เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความเห็นเพื่อทบทวนร่างรายงานผลประทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครั้งสุดท้าย(ค.3)ในโครงการท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งจัดขึ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ว่า ในการจัดเวทีตั้งแต่ค.1จนถึงค.3ควรมีความรอบคอบมากกว่านี้ เช่น ควรมีค.0ก่อนเพื่อให้ความรู้กับประชาชน และเมื่อรับฟังความคิดเห็นในเวทีค.1แล้ว ในการจัดเวทีค.2ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยก็ควรดำเนินการให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งขั้นตอนนี้ในเวทีที่เทพาจัดโดยรวบรัดเกินไป เพราะใช้เวลาเพียง 9 เดือนก็จัดเวทีค.3 ทั้งๆที่ยังมีความขัดแย้งในพื้นที่อยู่ ขณะเดียวกันในเวทีค.3ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ไม่แตกต่างจากเวทีค.1สักเท่าไหร่
ดร.สมพรกล่าวว่า ในเวทีครั้งนี้ตนได้สอบถามในหลายประเด็นคือ 1.เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะดูตามแผนที่ผู้จัดทำเขียนนั้น เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งแน่นอน โดยแนวกันคลื่นที่วางแผนที่ระบุว่าใช้ดูดน้ำทะเลเพื่อหล่อเย็นนั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นคือท่าเทียบเรือสงขลา 2.นักวิชาการที่ทำ HIA หรือ EHIA ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับชาวบ้านไปตลอด เมื่อทำเสร็จก็กลับไป ในอนาคตหากชาวบ้านมีปัญหาจะหันหน้าไปพึ่งใคร 3.การดูดน้ำถ้ามีการป้องกันเพรียงไม่ให้เกาะก็ต้องใช้สารเคมี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปลาในกระชัง ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาแล้วในโรงไฟฟ้าจะนะ 4.การปล่อยน้ำเย็นลงไปในทะเลจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ 5.ควรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้เพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบว่าในอนาคตชาวบ้านยังจะมีความสุขอยู่หรือไม่ 7.ควรมีคณะกรรมการขึ้นมาติดตาม HIA และ EHIA

“การที่ผมตั้งคำถามต่างๆ ออกไป ไม่ได้หมายความว่าผมยอมรับให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เทพา เพราะผมพูดเอาไว้ตั้งแต่วันแรกแล้วว่าเราควรมีทางเลือกอื่นอีก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ยิ่งโรงงานแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าถึง 2,200 เมกะวัตต์ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ” ดร.สมพร กล่าว
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่บริเวณหน้าโรงเรียนเทพา ภาคประชาชนเทพาได้จัดเวทีคู่ขนานค3.โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขึ้น โดยชาวบ้านในนามเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้อ่านแถลงการณ์โดยมีสาระสำคัญระบุว่า ไม่ยอมรับผลการเปิดเวทีค.3 ที่จัดขึ้นทั้ง 2 วันเพราะมีการใช้อำนาจรัฐปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จึงถือว่ายังไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง และไม่สามารถยอมรับรายงาน EHIA ได้ เพราะชาวบ้านไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น
“โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เหมาะสมที่จะมาตั้งที่อำเภอเทพาเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลมาก ที่ผ่านมาได้มีการสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดสงขลาแล้วถึง 2 แห่ง เราควรมีทางเลือกอื่นมากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน การอ้างว่าต้องการไฟฟ้าสำรองในภาคใต้นั้น เป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับการสูญเสียป่าชายเลนและทรัพยากรทางทะเล ชาวบ้านจะร่วมกันคัดค้านและยกระดับการคัดค้าน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนรวม ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของคนเทพา” ในคำแถลงการณ์ระบุ
—————