ่มเป็น 81 ฐาน เห็นได้ชัดถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลพม่าในการเจรจาสันติภาพ เป้าหมายของการเจรจาสันติภาพที่ดำเนินอยู่นั้น ผมมองว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลพม่าเพื่อเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ในแหล่งทรัพยากรอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆเท่านั้น”
สถานการณ์ด้านพลังงานวันนี้ เราต้องคิดให้ใหญ่กว่าเรื่องตัวเลขแท้ๆ เทียมๆ เพราะมิฉะนั้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง
อย่าปล่อยให้ความ “กลัว”เรื่องความขาดแคลนพลังงานถูกนำไปปั่นเป็นกระแสสร้างความชอบธรรม ทั้งๆ ที่ผู้รู้จำนวนไม่น้อยต่างก็ออกมาทักท้วงแล้วว่า ประเทศไทยมีทางเลือกมากมาย และมีพลังงานพอเพียง
อย่าให้ประเทศเราเป็นฐานทิ้งระเบิดทำลายเพื่อนบ้านอีกเลย เพราะบทเรียนในอดีตยังตามมาหลอกหลอนจนทุกวันนี้ยังไม่เลิก
——-
เรื่องโดย โลมาอิรวดี
รูป Karen Rivers Watch
——-