Search

ศึกษาเปรียบเทียบลำน้ำแม่ปิง-แม่แจ่ม ชาวแม่แจ่มรอดภัยแล้งเหตุร่วมกันดูแลป่าต้นน้ำ แม่ปิงแห้งขอดเพราะป่าถูกทำลายเหี้ยน

received_944951045548181
น้ำแม่แจ่มยังมีปริมาณมากเพราะชาวบ้านร่วมกันดูแลป่าต้นน้ำ

เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2558 นายสมเกียรติ มีธรรม ผู้อำนวยการสถาบันอ้อผะหญา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แม้ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำของแม่น้ำแจ่มจะลดลงต่ำกว่าระดับปกติ จนบางช่วงเวลาอาจจะมีน้ำน้อยบ้าง แต่ยังคงมีน้ำไหลต่อเนื่องไม่เคยขาด ขณะนี้ภาพรวมถือว่าน้ำยังมีเพียงสำหรับการอุปโภคและการเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งจะแตกต่างจากลำน้ำสาขาอื่นๆ ของแม่น้ำปิงที่กำลังขาดน้ำอย่างหนัก เนื่องจากในพื้นที่ต้นน้ำยังมีป่าที่สมบูรณ์ และชาวบ้านมีการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบเหมืองฝายขนาดเล็กที่มีการจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม ทำให้สามารถผันน้ำเข้าพื้นที่นาข้าวได้โดยไม่กระทบต่อชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำลงไป

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่อำเภอแม่แจ่มในขณะนี้คือ อ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ที่มีอยู่จำนวน 6 อ่าง แต่กลับใช้กักเก็บน้ำได้จริงเพียง 1 อ่างเท่านั้น เนื่องจากไม่มีฝนตกลงไปเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำเลย ซึ่งหากไปดูที่หน้าอ่างเก็บน้ำจะเห็นเป็นพื้นที่เตียนโล่ง ไม่สามารถระบายน้ำออกมาได้เลย ซึ่งการบริหารจัดการน้ำที่ล้มเหลวเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในยามแล้งได้เลย เพราะปัจจุบันผู้ถือกุญแจประตูน้ำนั้น บางแห่งถือโดยเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน แต่บางแห่งกุญแจไปอยู่กับผู้ใหญ่บ้าน และไม่มีระบบการเปิด-ปิดประตูน้ำที่เหมาะสม ทำให้น้ำถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้อ่างเก็บน้ำแห้งสนิทในขณะนี้

ลำน้ำปิงแห้งขอดเพราะป่าต้นน้ำถูกทำลายกลายเป็นไร่ข้าวโพดและสวนเกษตร
ลำน้ำปิงแห้งขอดเพราะป่าต้นน้ำถูกทำลายกลายเป็นไร่ข้าวโพดและสวนเกษตร

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า หากมองไปยังลำน้ำสาขาต่างๆ ของแม่น้ำปิงทั้งหมด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ไหลลงเขื่อนภูมิพลนั้น จะพบว่าปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำปิงร้อยละ 40 มาจากลุ่มน้ำแม่แจ่ม และเป็นร้อยละ 16 ของน้ำที่ไหลไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นป่าต้นน้ำที่อำเภอแม่แจ่ม จึงถือเป็นต้นน้ำที่มีความสำคัญอย่างมากของประเทศไทย และเมื่อเกิดภัยแล้งขึ้น รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญต่อนโยบายการดูแลรักษาแหล่งต้นน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างยั่งยืนแทนการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

ขณะที่นายจงกล โนจา ชาวบ้านแควมะกอก และอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ขณะนี้แม่น้ำปิงที่ไหลผ่าน ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ตกอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากระดับน้ำหลายช่วงแห้งลงจนแม่น้ำปิงขาดสายนานเกือบหนึ่งเดือน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องอาศัยสูบน้ำจากแอ่งลึกที่ขังอยู่ในแม่น้ำ หรือน้ำบาดาลเพื่ออุปโภค

“ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นแม่น้ำปิงแห้งถึงขนาดมดสามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ บางช่วงแห้งสนิท บางช่วงไหลเอื่อย ก่อนหน้านี้ผมนึกว่าฮอดแล้งแล้ว แต่มาเจอที่สบเตี๊ยะถือว่าลำบากมาก ยังดีที่ฮอดพอจะมีน้ำจากแม่แจ่มช่วยเติมมาบ้าง” นายจงกล กล่าว

นายจงกลกล่าวต่อว่า แม้ฝนทิ้งช่วงจะเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น แต่เมื่อมองไปที่แหล่งต้นน้ำเหนือเขื่อนภูมิพล จะพบว่าแม่น้ำแจ่ม และลำน้ำสาขาที่มาจากอำเภอแม่แจ่มนั้น ยังคงมีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำปิง แต่ขณะเดียวกันแม่น้ำปิงที่ไหลมาจากจังหวัดเชียงใหม่กลับมีปริมาณน้ำไหลผ่านน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะต้นน้ำแม่แจ่มที่จะลงสู่แม่น้ำปิงมีระยะทางไม่ไกล และยังมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าต้นน้ำ ส่วนต้นแม่น้ำปิงที่มาจากเชียงดาวนั้น กว่าจะไหลมาถึงอำเภอฮอด ต้องถูกผันน้ำไปใช้ในการเกษตรและใช้สำหรับเมืองเชียงใหม่อย่างมหาศาล แต่กลับไม่มีผืนป่าที่คอยซับน้ำไว้

นายจงกล กล่าวอีกว่า สังคมไทยยังไม่มองเรื่องภัยแล้งว่าเป็นปัญหาร่วมของทุกคน เมื่อไม่มีแหล่งต้นน้ำ ย่อมไม่มีน้ำลงไปสู่เขื่อน การแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ต้นน้ำเหนือเขื่อน หากยังไม่เร่งสร้างแหล่งน้ำและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ในอนาคตปัญหาภัยแล้งจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจากบทเรียนที่เราได้รับยิ่งทำให้ไม่เห็นด้วยหากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม เพราะถือเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำปิง

“หากปัญหารุนแรงขึ้นทุกปี ประชาชนก็ต้องแย่งกันสูบน้ำจากแม่น้ำปิง เมื่อสูบจนแห้งก็ต้องขุดบ่อบาดาล ซึ่งการนำน้ำใต้ดินมาใช้มากเกินไปก็จะเกิดผลกระทบตามมา จึงอยากให้คนใต้เขื่อนมองให้ถึงแหล่งต้นน้ำด้วยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น” นายจงกลกล่าว

ทั้งนี้หมู่บ้านดงดำเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ด้านเหนือของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยชาวบ้านทั้งหมดถูกอพยพจากที่เดิมเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลในปี 2507 โดยชุมชนยังคงประสบปัญหาที่ดินทำกินเนื่องจากได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำขึ้น-น้ำลงเนื่องจากการเก็บกักหรือระบายน้ำโดยไม่มีการแจ้งชาวบ้าน

////////////////////////////

On Key

Related Posts

กระบอกเสียง SAC แฉแหล่งอาชญากรรมเมืองเมียวดีใช้ไฟฟ้า-อินเตอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน-ติดต่อกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ เผยรัฐบาลทหารพม่าปราบจริงจังส่งกลับชาวต่างชาติแล้วกว่า 5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 หนังสือพิมพ์ The GlobalRead More →

หวั่นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “แก่งคุดคู้”-“พันโขดแสนไคร้”รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนสานะคามกั้นแม่น้ำโขง ชาวอุบลโวยถูกกีดกันเข้าร่วมเวทีรับฟัง  เลขาสทนช.แจงกลัวเสียภาพลักษณ์ เครือข่ายภาคประชาชนจวกใช้วิธีสกปรก

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ณ ห้Read More →