“ความเป็นอยู่ของคนจน นับวันยิ่งดำดิ่งลงสู่ความโหดร้ายลงทุกที โดยเฉพาะยุคของการไล่รื้อบ้าน เพื่อความเจริญของเมืองใหญ่ แต่รัฐและนักลงทุนลืมไปว่า คนจนที่เผชิญทั้งวิกฤติชีวิตด้านสังคม เศรษฐกิจ ยิ่งถูกไล่รื้อ พวกเขาก็ยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น ก็เขาไม่มีที่อยู่ หากชนชั้นกลางไม่ปรับตัวเพื่อพวกเขาบ้างแล้วเราจะอยู่อย่างไร อย่างคนจนเมืองเขาไม่มีแปลงเกษตร เขาไม่มีแหล่งยึดเหนี่ยวแล้ว ไหนจะริมคลอง ไหนจะย่านห้างดัง เขาโดนไล่จากที่หนึ่งก็ไปเบียดอีกที่หนึ่ง ประเทศไทยน่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยได้แล้ว ควรมองกันเข้าไปในจิตวิญญาณความเป็นคนมากกว่า ผมเองไม่เห็นด้วยกับการสร้างมูลค่าของที่ดินที่สูงขึ้น เพราะมีแนวโน้มจะเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ข้าราชการเขามักลืมไปว่า เศรษฐกิจที่ดีต้องเริ่มจากคนทุกชนชั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ชนชั้นการปกครองเท่านั้น เราน่าจะมองประเทศที่เขาล้มเหลวเรื่องการจัดการเศรษฐกิจบ้าง ว่าประเทศต่าง เช่น อเมริกา กรีซ เองก็เจอปัญหาพิษเศรษฐกิจเพราะเร่งโตเกินตัว โดยไม่มองคนข้างหลังที่เป็นคนจน ในไทยคนจนมีเยอะกว่าคนรวย เราจะผลักดันและไล่เขาออกไม่ได้ เราต้องทำให้เขามีกิน ตลาดสดบางแห่งในกรุงเทพปิดตัวลงเพราะห้างใหญ่มาสร้าง เขาไม่ให้ชาวบ้านเก่าแก่ค้าขาย มันเหม็น มันไม่น่าอยู่เหมือนของห้างที่มีพลาสติกหุ้ม ถ้าเราไม่อยากเจอคนจนที่เพิ่มขึ้น เราต้องหยุดไล่รื้อนะ แล้วให้โอกาสเขาสร้างตัวบ้าง” ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ผู้อาวุโสแห่งแวดวงนักพัฒนาสังคมและนักวิจัยชุมชนแออัด เปรียบเทียบชีวิตของคนจนปัจจุบันที่กำลังถูกรุกรานจากหลายโครงการที่รัฐมักอ้างว่าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
ปัจจุบันเห็นกันได้ชัดว่าแผนของรัฐบาลและเอกชนรุกคืบ เข้ากลืนกินชุมชนแออัดมากขึ้นหลายโครงการ อาทิ โครงการสร้างแลนด์มาร์ค แม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะอพยพคนริมน้ำเพื่อเวนคืนที่ดิน โครงการสร้างรถไฟฟ้าในหลายๆ ที่ เช่น กรณีสลัมบ้างปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนเก่นานกว่า 150 ปี ก็เสี่ยงจมหายไปกับมูลค่าของที่ดินมากขึ้นทุกขณะ
เมื่อเร็วๆ นี้ถือเป็นข่าวดีของคนจนที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) ได้รับอำนาจในการใช้งบประมาณกว่า 90 ล้านบาทเพื่อจัดการปัญหาคนจนไร้บ้าน โดยพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานรัฐร่วมสนับสนุนและลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยกลุ่มคนไร้บ้านและมอบบ้านหลังแรก ซึ่งนำร่อง ณ ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มใจชื้นขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าในอนาคตจะไม่มีคนไร้บ้านเกิดขึ้นอีก ดังนั้นรัฐต้องรอบคอบในการบริหารการจัดการ โดยนอกจากจะแก้ปัญหาคนจนไร้บ้านในปัจจุบันแล้ว ต้องเน้นทั้งการป้องกันการเกิดคนจนเพิ่มด้วย
ทั้งนี้ สมพร หารพรม ผู้ประสานงานเครือข่ายการแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ระบุว่า การอนุมัติเงินดังกล่าวเป็นการทำตามนโยบายของรัฐบาลด้านลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ โดย พม.มอบนโยบายให้เครือข่ายรวมทั้ง มพศ.