received_930907066952579

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดสัมนา “สิทธิชุมชนและสิทธิการพัฒนา : จากองค์ความรู้สู่ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์” ขึ้นเป็นวันที่ 2 โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชนเข้าร่วมประมาณ 500 คน

ทั้งนี้ช่วงเช้ามีการนำเสนอผลการรับฟังความเห็นจากการสัมนากลุ่มย่อยในวันแรก 7 ประเด็น และมีการร่วมกันแถลงข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ของภาคประชาชนต่อปัญหาการละเมิดสิทธิ์มนุษยชนและสิทธิชุมชนในด้านต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อ กสม. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่จะรวบรวมข้อเสนอเชิงยุทธศาตร์ทั้งหมดไปมอบให้กับรัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยมีข้อเสนอในประเด็นต่างๆ โดยสรุปดังนี้

1.เรื่องการปฏิรูประบบผังเมือง มีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งการกำหนดผังเมืองที่ขาดการมีส่วนร่วม และการกำหนดแผนและจัดทำโครงการที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนและชุมชน โดยเร่งปรับปรุงและบังคับใช้กฏหมายผังเมืองให้คุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนอย่างแท้จริง ปฏิรูปกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมืองทุกระดับ ประสานความร่วมมือกับชุมชน เครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วม รวมทั้งให้มีการเปิดเผยข้อมูลการตัดสินใจของคณะกรรมการผังเมืองข้อมูลประกอบการพิจารณาให้โปรงใส ตรวจสอบได้ในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ

2.เรื่องการจัดการของเสียอุตสาหกรรม เนื่องจากพบว่ากฏหมายที่ใช้ควบคุมและจัดการกากอุตสาหกรรมในปัจจุบันมีช่องโหว่และไม่ครอบคลุมหรือสอดคล้องต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง และให้มีการออกกฏกระทรวงภายใต้พระราชบัญญัตินั้นเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาและเสริมสร้างการบังคับใช้กฏหมายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งไทยยังขาดกฏหมายที่บังคับใช้เพื่อให้มีการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น จึงควรมีการบัญญัติกฏหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มีการทบทวนนโยบายและแนวทางจัดการขยะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

3.เรื่องการลงทุนความพรมแดนบนข้อห่วงใยในเรื่องความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสังคม ทั้งจากแม่น้ำ ป่าไม้ และที่ดิน โดยเฉพาะโครงการเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขง ลุ่มแม่น้ำสาละวิน โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า และโครงการปลูกอ้อยที่จังหวัดโอดอร์เมืยนเจย ประเทศกัมพูชา จึงมีข้อเสนอต่อภาคส่วนต่างๆ ดังนี้ ต่อรัฐบาล เรียกร้องให้มีการปรับปรุงกลไกและกฏหมายอันจะนำมาซึ่งการตรวจสอบการลงทุนข้ามพรมแดน ทั้งในประดับประเทศและร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีมาตรฐานการตรวจสอบที่ใกล้เคียงและใช้ร่วมกันเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิ์ ต่อกลุ่มทุน เรียกร้องความรับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูลการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และเรียกร้องให้กลุ่มทุนต้องยอมรับและให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบโดยใช้กลไกและกฏหมายที่มีอยู่ในระดับประเทศ และตามแนวทางสากล ต่อกลไกสิทธิมนุษยชนทั้งระดับประเทศและภูมิภาค เรียกร้องการทำงานที่ต่อเนื่อง และพัฒนาให้มีกฏหมายกำหนดเพื่อเอื้ออำนวยดำเนินการอย่างมีผลแก้ไขเยียวยาได้จริง โดยเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศและเชื่อมโยงกับกลไกระดับสากล

