โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เป็นโครงการที่หลายรัฐบาลพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีหลายฝ่ายที่คัดค้านโครงการนี้เนื่องจากกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มกำลังเช่นเดียวกับหลายรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งท่าทีของรัฐบาลทำให้ผู้คนกังวลกับสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างมาก
ล่าสุด เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ร่วมกับนักวิชาการในพื้นที่ จัดเสวนาล้อมวงคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
รศ.ดร.สมบูรณ์เจริญจิระตระกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระบุว่า โครงการนี้ไม่มีการคิดคำนวณต้นทุนทางอ้อม ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน โดยมองว่ารัฐพยายามประชาสัมพันธ์โครงการนี้ในเชิงบวกจนเกินไป
“จริงๆแล้ว การคำนึงถึงต้นทุนทางอ้อมมันไม่ได้หมายความโดยสรุปทันทีว่าโครงการจะเกิดการขาดทุน เพียงแต่การศึกษาของผู้ศึกษาไม่ได้แสดงต้นทุนทางอ้อมเท่านั้นเอง มีแต่ประโยชน์ทางอ้อม ทำให้ผมสงสัยว่าเป็นการตีค่าโครงการที่เชิงบวกเกินไปเท่านั้นเอง”
มุมมองของภาคประชาชนสวนทางกับมุมมองของนายศรศักดิ์อังสุภานิชประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ซึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าว โดยเปิดเผยว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่กังวลกัน และมองว่าหากโครงการเกิดขึ้นจะเป็นโอกาสอันดีในการขยายฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับชาวจังหวัดสตูลอีกด้วย
ชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนอ่าวปากบาราส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและทำเกษตรกรรมในพื้นที่นอกจากนี้ยังมีอาชีพสำคัญด้านการท่องเที่ยว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านในพื้นที่พึงพอใจกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นายเอกพงษ์เหมราชาวบ้านในพื้นที่และผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวในนามกลุ่ม”รีฟกาเดียนไทยแลนด์” เล่าว่าคนในพื้นที่กังวลกับโครงการท่าเรือน้ำลึก จึงอยากเสนอให้ทางภาครัฐทบทวนโครงการและให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างรอบด้านมากกว่านี้
“ยังไงผมก็อยากวิงวอนว่าอยากให้ลองทบทวนหรือสร้างกระบวนการที่อย่างน้อยๆชาวบ้านก็ควรได้รับรายละเอียดทั้งหมดว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง มันมีแค่ท่าเรือไหม หรือมันมีอะไรที่คุณยังไม่ได้บอกเรา ที่เรายังไม่รู้ 10ปี 20ปี ข้างหน้า ผมเกิดที่นี่ ผมมีลูกเล็กๆที่นี่ มีแม่ มีญาติพี่น้อง คือผมรู้สึกว่า เราโอเคกับชีวิตแบบนี้นะครับ ”
โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล เป็นโครงการที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนซึ่งไม่ใช่แค่เพียงบริเวณอ่าวปากบาราแต่ยังส่งผลกระทบไปยังพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียง หนึ่งในนั้นคือพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
นางสาว จริยา แอหลัง ศิษย์เก่าโรงเรียนกำแพงวิทยา ตัวแทนของวิทยากรพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เล่าว่า ในฐานะเยาวชนในพื้นที่ รู้สึกเป็นกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะทรัพยาการที่จะสามารถนำไปศึกษาเรียนรู้ได้ในอนาคต
“ถ้าเขาทำโครงการสำเร็จหนูยังไม่แน่ใจเลยว่ามันจะมีทรัพยากรหลงเหลืออยู่ไหม เพราะว่ามันต้องดูดอ่าว ดูดโคลน ทำนู่นนี่นั่น มันต้องทำลาย คือเขาต้องเตรียมที่ของเขา อยากให้เขาอนุรักษ์เอาไว้ค่ะ อยากให้อนุรักษ์และสนใจ ถ้าสมมติว่าโครงการมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ขอให้ทำให้น้อย ให้มีผลกระทบให้น้อยที่สุด”
ความคิดเห็นของ รศ. ดร. สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สอดคล้องกับเยาวชนพื้นที่ในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ รศ.ดร. สมบูรณ์ เปิดเผยว่า การเกิดขึ้นของโครงการท่าเรือน้ำลึกอาจส่งผลเสียต่อวิถีของสัตว์น้ำในทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของชาวประมงและธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“แต่อาจจะเกิดจากโครงการท่าเรือน้ำลึกที่จะเกิดขึ้นเช่นอาจจะมีสารพิษก็ดี สารแปลกปลอมก็ดี ตกสู่ก้อนท้องทะเลบริเวณท่าเรือน้ำลึก แล้วมันก็แพร่สะพัดไปยังทะเล แล้วอาจจะพัดตกไปยังส่วนที่เป็นพื้นทะเล อาจจะเป็นสารพิษที่กระทบต่อสัตว์หน้าดิน ซึ่งสัตว์หน้าดินนี้ก็จะเป็นอาหารของกุ้ง-หอย-ปู-ปลา ให้ชาวประมงที่จะจับ สิ่งเหล่านี้เป็น(ผลกระทบ)ทางอ้อมทั้งสิ้นเลย”
ความกังวลของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารายังส่งผลกระทบไปยังบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างเช่นเกาะหลีเป๊ะนางละออง ชาวเลพื้นเมืองที่อาศัยบริเวณเกาะหลีเป๊ะ เล่าว่า ปัจจุบันตนและครอบครัวมีอาชีพในการบริการนักท่องเที่ยวและทำประมงในพื้นที่ แต่หากโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิดขึ้น เกรงว่าจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้และจะส่งผลกระทบถึงที่อยู่อาศัยของตนในอนาคต
ด้านนักท่องเที่ยวที่เดินมายังเกาะหลีเป๊ะส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกแต่มองว่าหากโครงการเกิดขึ้นก็อยากให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสถานที่ท่องเที่ยวอย่างน้อยที่สุด นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก เล่าว่า ตนเลือกเดินทางมาเกาะนี้เพราะที่นี่มีความสวยงามและเงียบสงบ แต่หากมีการก่อสร้างโครงการและส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ตนก็รู้สึกเสียใจ
“มันคงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ เพราะว่าสถานที่นี้มีความสวยงามอยู่แล้ว ฉันได้ยินว่าสถานที่นี้เงียบสงบ และมีธรรมชาติอย่างมากมาย สำหรับการดำน้ำ ที่นี่คือสถานที่ที่สวยงาม พวกเราจึงมาท่องเที่ยวที่นี่ 1 สัปดาห์” นักท่องเที่ยวจากต่างแดนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการท่าเรือน้ำลึก
ความคิดเห็นต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจากหลายฝ่ายแตกต่างกันออกไปต้องจับตาว่าบทสรุประหว่าง”ความต้องการของคนในพื้นที่ที่พยายามจะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง” กับ “ความต้องการของภาครัฐที่พยายามเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต” จะจบลงอย่างไร