Search

ภาคประชาชนร่วมถกประเด็น กม.ป่าชุมชน วอนรัฐบาลให้สิทธิ์ชาวบ้านมีส่วนวางแผนรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน

Screenshot_2015-06-04-17-04-18

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ที่รัฐสภามีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการจัดการป่าไม้ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฎิรูปแห่งชาติ โดยมีนายสุวัช สิงหพันธุ์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งดำเนินการระหว่างเวลา 09.30-12.00 น.เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีการผลักดัน พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป่าชุมชน

สำหรับวาระการประชุมครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากการที่เครือข่ายภาคประชาชน อาทิ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายเกษตกรภาคอีสาน เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือและเครือข่ายชนเผ่าแห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ สปช. มีการการแก้ไขเนื้อหาใน พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่เสนอโดยกรมป่าไม้ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมแก่การจัดการทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและไม่ผูกขาดกับอำนาจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมแล้วเสร็จมีข้อสรุปใจความสำคัญ 3 ประเด็นหลัก
1 เครือข่ายภาคประชาชนระบุว่าให้คณะกรรมการยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชน ควรยุติหลักการในร่าง พ.ร.บ.ที่ระบุว่า จะมีการย้าย อพยพหรือนำคนชุมชนเก่าที่อยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ออกไปที่อื่น เพราะสภาพชุมชนโดยส่วนมากผูกพันกับป่า ไม่มีเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพอย่างคนเมือง ซึ่งหากจะสภานิติบัญญัติ และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องต้องการผลักดัน จะต้องยกเลิกระเบียบหรือเกณฑ์ที่เข้าข่ายสนับสนุนประเด็นดังกล่าว

2 ที่ผ่านมาแม้มีกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้มากมาย แต่ปรากฏว่ามีช่องโหว่ทางกฎหมายหลายด้าน ทำให้เกิดการใช้อำนาจโดยมีชอบ ทางเครือข่ายภาคประชาชนเสนอมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นช่องโหว่อันสร้างความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่รัฐ

แฟ้มภาพ : สภาพป่าแม่ขาน ป่าต้นน้ำมที่ชุมชนร่วมอนุรักษ์
แฟ้มภาพ : สภาพป่าแม่ขาน ป่าต้นน้ำมที่ชุมชนร่วมอนุรักษ์

3 กรณีรัฐบาลอยากจะผลักดันพ.ร.บ.ป่าชุมชนต่อไปควรที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้กำหนดกรอบกฎหมายอย่างชัดเจนร่วมกับฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม หลังจากที่เครือข่ายเคยเสนอในรัฐบาลเก่าเมื่อปี 2547แล้วไม่เป็นผล

ทั้งนี้วาระสำคัญดังกล่าวที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดแต่ได้กำหนดแผนให้คณะอนุกรรมิการลงพื้นที่สำรวจสภาพชุมชนและป่าใน 8 จังหวัดภาคเหนือหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเพื่อศึกษาข้อมูลก่อนการผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับป่า ซึ่งหมายรวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร ตัวแทนภาคประชาชนในภาคเหนือกล่าวในระหว่างการประชุมว่า ความพยายามเพิ่มอำนาจของภาคประชาชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีการผลักดันมานานกว่า 20 ปี โดยภาคประชาชนมีความพยายามเสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน (ฉบับประชาชน) เพื่ออธิบายกับรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่การผลักดันกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ อีกทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเพียงการมีส่วนร่วมภายใต้เงื่อนไข ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดขอบเขตแห่งสิทธิหน้าที่ โครงสร้าง กลไก การแบ่งปันผลประโยชน์ และบทลงโทษที่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายการเมืองใช้อำนาจในการปกครองและเร่งผลักดันกฎหมายที่ขาดความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่จึงเกิดข้อกังวลหลายประการ

อย่างล่าสุดกรณีการทวงคืนผืนป่า ที่ทำส่วนมากในเขตชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนบทต่าง ๆ คือ ความล้มเหลวในการใช้กฎหมาย แต่กลับพบว่าปัจจุบันรัฐบาลยังมีความต้องการผลักดันกฎหมายที่ออกโดยกรมป่าไม้เป็นหลัก ทางเครือข่ายจึงเห็นว่าต้องทบทวนแผนการร่างกฎหมายอีกครั้ง โดยยืนยันขอใช้หลักการการมีส่วนร่วมจากชุมชนเช่นเดิม เพื่อให้เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเรื่องสิทธิชุมชน, สิทธิพลเมือง โดยปราศจากสาระที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเป็นภัยคุกคามต่อชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์