4.เรื่องการจัดการทรัพยากรเหมืองแร่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการทำเหมืองแร่ และมีบทเรียนการทำเหมือนอันเลวร้านหลายกรณี ทำให้ชุมชนไม่เชื่อมมั่นว่ากฏหมายระบ กลไก และมาตรการที่มีอยู่ จะเป็นหลักประกันที่คุ้มครองประชาชนจากผลกระทบที่รุนแรงได้ รวมถึงความหล้าหลังของกฏหมายเหมืองแร่ พ.ศ.2510 และร่างพระราชบัญัติแร่ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนกฏษฏีกาขณะนี้ มีหลักการที่จะนำไปสู่การซ้ำเติมปัญหาและกระหน่ำทำร้ายคนที่ได้รับผลกกระทบรุนแรงขึ้น อีกทั้งสังคมยังอ่อนแอปล่อยให้เกิดเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไร้พลังเรียกร้องความรับผิดชอบของรัฐและธุรกิจเหมือง จึงมีข้อเสนอว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในการจัดการทรัพยากรแร่นั้น จะต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาศักยภาพทางความรู้เพื่อสร้างความตระหนักของสาธารณะต่อความเป็นจริงของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ผูกขาดด้านความรู้ และอำนาจการจัดการไว้ที่นักเทคโนโลยี ทุน และรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ

5.การจัดการด้านพลังงาน นโยบายพลังงานของไทยที่ผ่านมานั้นทั้งภาคปิโตรเคมีและไฟฟ้า มุ่งเน้นเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลเป็นสำคัญ พร้อมกับการคุกคามต่อสุขภาพ และแหล่งเกษตรกรรม โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่ทั่วโลกยอมรับ จึงได้มีข้อเสนอต่อภาครัฐและภาคเอกชน ที่เชื่อว่าหากมีนโยบายภาคไฟฟ้าที่เหมาะสม ก็จะสามารถลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิลลงได้ ดังนี้ ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากด้วยอาทิตย์อย่างเต็มศักยภาพของเทคโนโลยี รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและสามารถป้อนไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ ต้องคิดต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลที่รวมถึงต้นทุนผลกระทบภายนอกทั้งทางตรงและทาง้อม เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะผลกระทบต่อการล่มสลายของชุมชน ใช้ระบบการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Net Metering ซึ่งไม่ได้ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เพราะไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้จะมีราคาเดียวกับที่การไฟฟ้าขายให้กับเจ้าของบ้าน สนับสนุนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานและผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองและเพื่อจำหน่าย ภาคประชาชนต้องร่วมขับเคลื่อนประเด็นพลังงานให้ปรากฏขึ้นจริง กสม.ชุดใหม่ ควรสานต่อและยกระดับพลังของเครือข่ายภาคประชาชนที่เดือดร้อนจากนโยบายพลังงานของรัฐ

6.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าโครงการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แต่ในข้อเท็จจริงพบว่า โครงการเหล่านี้เป็นการลงทุนจากการใช้จ่ายจากภาครัฐทั้งสิ้น และมีการหมุนเวียนของรายได้ในกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม ไม่ได้กระจายรายได้ถึงประชาชนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงเห้นว่าแนวทางดังกล่าวจะยิ่งนำประเทศไทยไปสู่การล่มสลายและเกิดการเลื่อมล้ำในสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงมีข้อเสนอดังนี้ ขอให้ทบทวนแผนการพัฒนาและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของประเทศทั้งหมด และให้รัฐบาลยึดหลักสากลในการจัดทำแผนบนฐานที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องให้มีการบรรจุเรื่องสิทธิชุมชนในตัวกฏหมาย ขอให้รัฐบาลจัดทำกฏหมายรับรองการใช้สิทธิชุมชนของประชาชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อยืนยันการมีอยู่ของสิทธิชุมชนในภาคปฏิบัติ

7.ด้านปัญหาที่ดินและป่าไม้ ภาคประชาชนมีข้อเสนอให้ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่า ที่ดินของรัฐอื่นๆ และการตัดฟันต้นยางของประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และไร้ที่ทำกินที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ตามคำสั่ง คสช. 66/2557 ให้มีการทบทวนแผนแม่บทการแก้ไขปัญหา การทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2553 เนื่องจากเป้นมติที่จำกัดสิทธิชุมชนและไม่นำไปสู่การแก้ปัยหาได้ ต้อมีการคุ้มครองสิทธิของชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ด้วยการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ ยกเลิกเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนกว่ารัฐจะจัดให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาและหลักประกัน ต้องแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินด้วยการใช้อัตราภาษีด้าวหน้า กองทุนธนาคาร และรับรองสิทชุมชนในการจัดการที่ดิน

