เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่โรงแรมแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) จัดเวทีสัมมนาเรื่อง ความเป็นอิสระกองทุนประกันสังคม : ทิศทาง ยุทธศาสตร์และความเป็นไปได้โดยมีนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพคนที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวปาฐกถาหัวนำการเสวนา ว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจากต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นเมื่อสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนจำนวนมากเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมทั้งในและนอกระบบ แต่แรงงานกลับถูกเอาเปรียบทุกมิติเพราะช่วงนั้นยังไม่มีนโยบายประกันสังคม เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ เกรงว่าค่าใช้จ่ายสูง ไม่จูงใจนักลงทุน แรงงานจึงรวมตัวกันประท้วงรัฐบาลให้มีการมอบสวัสดิการและมีกรมประกันสังคมที่ดำเนินการอย่างไม่มีกรอบ กฎเกณฑ์ ต่อเนื่องมากจนถึงยุครัฐบาลต่อมา โดยอำนาจบริหารส่วนมากเป็นของรัฐส่งผลให้ในยุคปัจจุบันประกันสังคมถูกคอรัปชั่นไปหลายล้านบาท และด้วยเหตุนี้ประกันสังคมจึงจำเป็นต้องมีความเป็นอิสระเหมือนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมในฐานะบริการด้านสุขภาพ ไม่ใช่ระบบสงเคราะห์สุขภาพ แต่ถูกปฏิเสธในกรณีเกิดโรคร้ายเพราะค่าใช้จ่ายสูง โดยหลักการประกันสังคมต้องส่งเสริมสิทธิการเป็นพลเมือง ในฐานะประชาชนที่เสียภาษี
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยจากมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า มีความจำเป็นหลายประการที่สำนักงานประกันสังคม (สปส) ต้องเป็นอิสระ โดยประเด็นแรก คือ การมีกองทุนขนาดใหญ่มีเงินกว่า 1.2 ล้านล้านบาทและเป็นเงินที่ไม่ใช่ภาษีอย่างเดียว แต่มีผู้ประกันตนกว่า 14 ล้านคนและมีนายจ้างกว่า 4 แสนคน ร่วมสมทบ และยังมีเงินกองทุนชราภาพอีกมากถึงร้อยละ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกันตน ดังนั้นจึงไม่ควรให้เพียงกระทรวงแรงงาน บริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องกระจายอำนาจโครงสร้างบริหารที่สร้างความสะดวกและคล่องตัว
นายอนันตชัย คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ความเป็นเอกภาพของ สปส.นั้นไม่มีเลย ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจเต็มที่เพราะเครือข่ายที่ทำงานประกันสังคมไม่มีความเป็นปึกแผ่น ดังนั้นหากมีการยกตัวเป็นอิสระ เป็นองค์กรมหาชนจะช่วยให้ สปส.มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น โดยหากคณะกรรมการไม่ทำตามนโยบายหรือเป้าหมายก็มีการปรับเปลี่ยนได้ตามที่ประชุมคณะกรรมการ โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจการเมืองและข้าราชการ เป็นไปได้ว่า การบริหารเงินในกองทุนจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนได้สูงสุด ซึ่งหากมีการเพิ่มสวัสดิการเชิงรุกก็จะช่วยให้มีเงินเหลือจากการรักษาสุขภาพมากขึ้น ช่วยเหลือลูกจ้างให้มีสุขภาพที่มั่นคงและโรงพยาบาลเองก็จะไม่ต้องแบกรับภาระรักษาที่ล้นหรือเกินงบประมาณ ดังนั้นองค์กรมหาชนหรือความเป็นอิสระจึงเป็นทางเลือกทีดีแก่ สปส.สร้างความยุติธรรมแก่ลูกจ้าง นายจ้าง
“การบริหารภายใต้ราชการ รัฐบาลหวงเงิน สปส.เองจะรู้สึกเป็นเจ้าของเงิน การอนุมัติลำบาก เช่น เบิกยาไม่ได้ ผ่าตัดไม่ได้ โรคร้ายต้องมีข้อจำกัดในการเบิกจ่าย จะสร้างผลกระทบต่อคนป่วยมากกว่าประโยชน์ อีกทั้งความโปร่งใสก็จะมีมากขึ้นเพราะมีผลประโยชน์ส่วนเกินตกแก่ลูกจ้าง” นายอนันตชัย กล่าว