“ผมขอยกตัวอย่างกรณีการสำรวจข้อมูลของภาคประชาชนที่ยืนยันว่า คนอยู่กับป่าอย่างรับผิดชอบได้ เช่น กรณีพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือนั้นมีชุมชนสร้างบ้านเรือนอยู่ในเขตอนุรักษ์และมีที่ทำกินติดเขตอนุรักษ์มากกว่า 3,000 ชุมชน มีชุมชนที่มีบ้านเรือนนอกเขตอนุรักษ์แต่มีที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์มากกว่า 8,000 ชุมชน ล้วนแล้วแต่มีการจัดระบบป่าอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น โดยบางพื้นที่มีการแบ่งป่าเป็น ป่าใช้สอย เพื่อใช้ประโยชน์จากป่า มีโครงการหยุดหาของป่าชั่วคราว มีป่าอนุรักษ์ ป่าความเชื่อที่ชาวบ้านสร้างข้อตกลงร่วมกัน และมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านร่วมปกป้องเพื่ออาศัยทรัพยากรระยะยาว ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งจากการสำรวจแผนที่และพื้นที่ป่าในจังหวัดเชียงใหม่ของปี 2497 พบสภาพป่าธรรมชาติประมาณ 47 % ซึ่งช่วงนั้นประชาชนรุกที่กันมากมาย และไม่มีเกณฑ์การอยู่ร่วมกับป่า ส่งผลให้เกิดการสูญเสียป่าไปหลายส่วนแต่ปีปัจจุบันพบว่าหลังประชาชนเลือกรวมตัวเพื่ออนุรักษ์ป่า ออกกฎร่วมกันพบมีป่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 60 % สะท้อนว่าชาวบ้านมีศักยภาพในการจัดการป่าไม้ได้ดี” นายสรศักดิ์ กล่าว

นายสรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หากกฎหมายป่าออกไปโดยไม่คำนึงถึงความสามารถของประชาชนและขาดการมีส่วนร่วมไม่นานผู้มีอำนาจก็ใช้กฎหมายในทางที่ผิด จึงอยากให้กรรมาธิการทบทวนให้ดีก่อนผลักดัน ซึ่งภาคประชาชนยินดีจะให้ความร่วมมือในการนำเสนอข้อมูล และเชื่อมั่นว่า ดีกว่าแผนการอพยพคนออกจากเขตป่าหลายเท่า เพราะอย่างน้อยคนป่าใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเข้าใจ ย่อมได้ผลกว่าการผลักดันคนป่าเข้าเมืองเพราะนั่นอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจและสังคมแย่ลงเนื่องจากชุมชนในป่าถูกกดดันและบังคับให้ใช้ชีวิตแบบคนเมือง ภายใต้อำนาจของกฎหมาย และขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิพลเมือง

///////////////////

On Key

Related Posts

USIPแนะไทยชิงธงนำปราบปรามแหล่งอาชญากรรมริมเมย ชี้มีนาคมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่-จีนจับชิตู เชื่อแดนมังกรต้องการขยายอิทธิพลเปิดช่องให้รัฐบาลทหารพม่ากุมพื้นที่ ขณะที่ 32 เหยื่อชาวอินโดฯหนีข้ามแดนทะลักไทย

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2568 นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำRead More →

แหล่งอาชญากรรมริมเมยป่วนหลังถูกกดดันหนัก มาเฟียจีนพล่าน-ชักไม่มั่นใจกองกำลังกะเหรี่ยงเทา เตรียมฉวยจังหวะช่วงตรุษจีนกลับประเทศ แนะรัฐสบช่องเก็บข้อมูลแก๊งอาชญากร

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 แหล่งข่าวด้านความมั่นคงRead More →

ทัวร์จีนเมืองชายแดนป่วน นักท่องเที่ยวแดนมังกรหายไป 80% ผู้ประกอบการโอดกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกแทบเหี้ยน เผยโลกโซเชียลจีนกระหึ่มหวาดกลัวหนัก เชื่อคนหายนับแสนราย ตั้งคำถามทำไมช่วยไม่ได้เหมือน “ซิงซิง”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จาRead More →