เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)จัดสัมมนา “สิทธิชุมชนและสิทธิการพัฒนา : จากองค์ความรู้สู่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชนเข้าร่วมประมาณ 500 คน โดยมีศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. เป็นประธานงาน
ศ.ดร.อมรา กล่าวว่า ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญของโลก ที่นานาชาติกำลังเพ่งเล็งว่าเป็นภูมิภาคที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ทั้งที่หลายประเทศมีการลงนามในพันธะสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายด้าน โดยไทยนั้นมีการละเมิดสิทธิหลายด้าน อาทิ ด้านการค้ามนุษย์ การถูกปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทำให้นานาชาติลงโทษด้วยมาตรการกดดันทางสังคม เช่น เรื่องการไม่รับซื้อสินค้าที่เกิดการธุรกิจประมงในประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ประเทศไทยต้องก้าวข้ามเพื่อให้ทันต่อกระแสโลกทำให้กสม.ต้องทำหน้าที่หนักขึ้น เพื่อคืนสิทธิให้ประเทศไทยมีคุณภาพในการเคารพสิทธิชุมชน
หลังจากนั้นได้มีการนำเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ทำงานทั้งหมด 7 ประเด็น โดยดร.อาภา หวังเกียรติ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าวนำเสนอประเด็นที่1.เรื่องสิทธิชุมชนด้านอุตสาหกรรมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาอุตสาหกรรมที่คุกคามประชาชนมาโดยตลอด และหนักหน่วงมากขึ้น โดยนโยบายแทบทั้งหมดถูกกำหนดโดยรัฐบาลและทุน เช่น เรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่รัฐบาลเร่งรัดพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเร่งรัดเรื่องการวางประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานและอุตสาหกรรมของโลก ซึ่งอดีตนั้นประชาชนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารแต่ปัจจุบัน กสม.มีการเน้นเรื่องยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นและส่งเสริมการต่อสู้แยกย่อยตามลักษณะของโครงการอุตสาหกรรม เช่น กรณีแผนพลังงาน ที่มีการรุกที่ดินการเกษตรและพื้นที่อาหารของชุมชนเพื่อสร้างอุตสาหกรรมโดยเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทุนขนาดใหญ่แล้วมองข้ามประชาชน เช่น มาบตาพุด เราพบว่า ขยายตัวมากผ่านบ้านชาวบ้านหลายปี แต่ประชาชนเพิ่งมีไฟฟ้า น้ำประปาใช้ ส่วนภาคอื่น มีเหมืองแร่ มีโรงก๊าซ ยุทธศาสตร์ที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนเพราะความรู้ที่ล่าช้า
ดร.อาภา กล่าวว่า ดังนั้นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้ประชาชนมีสิทธิมากขึ้น คือ ลดอำนาจรัฐส่วนกลางกระจายอำนาจสู่ชุมชน พร้อมกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศที่บังคับว่าต้องสอดคล้องกับทรัพยากรและภูมินิเวศน์ของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น สตูล บอกว่าขอพัฒนาแหล่งท้องเที่ยวและประมงพื้นบ้านแทนท่าเรืออุตสาหกรรม
นางภารนี สวัสดิรักษ์ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าวในประเด็นที่2 กรณีผังเมืองกับการคุ้มครองสิทธิชุมชน ว่า เรื่องการพัฒนาผังเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ คือ การที่รัฐกำหนดแผนการรื้อถอนผังเมืองในพื้นที่สีเขียวเพื่อสร้างอุตสาหกรรม เช่น รื้อถอนผังเมืองอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการใช้ผังพัฒนาเมืองที่ทับซ้อนกับพื้นที่แหล่งอาหารในประเทศไทย ซึ่งล้วนทำลายชุมชนให้ต้องเผชิญกับทุกข์มากขึ้น ดังนั้นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาสิทธิด้านผังเมืองคือ ต้องปรับปรุงหน้าที่และนโยบายภาครัฐให้เปิดโอกาสแก่ชุมชนเข้าไปกำหนดผังเมืองตามลักษณะพื้นที่เพื่อคุ้มครองทรัพยากรของท้องถิ่นและสาธารณะ ไม่ใช้เพื่อทำลาย
นายสถิตพงศ์ สุดชูเกียรติ อนุกรรมการด้านที่ดินและป่า กล่าวนำเสนอประเด็นที่3 เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการแนวที่ดินรัฐว่า ตั้งแต่กสม.ชุดแรกตั้งขึ้นพบการร้องเรียนเกี่ยวกับที่ดินทั้งหมด 296 คำร้อง โดย 216 คำร้องเป็นเรื่องความขัดแย้งที่ดินป่าที่พบว่าไม่มีการปรับปรุงนโยบายการจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิอย่างแท้จริง ทั้งที่ในอดีตนั้น การประกาศเขตแดนของรัฐนั้นมีความผิดพลาดเรื่องการแบ่งพื้นที่จำนวนมาก ขณะที่รัฐธรรมมนูญปี 2540 แม้ว่าประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมเพื่อกระจายอำนาจจากรัฐ แต่รัฐยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ยังพบว่าประชาชนยังไม่ได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นอย่างเป็นรูปธรรม ข้อเสนอแนะสำคัญในเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การมุ่งปรับปรุงกฎหมายและนโยบาย 3 ด้าน คือ 1.เรื่องให้อำนาจประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแนวเขตที่ดินของรัฐแต่ละยุคสมัยป้องกันการอพยพโยกย้าย และ3.การกระจายอำนาจให้ประชาชนสามารถแก้ไขกฎหมายเพื่อเอามติกสม. ไปฟ้องศาล ได้กรณีที่รัฐ หรือหน่วยงานไม่ทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น
