เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ที่อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร มีงานประชุมสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย ครั้งที่ 2 และกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมือง ประจำปี 2558 โดยมีประชาชนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จากทั่วประเทศไทย อาทิ เมี่ยน ดาราอาง ลเวือะ ลาหู่ อาข่า กะเหรี่ยง มัง คะฉิ่น ถิ่น ลีซู ม้ง มลาบรี ขมุ ไทใหญ่ ชาวเล (มอแกลน มอแกน อูรักลาโว้ย) ไตยอง กูย ปลัง ลาวเวียง มอญ ไทยยวน ฯลฯ พร้อมตัวแทนองค์การพัฒนาเอกชน และฝ่ายวิชาการด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตและการวิจัยวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง กว่า300 คน 25 ชนเผ่า เข้าร่วม
สำหรับบรรยากาศในช่วงเช้านอกจากนิทรรศการภาพถ่าย กิจกรรมการค้าขายอาหารประจำเผ่า ผู้เข้าร่วมยังได้ทำพิธีกรรมรับขวัญ โดยได้รับเส้นไหมและไข่ต้มจากผู้อาวุโสอาข่า เพื่อต้อนรับการทำงานขับเคลื่อนด้านเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศที่ปฏิบัติต่อเนื่องเกือบ 9 ปี (โดยพิธีกรรมการรับขวัญนี้ชนเผ่าทุกกลุ่มจะต้องนำพิธีสลับกันทุกปีและทุกครั้งก่อนการประชุมร่วมกันของเครือข่าย) โดยพิธีรับขวัญของอ่าข่านั้นตัวแทนผู้เฒ่าชาวอาข่าได้มีบทรับขวัญ เป็นภาษาอ่าข่าที่แปลเป็นภาษาไทยโดยสรุปว่า “ชนเผ่าต่างๆ แต่ละพื้นที่เป็นดังต้นไม้ใหญ่ ที่เติบโตในป่าต่างประเภท แล้วการรวมตัวกันแต่ละครั้งเหมือนการเริ่มปลูกไม้นานาพันธุ์ในป่าแห่งใหม่เพื่อรวมตัวกัน และเราทุกคน ทุกชนเผ่าเหมือนแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดมาจากต่างต้นน้ำแต่การไหลที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทะเลของไทย จากภูเขาถึงทะเล ชนเผ่ารวมเนื้อ เลือด แล้วเป็นดั่งรั้ว กำแพง ธรรมชาติที่โอบล้อมเมืองไทย เป็นดังบ้านหลังใหญ่ เราจะส่งเสริม ปกป้องแผ่นดินแห่งนี้ด้วยการกำหนดตัวเองเป็นดังต้นไม้แผ่กิ่ง ก้าน สาขา เป็นดังน้ำที่หล่อเลี้ยงผืนป่า และเป็นดิน เป็นแสงแดดที่ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้อาณาจักรไทย เพราะเราก็คือคนไทยคนหนึ่ง”
ดร.นฤมล อรุโรทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานการประชุมว่า ปีนี้งานประชุมจัดขึ้นครั้งแรกในสถาบันการศึกษา ภายใต้หัวข้อ “9 ปี ปฏิญญาฯ สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง: วิถีคน-ดินน้ำป่า พลัง…สภาชนเผ่าพื้นเมือง” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษา วิจัย และรวบรวมข้อมูลปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ สำหรับที่มาของการจัดประชุมนั้นเนื่องจากชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.)” เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ให้รัฐและสาธารณชนยอมรับและเคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 เพื่อสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแกนนำชนเผ่าพื้นเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ นักพัฒนาสังคม และผู้สนใจกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยภายหลังการก่อตั้งนั้น คชท. ได้ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UN Declaration on the Rights of Indigenous Peoples: UNDRIP) เพื่อให้เกิดการยอมรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์และเคารพในวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งในปีนี้ทางที่ประชุมฯ ภายหลังการเลือกตัวแทนคณะทำงานขับเคลื่อนกิจการสภาชนเผ่าพื้นเมืองครั้งใหม่ และปฏิญาณตนเพื่อทำงานขับเคลื่อนสังคมแล้ว ทางเครือข่ายจะมีการเสวนากลุ่มย่อยกับนักวิชาการด้านชนเผ่าพื้นเมืองทั้งระดับชาติและสากล หลังจากนั้นในวันที่ 10 สิงหาคม ทางเครือข่ายจะเคลื่อนขบวนสมาชิกชนเผ่าไปยัง ตึกสหประชาชาติ (UN) และรัฐสภาเพื่อยื่นข้อเสนอของสภาฯ ต่อการปฏิรูปประเทและการร่างรัฐธรรมนูญ
“ปีนี้สถาบันวิจัยจุฬาฯ ในฐานะที่ทำงานด้านวิชาการมานานพบว่า ประเด็นที่น่าสนใจตอนนี้ สิ่งที่ควรขับเคลื่อนนอกจากการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ทำกิน วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชนเผ่าที่ถูกกลืนด้วยสังคมสมัยใหม่ ตลอดจนการละเมิดสิทธิในกลุ่มชนเผ่า คือ การเร่งศึกษาเรื่องอิทธิพลของบริษัทยาและเครื่องสำอาง ที่เป็นเหมือนวัตถุนิยมซึ่งเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของแต่ละเผ่าไปจากเดิมอย่างมาก เห็นว่าควรจะมีการแก้ปัญหาโดยเร็ว ” ดร.นฤมล กล่าว
