ผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ถือเป็นกลุ่ม ผู้สูงอายุที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะ ผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ห่างไกลจากศูนย์กลางบริการของรัฐ ถูกกันออกจากสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ด้วยไม่มีหลักฐานแสดงความเป็นคนไทย ทั้งที่ตั้งรกรากในไทยมานานกว่า 30-40 ปี สืบสกุลลูกหลานถึง 2-3 รุ่น
สำนักงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย และ จ.เชียงราย เป็นกระบอกเสียงให้คนเฒ่าชายขอบอีกครั้ง
ด้วยการจัดงานผู้เฒ่าไร้สัญชาติครั้งที่ 4 ใช้ลานใต้ต้นไม้ใหญ่กลางสำนักงาน พชภ. ที่บ้านป่าคาสุขใจ ม.5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เปิดเวทีเสวนาระหว่างตัวแทนผู้เฒ่าไร้รัฐ ไร้สัญชาติใน อ.แม่ฟ้าหลวง ฝ่ายปกครอง เครือข่ายสิทธิสถานะ จ.เชียงราย นักกฎหมาย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เพื่อระดมความเห็น หาทางออกให้ผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ อาข่า เมี่ยน ลีซู ลาหู่ จีนยูนนาน ไทลื้อ ไทยใหญ่ ขมุ ม้ง คนเมืองล้านนา คนเชื้อสายลาว และปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่ใน จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งประสบปัญหาสถานะทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตอำเภอ และไม่มีสิทธิ์เข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐในฐานะพลเมืองไทยได้
นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ ครูแดง กรรมการผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา พชภ. ในฐานะผู้บุกเบิกงานด้านคนเฒ่าไร้สัญชาติ พาลงพื้นที่หมู่บ้านหล่อโย บนดอยแม่สลอง ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย พื้นที่สูง 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลที่มีบรรดาผู้เฒ่าไร้สัญชาติถึง 40 คน
ครูแดงบอกเล่าที่มาของ พชภ. และจุดเริ่มต้นการช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติว่า เมื่อพ.ศ.2527 หมู่บ้านหล่อโยไม่มีไฟฟ้าและระบบประปาไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการสำรวจทะเบียนราษฎร ชาวบ้านรู้สึกโดดเดี่ยวจึงประสานหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ ที่สามีของครูแดงทำงานอยู่ ว่าอยากให้มีเจ้าหน้าที่และครูเข้ามาสอนหนังสือ
ครูแดงในฐานะที่ทำงานอาสาสมัครมานานจึงก่อตั้ง พชภ. ขึ้นในปีพ.ศ.2528 นำทีมงานสำรวจพื้นที่ชุมชนชายแดน 20 หมู่บ้าน กระทั่งรัฐส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจทะเบียนราษฎรครั้งแรกช่วงปีพ.ศ.2528-2530 การสำรวจทะเบียนราษฎรขณะนั้นชาวบ้านพูดภาษาไทยไม่ได้ ส่วนใหญ่จึงบอกว่าตัวเองเกิดในประเทศพม่า ขณะที่คนที่เกิดในไทยจริงและพูดได้ว่าตัวเองเกิดในไทยมีน้อยมาก
ต่อมาเมื่อมีกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการสังคม เช่น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดนิยามผู้สูงอายุว่า คือ ผู้มีอายุ 60 ปี ที่มีสัญชาติไทย ผู้เฒ่าที่เดิมเคยรู้สึกว่าการมีบัตรไม่ใช่เรื่องสำคัญ จึงเริ่มรู้สึกเดือดร้อน เพราะได้รับผลกระทบด้านสิทธิ ที่จะเดินทางออกนอกพื้นที่ สิทธิเลือกตั้ง สิทธิในพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ การได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ และสวัสดิการอื่นๆ