นอกจากนี้ยังมีเพิ่มเติมด้านการจัดการทรัพยากรทะเล ชายฝั่ง และการประมง ชาวประมงขนาดเล็กหรือประมงพื้นบ้าน หรือชาวประมงในท้องถิ่น มักถูกละเมิดสิทธ์ในหลายรูปแบบ จึงมีข้อสเนอให้รัฐสนับสนุนการทำประมงขนาดเล็กอย่างยั่งยืน สนับสนุนให้ใช้แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรเชิงภูมินิเวศน์แบบมีส่วนร่วม รัฐควรให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการหยุดใช้เครื่องมือและวิธีการทำประมงที่ละเมิดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและทรัพยากร รัฐต้องระมัดระวังไม่ให้กระบวนการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อตอบสอนงการส่งออกต่างประเทศ จนเกิดผลกระทบต่อชาวประมงขนาดเล็ก และควรมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 ในประเด็นที่อาจเกิดผลกระทบแก่สิทธิของประชาชนโดยทั่วไป

นอกจากนี้ในเวที ยังมีการจัดวงเสวนาหัวข้อ “ก้าวต่อไปการคุ้มครองสิทธิในทรัพยากรของชุมชน” โดยมีนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วม ทั้งนี้ศ.ดร.สุริชัย หวั่นแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาประเทศให้ประเทศไทยมั่งคั่งยั่งยืน จะไม่มีความหมายใดๆ ถ้าให้ความสำคัญในเรื่องเงินเป็นหลัก โดยปราศจากการดูแลสภาพแวดล้อมและสุขภาวะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาด้วยการเคารพทุกชีวิตและมีกติการ่วมกันอย่างให้เกียรติกับทุกภาคส่วน โดยหากมองว่าเกียรติภูมิของประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงจำเป็นต้องร่วมกันสร้างความเจริญ โดยไม่ถูกมองว่าเป็นไทยเป็นประเทศที่ขโมยทรัพยากรจากประเทศอื่น โดยเฉพาะปัญหาการทำประมง ที่เราไม่เคยตระหนักเลยว่ามีการทำธุรกิจที่ไม่ตระหนักต่อคุณค่าของชีวิตมนุษย์และคุณค่าของทรัพยากรโดยไม่คำนึงถึงกติกาหรือต่ำมาตรฐานที่สากลยอมรับได้ ในอนาคตจึงจำเป็นต้องปฏิรูปและพัฒนาธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในทุกภาคส่วน

ศ.ดร.สุริชัย กล่าวต่อว่า งานด้านสิทธิมนุษยชนยังมีพื้นที่ไม่มากในสังคมไทย หน้าที่ของทุกคนจึงควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องสิทธิมนุษยชนขยายออกไป โดยเฉพาะภาวะที่บ้านเมืองมีการต่อสู้ทางการเมือง จึงต้องเร่งพัฒนาของการเรียกร้องของพวกเราให้ไปไกลกว่าการแพ้ชนะทางการเมือง เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชน ซึ่งเราจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในการพัฒนา ที่เป็นไปตามหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ถ้าไม่เช่นนั้นประชาชนจะตกไปอยู่ในวิบากกรรมเช่นเดิม ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดในวันนี้จะเป็นต้นน้ำที่นำให้ทิศทางประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน

ขณะที่นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ บุตรชายพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สิ่งที่ร่วมกันเรียกร้องในวันนี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น เนื่องจากคิดว่าปัจจุบันประเทศไทย อาเซียน และจีนกำลังมุ่งมั่นพัฒนาในแนวทางทุนนิยมสามานย์ ที่ไม่มีความแตกต่างกันทุกยุคสมัย ไม่ว่าจะรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทุนใหญ่เหล่านี้กำลังครอบงำประเทศชาติอย่างสิ้นเชิง การมาร่วมเรียกร้องในทุกประเด็นในวันนี้ล้วนเป็นปัญหาที่มาจากทุนทั้งสิ้น วันนี้รัฐบาลสนับสนุนทุนในทุกระดับตั้งแต่ศูนย์กลางไปจนถึงระดับท้องถิ่นจนละเมิดสิทธิ์ไม่ใช่แต่ชาวนาหรือชาวประมงแล้ว แม้แต่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ภาคใต้ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เขื่อนขนาดใหญ่ จนไปถึงโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงขณะนี้รัฐจำเป็นต้องฟังสิ่งที่พวกเรากำลังเรียกร้อง ไม่เช่นนั้นไม่ควรเป็นรัฐบาลอีกต่อไป ข้าราชการแทนที่จะเป็นตัวแทนดูแลความเดือนร้อนของประชาชนกลับเข้าไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริษัทเอกชนหลายแห่งเพื่อออกนโยบายธุรกิจที่กดขี่ประชาชน

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ขอยกสำนวนอีสานที่ว่า ขณะนี้ประชาชนยังอยู่กับความยากจน และต้องประสบกับผลกระทบด้านต่างๆ การต่อสู้ของชาวบ้านล้วนมีปัญหามากมาย แม้การต่อสู้บางครั้งยังไม่ชนะ แต่บางหนได้รับชัยชนะมาแล้ว เช่น การต่อสู้ของชาวประจวบคีรีขันธ์ที่ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2โรงต้องยกเลิกไป เขื่อนปากชุม เขื่อนบ้านกุมที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขง ชาวบ้านอุบลราชธานีก็มีชัยชนะ ผมจึงขอพูดเพื่อเป็นกำลังใจว่า การต่อสู้ไม่ได้มีแต่ความท้อแท้ที่ลำเค็ญในทุกเรื่อง ไม่ว่าการต่อสู้ไหนเราต้องอยู่ข้างความเป็นธรรม แม้วันนี้อาจไม่ชนะ แต่วันหน้าต้องชนะ จึงต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และสนับสนุนทุกประเด็นปัญหาที่ทุกคนร่วมกันเสนอในวันนี้

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดกระบวนการมีส่วนร่วมหนึ่งวันครึ่งที่ผ่านมาจนมีข้อสรุป ถือเป็นภาระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะต้องรวบรวมข้อมูลจากปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามานับร้อยกรณี นำเสนอเชิงนโยบาย และเชิงการแก้ไขกฏหมายต่อรัฐบาล ว่าแนวทางการพัฒนาปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะดำเนินการอย่างไร หรือจำเป็นจะต้องมีกฏหมายจัดการเหมืองแร่ กฏมายพลังงาน เป็นต้น โดยสิ่งสำคัญต้องการให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน และเสนอว่าควรมีการติดตามสถานการณ์ในประเด็นต่างๆ ต่อไปตามหน้าที่ของพลเมือง

“แม้ว่าขณะนี้อาจทำให้คนที่ออกมาเรียกร้องถูกปิดกั้นหรือถูฏบิดเบือน แต่ถ้าไม่ต่อสู้ย่อมคือการยอมแพ้ ถ้าแพ้ก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่ ลูกหลานท่านก็จะไม่มีแผ่นดินอยู่เหมือนกัน ฉะนั้น ถึงยุคทีทุกคนต้องยอมรับความเห็นต่าง และมีกระบวนการจัดากรความขัดแย้ง ซี่งเป็นสิ่งสำคัญในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นการปรองดองสมานฉันท์อย่างแท้จริง ที่จะก้าวข้าวความขัดแย้งทางการเมมือง ซึ่งเราเป็นตัวจริงที่ต้องต่อสู้ทำให้เห็นตามแนวทางประชาธิปไตยให้ได้” นพ.นิรันดร์ กล่าว
————–

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.