ด้านนายไพสิฐ พาณิชย์กุล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนักวิชาการที่วิเคราะห์แนวทางความเป็นอิสระของระบบประกันสังคม กล่าวว่า การพัฒนาระบบประกันสังคมในประเทศไทยให้เป็นอิสระจะสร้างโอกาสแก่แรงงานในยุคการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี อย่างมาก เพราะมีแรงงานที่หลากหลาย ทั้งไทยและต่างชาติ โอกาสที่ไทยจะมีผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น มีนายจ้างร่วมจ่ายสมทบมากขึ้นเป็นไปได้สูง แสดงว่ากองทุนประกันสังคมจะมีงบประมาณสูงขึ้นตามไปด้วยดังนั้นต้องเร่งผลักดันให้เกิดการบริหารที่อิสระ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ไทยจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันสังคมปี 2533 แต่ก็ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายราชการมาโดยตลอด ทำให้เกิดช่องทางการแสวงหาผลประโยชน์จากฝ่ายบริหารมาโดยตลอด สูญเสียเงินในกองทุนจำนวนมากเพราะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ไทยจึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้ สปส.เป็นอิสระ ที่สร้างกฎหมายมาเพื่อก่อประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่ผู้บริหารกองทุน
ขณะที่ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการเป็นองค์กรอิสระที่ดีนั้นแนะนำว่าต้องมีการตั้งคณะกรรมการที่ไม่สังกัดกระทรวงแรงงาน และไม่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ เพื่อการบริหารงานที่คล่องตัว โดยหากมีการแยกตัวเป็นอิสระแล้วอาจบริหารเงินกองทุนและบุคคล โดยออกกฎหมายภายในเพื่อใช้บังคับได้ ภายในองค์กรเอง อาจจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุน และแยกดำเนินการด้านการลงทุนโดยมีผู้อำนวยการเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบและประเมินผล ภายในหน่วยงานเอง เพื่อความโปร่งใส โดยมีส่วนร่วมทั้งเลขา สปส. ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนหน่วยงานลูกจ้าง นายจ้าง เข้ามาเป็นกรรมการร่วม เพื่อร่วมพิจารณาบริหารและร่วมออกระเบียบต่างๆ ที่มีมาตรฐาน
นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า ประกันสังคมวันนี้ต้องออกนอกระบบ เพราะที่ผ่านมาที่ตนได้นั่งอยู่ในคณะกรรมการมานานกว่า 7 ปี เห็นปัญหามามาก ปัญหาใหญ่ที่สุด คือ มีเงินค้างในกองทุนนับแสนล้าน แต่ยังไม่มีที่จะลงงบประมาณ ดังนั้นการออกนอกระบบเป็นเรื่องที่ควรทำ แม้จะดำเนินการช้าทีละส่วนก็ต้องลองทำ อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้แผนยุทธศาสตร์ของประกันสังคม 5 ปีมีการพูดคุยประชุมวางแผนแล้วแต่ เรื่องการแยกองค์กรเป็นอิสระไม่มีในแผน
ขณะที่ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า จากงานวิจัยปี 2551 พบปัญหาใน สปส.หลายข้อที่สำคัญโดยตนขอเสนอทางออกในการปฏิรูปประกันสังคมที่พอจะเป็นไปได้ตามที่วิเคราะห์ อาทิ 1. การแทรกแวงทางการเมือง ซึ่งหากมีการแยกตัวเป็นอิสระนั้นจะช่วยให้ลดปัญหาการแทรกแซงทางการเมืองได้ 2. เรื่องการขาดกรรมการ สปส.ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ 3. เรื่องการขาดอัตรากำลังคนและความไม่คล่องตัวในการปรับโครงสร้างภายในองค์กร เพราะขณะนี้บุคลากรอยู่ในสังกัดสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพร.) ซึ่งมักมีอำนาจเบ็ดเสร็จและสรรหามายากเพราะมีการคัดบุคคลในปริมาณจำกัด หากมีความเป็นเอกเทศน์จะเพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น 4. ความไม่คล่องตัวในการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้องค์กรมหาชนหรือองค์กรอิสระจะช่วยให้กระบวนการนี้ง่ายขึ้นและตรงประเด็น 5. โอกาสความก้าวหน้าของพนักงานใน สปส.ปัจจุบันนั้นจะมีความยากลำบาก เพราะอำนาจขึ้นตรงกับข้าราชการ อาจมีการเลือกข้าง หรือแทรกแซงจากฝ่ายอาวุโส ไม่มีความก้าวหน้าตามการปฏิบัติงานจริง หากเป็นองค์กรอิสระจะมีอัตราการตอบแทนที่จ่ายตามจริง ตามความสามารถ เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ 6. ระบบกันสังคมปัจจุบันขาดการประเมินผลงานที่ดี ทำงานผ่านไปวันๆ การประเมินก็ทำได้ยากเพราะเมื่อเป็นข้าราชการแล้วจะยั่งยืน บางคนไม่มีแรงจูงใจพัฒนาความสามารถเพราะสวัสดิการและอำนาจนั้นจำกัด มองงานในแง่ลบ และมองผ่านหลักการประเมินแบบเลือกข้าง หากมีการเปลี่ยนระบบบริหารจะช่วยให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดี เพราะมีการตรวจสอบการทำงานตามสภาพจริง ไม่มีอำนาจเบื้องหลังคอยจัดการ
//////////////////////////
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.