พ่อเฒ่าอาโละ เชอมือกู่ อายุ 66 ปี หนึ่งในผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ชาติพันธุ์อาข่า เล่าว่าสมัยก่อนทำงานเป็นลูกหาบอยู่แถวชายแดนไทย-พม่า ไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ประเทศใด แต่การทำงานกับทหารไทยใหญ่ทำให้ชีวิตไม่มั่นคง เมื่ออายุ 15 ปี จึงพาครอบครัวตามญาติพี่น้องมาอยู่ที่บ้านพญาไพร ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง ก่อนย้ายมาอยู่ที่บ้านหล่อโยแห่งนี้
ปักหลักมานาน 33 ปี อยู่กับ นางมีโอ เชอมือกู่ อายุ 62 ปี ภรรยา มีลูกด้วยกัน 6 คน ลูกทุกคนได้สัญชาติไทยหมด แต่งงานและแยกย้ายกันไปทำงานหลายที่
“การไม่มีบัตรประชาชนทำให้เดินทางลำบาก เวลามีงานบุญงานแต่งของญาติพี่น้องที่อยู่ต่างจังหวัดก็ไปไม่ได้ ต้องอยู่แต่ใน อ.แม่จันเท่านั้น แม้แต่ จ.เชียงใหม่ ที่อยู่ใกล้ๆ ก็ยังไม่เคยไปอยากได้สัญชาติแต่ไม่รู้จะไปที่ไหน กระทั่งมี พชภ.เข้ามาช่วยดำเนินการขอสัญชาติ ซึ่งก็ทำมานาน 20 ปีแล้ว แม้ยังไม่สำเร็จ แต่หวังว่าในช่วงชีวิตที่เหลือ วันหนึ่งจะได้มีบัตรประชาชนและเป็นคนไทย” พ่อเฒ่าอาโละ เล่าอย่างมีความหวัง
นายอริยะ เพ็ชร์สาคร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พชภ. บอกว่าในการสำรวจปี 2533-2534 คนในพื้นที่จะได้รับบัตรคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและถูกจัดประเภทเป็นบุคคลบนพื้นที่สูงจะได้รับบัตรขึ้นต้นด้วยเลข 6 แต่อย่างกรณีของนายอาโละ มีสิทธิ์ที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว มีชื่อในทะเบียนบ้านเล่มสีเหลือง (ของคนไทยเป็นเล่มสีน้ำเงิน)
ปัจจุบันนายอาโละสามารถขอพัฒนาสถานะได้เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิ์อาศัยถาวรในประเทศใทย ซึ่งจะได้บัตรขึ้นต้นด้วยเลข 8 มีชื่อในทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงิน และจะมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นเหมือนพาสปอร์ตในความเข้าใจของชาวบ้าน
อีกด้านหนึ่งที่หมู่บ้านป่าคาสุขใจ ม.5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง ผู้เฒ่าไร้สัญชาติส่วนใหญ่ถือใบสำคัญคนต่างด้าว และใบถิ่นที่อยู่อาศัย กำลังรอกระบวนการแปลงสัญชาติ ครูแดงบอกว่ายากมาก เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.สัญชาติ มาตรา 10 ที่ระบุให้ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสัญชาติต้องมีอาชีพเป็นหลักฐาน และต้องสื่อสารเป็นภาษาไทย
ในขณะที่ผู้เฒ่าเหล่านี้ทำไร่ รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และไม่มีความสามารถสื่อสารภาษาไทย แม้ว่าจะอยู่ในประเทศไทยมาค่อนชีวิตแล้วก็ตาม
ครูแดงเผยว่าอีกกรณีคือผู้ตกหล่นทางทะเบียน ฝ่ายปกครอง อ.แม่จัน และอ.แม่ฟ้าหลวง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอำเภอในเขตชายแดนมีการอพยพตลอดเวลา หากเปิดให้ทำบัตรผู้ตกหล่นทางทะเบียน เป็นไปได้ว่าจะมีคนหลั่งไหลเข้ามาเป็นพันเป็นหมื่นคน ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงจะทำบัตรให้เฉพาะบุคคลตกหล่นที่อยู่ในไทยมานาน และมีการรับรองโดยองค์กรภาคประชาสังคม
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น กรณีของนางหมี่หน่อง บูเล่กู่ หรือ อาผี่หมี่หน่อง แม่เฒ่าชาติพันธุ์อาข่า อายุ 95 ปี อาศัยที่บ้านป่าคาสุขใจมานาน แต่ยังไม่ได้รับหลักฐานระบุสถานะใดๆ รวมทั้งลูก 6 คน และหลาน 15 คน ก็ยังไม่ได้รับสิทธิ์ทางทะเบียนเป็นสัญชาติไทยด้วยเช่นกัน