นางสาวสมพร เพ็งค่ำ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าวถึงประเด็นที่4 กรณีการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรแร่ว่า นับจากมี กสม.ประชาชนร้องเรียนเรื่องแร่ ทั้งหมด 45 คำร้อง โดยโรงโม่หิน ร้องเรียนสูงสุด ต่อมาเป็นเรื่องเหมืองแร่ทองคำ เหล็ก โพแทซ และตะกั่ว พบว่าที่ผ่านมาประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร เช่น การเปิดสัมปทานแร่แต่ละพื้นที่ และพบว่าที่ผ่านมากสม.รุ่น1เคยทำคำร้องให้ยุติแผนการเปิดสัมปทานแร่ที่ไม่ผ่านความเห็นประชาชนมาแล้ว แต่กลับไม่มีการปฏิบัติ ยังพบการปิดกั้นประชาชนเข้าร่วมเวทีสาธารณะในการทำประชาพิจารณ์ต่อเนื่อง ดังนั้นยุทธศาสตร์เรื่องนี้ คือ รื้อระบบการประชาพิจารณ์แร่แล้วให้ประชาชนร่วมตัดสินใจว่า ประเทศไทยต้องกำหนดแร่ให้เป็นทรัพยากรสาธารณะไม่ใช่ของรัฐ รวมทั้งรื้อระบบจัดการแร่ และปรับแก้กฎหมายที่ทันสมัยในการทำธุรกิจ ระบบสาธารณสุขรูปแบบเฉพาะในพื้นที่ปนเปื้อน และกฎหมายฟื้นฟูพื้นที่เป็นเปื้อน และยุทธศาสตร์ในการขอจัดการทรัพยากรเรืองเหมือง
ขณะที่นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ตัวแทนมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงประเด็นที่ 5 เรื่องยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาขยะ ว่า ปี2552-2557 มีเรื่องการร้องเรียนกรณีขยะทั้งหมด 25 เรื่องและพบว่าทุกวันนี้เป็นวาระแห่งชาติ หลังจากมีกรณีไฟไหม้บ่อขยะที่แพรกษา โดยพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระจุกตัวอยู่พื้นที่อุตสาหกรรม เช่น ระยอง พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ซึ่งพบว่าแม้ประเทศจะรับผลกระทบจากขยะมากมาย ทั้งขยะโดยตรง ขยะที่เกิดจากโรงงานหรืออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานขยะก็ตาม แต่ยังพบว่ารัฐไม่ได้กระตือรือร้นแก้ไขแต่กลับเร่งรัดเรื่องโร้ดแมปเร่งกำจัดขยะ ซึ่งส่วนมากเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมกำจัดขยะ ซึ่งเสี่ยงต่อการสร้างผลกระทบระยะยาว ข้อเสนอในปัญหานี้ คือ กสม.ต้องเร่งแก้ไขเรื่องการกำจัดขยะที่มีระบบและเป็นมาตรฐานสากล
ด้านผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน กล่าวถึงประเด็นที่6 เรื่องการจัดการพลังงาน ว่า ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการด้านพลังงานที่กระทบต่อชุมชน คือต้องกระตุ้นให้ภาคประชาชนเข้าใจการล้างมายาคติ เช่น การให้ข่าวว่ามีถ่านหินราคาถูก พลังงานแสงแดดไม่พอ สายส่งแพง ฯลฯ แล้วสร้างนโยบายพลังงานใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยเน้นที่การผลิตพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยต้องเร่งพัฒนาความเข้มแข็งในชุมชนให้รวมตัวกันเพื่อเสนอให้ไทยรื้อนโยบายในการผลิตพลังงานแก่ประชากร ป้องกันการผูกขาดของธุรกิจพลังงาน เน้นที่การเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ ของคนท้องถิ่นไม่ใช่ทุนนิยม
วส่วนดร.ศรีประภา เพชรมีศรี กล่าวถึงประเด็นที่7 กรณีธุรกิจกับสิทธิชุมชนว่า ปัจจุบันนั้นเรื่องการทำงานของรัฐในปัจจุบันมีการรองรับทุนนิยมอย่างเสรีและไร้ข้อจำกัด การทำหน้าที่ของทุนนั้นมีการเคลื่อนไหวและเติบโตอย่างรวดเร็วโดยรัฐและทุนทั้งในชาติและข้ามชาติ ขณะที่อำนาจประชาชนที่ด้อยอยู่แล้ว ก็ยิ่งด้อยลงไปอีก ความสัมพันธ์เชิงอำนาจก็ไม่เท่ากัน ดังนั้นเมื่อธุรกิจมีการเดินทางข้ามชาติ ไทยก็ต้องมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้หรือกำหนดนโยบายในการเปิดรับทุนข้ามชาติด้วย เพราะไม่มีประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าโดยมีเพียงแค่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่ต้องเคลื่อนไปพร้อมๆกับการเคารพสิทธิชุมชนด้วยโดยหากมีกลุ่มธุรกิจข้ามชาติละเมิดคนในชาติ ไทยต้องใช้กฎหมายนานาชาติหรือระหว่างประเทศมาลงโทษและรับผิดชอบต่อการกระทำ ด้วย
///////////////////////////