เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ที่โรงแรมแกรนด์ เมอเคียว มีเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ถึงเวลาแล้ว ที่ต้องปฏิรูปกลไกบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำ” โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปแห่งชาติและสิ่งแวดล้อม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งจากหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนประมาณ 300 คน
รองศาสตราจารย์สุวัฒนา จิตตลดาการ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง “การปฏิรูปกลไกบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำ” ว่า กรณีการแก้ปัญหาน้ำนั้น ประเทศไทยมักใช้การบริหารแบบข้างบนลงล่าง จากส่วนกลางมาสู่ท้องถิ่น แต่ไม่มีการยอมรับองค์ความรู้จากภาคท้องถิ่น ดังนั้นนโยบายในอนาคตหากจะปฏิรูประบบจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างเพราะงบประมาณในการบริหารนั้นมีอยู่อย่างจำกัด โดยข้อนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะหากเชื่อใจ ไว้ใจท้องถิ่นแล้ว การกระจายงบประมาณไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะ ส่วนข้อกังวลในการวางโครงสร้างเพื่อบริหารสังคมทราบดีว่า อดีตมีการแทรกแซงจากการเมืองมากมาย ส่งผลให้กระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนน้อย ดังนั้นหากอนาคตตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมา จึงไม่ควรมีนักการเมืองมาบริหารอำนาจฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอที่เคยถกเถียงกันมาในกรณีการสรรหาคณะกรรมการน้ำแห่งชาติในกระทรวงน้ำ หากต้องการให้แตกต่างจากระบบคณะกรรมการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ ต้องปฏิรูปใหม่ โดยนอกจากมีคณะกรรมการกลางแล้ว จำเป็นต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำในพื้นที่และแม่น้ำแต่ละสาขาด้วย โดยอาจดึงทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายชาวบ้านเข้ามาร่วมบริหาร
นายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า เรื่องการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของชาติจะต้องมีการตั้งยุทธศาสตร์เรื่องการปรับตัว ที่ไม่อิงกับระบบราชการอย่างเดียว เช่น เรื่องการบริหารยุทธศาสตร์ 3.5 แสนล้านบาท เป็นความล้มเหลวมาก กรณีการจัดการลุ่มน้ำเสื่อมโทรมเช่นกัน รัฐมักใช้การอ้างสภาพลุ่มน้ำเสื่อมโทรม ป่าเสื่อมสภาพ เพื่อสร้างโครงการขนาดใหญ่นั้นเป็นความผิดพลาดของรัฐและผลตกอยู่กับประชาชน
นายบัญชา ขวัญยืน อนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ในกรณีการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น โดยปกติแล้วประชาชนควรจะต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่รับรู้ข้อมูลการบริหารของราชการ ทั้ง กระทรวง และกรมที่เกี่ยวข้องภายใต้สิทธิตาม พ.ร.บ.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีในกฎหมายไทย แต่ที่ผ่านมาประชาชนหลายพื้นที่รับรู้ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากแต่ละหน่วยงานบางแห่งนั้นบิดเบือน บางแห่งนั้นไม่แสดงข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ และยังพบว่าข้อมูลน้ำแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านน้ำนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้นหากจะปฏิรูปใหม่นั้น ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับการรับรู้ข่าวสารด้วยและหากหน่วยงานไม่มีการนำมาใช้อย่างถูกต้อง ประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าวก็ต้องปรับใหม่ เพราะการแสดงข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นหนึ่งเดียวจะช่วยให้สังคมสามารถตัดสินใจได้ ในกรณีมีโครงการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรน้ำ
ด้านนายสุรจิต ชิรเวทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า สำหรับความสำคัญของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)น้ำ ฉบับประชาชนที่ร่วมกับคณะปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) นั้น เน้นที่การตั้งคณะกรรมการที่ปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอให้ สปช.พิจารณาแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนในการเสนอต่อพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้วเสนอเข้าสภานิติบัญญัติ (สนช.) ต่อไป ซึ่งต้องเร่งผลักดันเพราะทราบว่า กรมน้ำก็มีการเสนอ พ.ร.บ.คู่ขนานเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำฉบับประชาชนในขณะนี้ เน้นที่การสร้างสิทธิพื้นฐานของประชาชน ในการเข้าถึงการบริหารน้ำ การคุ้มครองแหล่งอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ และการป้องกันแก้ไขวิกฤติน้ำทั้งท่วม ทั้งแล้ง และปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนน้ำที่กระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากมีการประกาศใช้ก็ช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งนี้หลักการต่อไปเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลของ ร่างพ.ร.บ.น้ำ ฉบับใหม่นั้น ต้องมีการนำ พ.ร.บ.มาชำแหละข้อเปรียบให้เห็นชัดเจน
“ผมเชื่อว่าที่ผ่านมานั้น ไทยเจอทั้ง แล้ง ทั้งท่วม บางพื้นที่ที่เข้มแข็งเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลน้ำในลุ่มน้ำ และแม่น้ำของชุมชนตนเองไว้แล้ว ซึ่ง หาก พ.ร.บ.ผ่าน ข้อมูลก็ควรมีการจัดเก็บไว้ใช้ร่วมกัน ทั้งนี้สิ่งที่เพิ่มเติมคือ อาจจะต้องดึงกรมเจ้าท่าซึ่งดูแลในด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำเข้ามามีส่วนร่วมรับรู้เรื่องการบริหารทรัพยากรน้ำด้วย เพราะบางโครงการที่มีการขุดลอกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การขนส่งนั้นก็ส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำ แม่น้ำแต่ละแห่งเช่นกัน กรมเจ้าท่าซึ่งมีอำนาจในการดูแลเรื่องนี้ ควรมีการวางแผนร่วม รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการขนส่งทางน้ำและแผนพัฒนาต่างให้ประชาชนรับทราบด้วย จึงจะมีการบริหารที่ครบทุกมิติ” นายสุรจิต กล่าว
ทั้งนี้นอกจากมุมมองของนักวิชาการข้างต้นแล้ว ภาคประชาชนที่เข้าร่วม อาทิ ตัวแทนประชาชนลุ่มน้ำโขง ยังมีการเสนอความคิดเห็นการปฏิรูปการบริหารน้ำด้วยว่า กรณีแม่น้ำนานาชาติประเทศไทยใช้กฎหมายปฏิรูปแค่ภายในไม่ได้ เพราะหากเกิดวิกฤติท่วม แล้ง หรือปัญหาอื่นๆ ในแม่น้ำระหว่างประเทศ เช่น แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวินนั้น หมายถึงผลกระทบข้ามพรมแดนย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นควรมีการสนับสนุนข้อกฎหมายที่กล่าวถึงระบบบริหารน้ำนานาชาติด้วย