อาผี่หมี่หน่อง พูดภาษาไทยไม่ได้ แต่เล่าถึงชีวิตในวัยหนุ่มสาวผ่านล่ามว่า เกิดในประเทศพม่า จำได้แต่ว่าเข้ามาในประเทศไทยตอนอายุ 52 ปี ได้ยินคนพูดกันว่าอยู่ประเทศไทยสบาย ทำมาหากินง่าย
เมื่อสามีเสียชีวิตจึงเดินเท้าเข้าประเทศไทยพร้อมลูก 6 คน เมื่อราวพ.ศ.2505 อาศัยอยู่ที่บ้านเจียงจาใส ม.11 ต.แม่สลองนอก 1 ปี และอาศัยที่บ้านป่าคาสุขใจ โดยไม่ได้ย้ายถิ่นฐานอีกรวมเวลาประมาณ 40 ปี ส่วนเรื่องบัตรประชาชน ทั้งตัวเองและลูกหลานไม่เห็นความจำเป็น จึงตกหล่นทางทะเบียนมาตลอด แต่ก็หวังว่าก่อนตายจะได้บัตรประชาชนคนไทยเป็นของตัวเอง
ในโอกาสจัดงานผู้เฒ่าไร้สัญชาติปีนี้ ฝันของอาผี่หมี่หน่องเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง หลังจากมีการสำรวจทั้งพยานหลักฐานและพยานบุคคลหลายครั้ง ทำให้อาผี่หมี่หน่อง ผู้เฒ่าคนสำคัญของหมู่บ้านได้รับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติ 13 หลัก พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการขอแปลงสัญชาติไทยต่อไป
สําหรับประเภทของคนไร้สัญชาติมี 3 ประเภท คือ 1.ตกหล่นไม่เคยถูกสำรวจ 2.กลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัว 13 หลัก นำหน้าด้วยเลข 0 กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ และ 3.มีบัตรประจำตัวผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย มีเลขบัตรนำหน้าด้วยเลข 6
โดยพชภ.สรุปข้อมูลจำนวนผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค. พบว่ามีผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติใน จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน 1,217 คน แบ่งเป็นผู้เฒ่าตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร 126 คน ผู้เฒ่าถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลข 0) 209 คน ผู้เฒ่าขอสถานะเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (บัตรเลข 6) 569 คน และผู้เฒ่าถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (รอแปลงสัญชาติ) 313 คน
ครูแดง ร่วมกับทีมงาน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการด้านกฎหมาย เสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหานี้ โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งทำโครงการพิเศษที่ใช้แก้ปัญหาความ ไร้รัฐไร้สัญชาติของผู้เฒ่าโดยเฉพาะ
เริ่มที่ อ.แม่ฟ้าหลวง และ อ.แม่จัน เป็นอำเภอนำร่อง เร่งปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรค หรือข้อจำกัดต่อการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทบทวนแนวคิดทัศนคติและวิธีการปฏิบัติแก่ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายปกครองที่มีต่อผู้ตกหล่นทางทะเบียน ซึ่งมีความแตกต่างจากคนต่างด้าวทั่วไป
พร้อมทั้งขอให้ภาคราชการและองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายและนโยบายที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของ ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ
และขอให้กระทรวงสาธารณสุขรับรองสิทธิสุขภาพดีถ้วนหน้าแก่ผู้เฒ่าและลูกหลาน รวมทั้งตั้งกองทุนพิเศษให้โรงพยาบาลชายแดน สำหรับดูแลคนกลุ่มนี้เพื่อแก้ปัญหาการแบกรับภาระหนี้สิน
เพื่อดูแลบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติตามหลักสิทธิมนุษยชน และผลักดันให้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของผู้เฒ่าต่างชาติพันธุ์เป็นไปโดยไม่ล่าช้า
โดย ปรวรรณ วงษ์รวยดี
ข่าวสด 23 กค 58
http://goo.gl/8qQusm