ด้านว่าที่ร้อยตรี สนั่น พันธุ์อุโมงค์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนกิจการสภาฯ กล่าวนำการประชุมว่า ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นดังกำลังสำคัญที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย การเกิดขึ้นของชนเผ่าจะต้องดำรงอยู่ต่อไปด้วยศักดิ์ศรีและหน้าที่ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ดังนั้นการทำงานของสภาชนเผ่าฯ ต้องไม่ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง หรือเผ่าใดเผ่าหนึ่ง แต่ขอให้ช่วยเหลือกันและกัน ทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ ยอมรับในความต่างและขับเคลื่อนสถานการณ์ชนเผ่าไปพร้อมกันทั่วประเทศ
เวลา 10.30 น. ตัวแทนชนเผ่าจากภาคต่างๆ ได้นำเสนอประเด็นปัญหาแต่ละภาค โดยตัวแทนกลุ่มชาวเล ในภาคใต้ ระบุว่า กลุ่มชาวเลชาติพันธุ์ต่างๆ รวมตัวกันภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ปัญหาส่วนมากยังเป็นกรณีการคุกคามชาวเลในรูปแบบข้อพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านกับรัฐ และชาวบ้านกับเอกชน รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อชาวเลรวมทั้งปัญหาสัญชาติ ขณะที่ชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เช่นไทยยวน และกูย เผชิญกับปัญหาเรื่องแผนแม่บททวงคืนผืนป่า ภาคกลางและภาคตะวันตกเผชิญกับวิกฤติการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าไม้ ที่อยู่ระหว่างการย้ายกลุ่มชนเผ่า เช่น กะเหรี่ยง และมอญ เพื่อให้ออกจากพื้นที่ตั้งถิ่นฐานดั้งเดิม และภาคสุดท้ายคือภาคเหนือ เผชิญกับปัญหาไร้สัญชาติ ไร้สถานะทางทะเบียน และเรื่องการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรป่าไม้ ฯลฯ
หลังจากเสร็จพิธีเปิดโดยสถาบันวิจัยสังคม และประธานคณะทำงานกิจการฯ สภาแล้ว ทางเครือข่ายได้ร่วมกันปฏิญาณตนมีใจความสำคัญว่า “เราทุกคนจะทำงานอย่างเต็มที่ในฐานะพลเมืองไทย และจะประกอบอาชีพสุจริต จะภักดี ต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไทย รวมทั้งจะขับเคลื่อนแผนพัฒนาเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อจะดำรงซึ่งอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองต่อไป ให้สาธารณะเข้าใจวิถีชีวิตและการมีอยู่ของชาติพันธุ์”
อนึ่งข้อเสนอของการจัดงานสมัชชาฯ ครั้งที่2 ที่ทางเครือข่ายเตรียมเสนอต่อรัฐสภาไทย มีใจความสำคัญว่า ในการปฏิรูปประเทศนั้นจะต้องมีการผลักดัน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย พ.ศ….เพื่อเป็นกลไกลในการแก้ปัญหาตัวเอง โดยให้ชนเผ่ามีส่วนร่วมทั้งด้านการเมือง ในทุกระดับ และมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายต่างๆ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อมีส่วนร่วมพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและหลักการพิจารณาคดีความที่อาจเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของชนเผ่าต่างทั่วประเทศ
ด้านการศึกษา รัฐไทยควรมีการบริหารการศึกษาให้ชนเผ่าทุกพื้นที่มีสิทธิศึกษาจบภาคบังคับของชาติ ทั้งในและนอกระบบ โดยมีการบูรณาการการศึกษาแบบพหุวัฒนธรรม ไม่เอาวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งมาบังคับ ด้านเศรษฐกิจ ในการพัฒนาใดๆ ก็ตาม ควรมีการส่งเสริมระบบการผลิตตามจารีต ประเพณี ของชาติพันธุ์ เช่น ระบบไร่หมุนเวียน รูปแบบการเกษตรอื่นๆ ที่ชนกลุ่มนั้นๆ มีวิถีชีวิตสืบมาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน รวมทั้งมี พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชอาหาร สมุนไพร ยา ที่เป็นองค์ความรู้ของชนเผ่าด้วย เพื่อขยายความรู้ต่อไป ด้านพลังงาน กรณีการพัฒนานโยบายพลังงานประเทศ ประชาชนทุกคนรวมทั้งชนเผ่าควรมีส่วนร่วมด้วยว่าจะรับ หรือไม่รับนโยบายด้านพลังงาน และก่อนการพัฒนาแผนพลังงานแต่ละพื้นที่ที่มีชนเผ่าอยู่ รัฐควรให้อิสระในการตัดสินใจอย่างเสรีของชนเผ่าทุกคนให้รู้ล่วงหน้า เพื่อประกอบการตัดสินใจ ด้านสิ่งแวดล้อม ให้รัฐทบทวนกฎหมายและพิจารณาแก้ไขเนื้อหากฎหมายที่เสี่ยงต่อการทำลายวิถีชนเผ่า เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฯลฯ ด้านสังคม ให้รัฐสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาติพันธุ์ เพื่อเสวนาและหาทางออกของปัญหาชนเผ่าแต่ละท้องถิ่น ด้านสื่อมวลชน ให้เร่งแก้กฎหมายเพื่อการใช้คำที่ลดการดูถูก แยกแยะ และมีอคติต่อชนเผ่าทุกกลุ่มฯ โดยข้อเสนอดังกล่าวจะมีการนำเสนอต่อรัฐสภาในวันที่ 10 สิงหาคม 2558
/////////////////////////