นั้นเร่งทำฐานข้อมูลเรื่องคนไร้บ้านให้สังคมได้การรับรู้ เพื่อให้มีข้อมูลและจำนวนที่แน่นอน โดยขณะนี้พื้นที่นำร่องมี 3 ที่ คือ เครือข่ายคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่นมีประมาณ 50 คน เชียงใหม่ 50 คน และกรุงเทพมหานคร (บางกอกน้อย) 100 คน โดยเงินที่ได้มาจะจัดสร้างอาคารที่พักที่บริการทั้งที่อยู่อาศัย สถานฝึกอาชีพและแหล่งการศึกษาในชุมชน รวมทั้งหน่วยบริการอื่นๆ ขั้นพื้นฐานตามที่จำเป็น เช่น หน่วยดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วย พื้นที่การกีฬาเพื่อสุขภาพ เป็นเพียงงบประมาณที่เยียวยาและแก้ไขเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อฟื้นฟูเรื่องการโครงสร้างทังสังคม ให้สมารถตั้งหลักได้เท่านั้น เมื่อคนไร้บ้านชุดแรกสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ มพศ.และ พอช.จะเดินหน้าสำรวจและแก้ปัญหาคนจนไร้บ้านรุ่นใหม่ แล้วรายงานข้อมูลต่อไป โดยร่วมมือกับหน่วยงานพัฒนาเอกชนอย่างเครือข่ายสลัมสี่ภาค ให้เดินหน้าร่วมกัน
“คือ แก้แค่นี้ไม่สามารถหยุดปัญหาได้ทั้งหมดแน่นอน เพราะปัจจัยการเกิดขึ้นคนไร้บ้านมีหลายอย่าง ที่สำคัญ คือ หนีจากพื้นที่การพัฒนา บางคนก็เครียดจากการถูกไล่ที่ ก็กลับกลายเป็นคนจน เร่ร่อน บางคนป่วยจิต หนีออกมาจากครอบครัว บางรายมีคดีติดตัวสังคมไม่ให้โอกาสกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม กลายเป็นคนทำผิดกฎหมาย หรือบางกรณีนายจ้างผลักดันให้ออกจากงานเพราะมีปมด้อยเรื่องคดีความ ซึ่ง พม.จะมีส่วนช่วยอย่างมาก หากช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ผมเชื่อว่าถ้าเขาได้รับคำแนะนำถูกต้อง มีคนช่วยแก้ปัญหา ต้องมีบ้างที่เปลี่ยนตัวเองได้ เมื่อนั้นเขาก็กลับสู่สังคมปกติ มีงาน มีเงิน ย่อมไม่เป็นภาระรัฐบาลแน่ๆ อย่างกรณีการดำเนินการของรัฐที่พยายามทำโครงการขึ้นใหม่ สร้างเครือข่ายใหม่ สร้างพื้นที่เศรษฐกิจเรื่อยๆ เอื้อเฟื้อคนที่มีเงินหมื่น เงินแสน คนเงินร้อย เงินพันก็แย่ ผมคิดว่าถ้าไม่ฟังชาวบ้านในอนาคตเมื่อคนไม่มีทางไปมีจำเยอะขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจที่แย่ลง ปัจจัยต่างๆ ราคาแพงเกินตัว คนไร้บ้านต้องเพิ่มแน่ๆ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจ เขตอุตสาหกรรม” สมพร อธิบาย
ทั้งนี้จากการประเมินยอดคนไร้บ้านในปัจจุบัน มพศ. ตั้งแต่ช่วงปี 2548 จนถึงปัจจุบันพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี เพิ่มขึ้นปีละไม่เกิน 1,000 คน ขณะที่สถานการณ์คนไร้บ้าน เริ่มดีขึ้น อีกด้านของสังคมที่เช่าที่ดินในกรรมสิทธิ์เอกชน อย่างสลัมบางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ก็กลายเป็นชุมชนที่อยู่ระหว่างทางตันของการหาที่อยู่ใหม่ เมื่อเจ้าของที่ดินใช้ทนายมาบังคับคดีให้ย้ายออกจากชุมชน ความคืบหน้ากรณีสลัมบางปิ้งนั้น “ธนิสร หอยสังข์” ผู้ประสานงานชุมชนบางปิ้ง กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นสิงหาคมที่ผ่านมา ศาลจังหวัดสมุทรปราการนัดชาวชุมชนบางปิ้งไปเจรจากรณีการไล่ที่ในชุมชน กับตัวแทนทนายฝ่ายโจทก์ โดยชาวบ้านได้เจรจาขอให้เจ้าของที่ดินคงเหลือเนื้อที่อย่างน้อยประมาณ 16 ไร่เพื่อให้ชาวบ้านได้อาศัยต่อไป เนื่องจากชาวบ้านส่วนมากเป็นคนรับจ้างรายวัน ไม่มีเงินจะเช่าบ้านราคาเดือนละหลายพันบาทได้ ซึ่งทนายจะส่งคำตอบมายังชุมชนอีกครั้ง
“ชาวบ้านก็ร่วมให้กำลังใจกันและกัน เดินทางไปศาลนับร้อยไปฟังคำตอบ มันเป็นภาพที่เรามองแล้วสิ้นหวังมาก ในหัวก็คิดว่าจะไปอยู่ไหน ถ้าเขาไม่ยอม แม้เราจะไม่ต้องไปขึ้นศาลอีกก็ตาม แต่ก็ต้องรอคำตอบจากเอกชน คือ ถ้าที่รัฐอาจเจรจาได้บ้าง แต่กรรมสิทธิ์เอกชนมันยาก เราพยายามหาวิธีการหลายอย่างทั้งตั้งกลุ่มออม ทำกลุ่มอาชีพเสริม สร้างความเข้มแข็ง หวังอยากได้เข้าโครงการบ้านมั่นคง แต่ชาวบ้านบางคนก็ทนไม่ไหว มองเขารื้อบ้านไปต่อหน้าต่อตา ได้เงินมานิดหน่อยก็หาที่อยู่ใหม่ลำบากกันต่อไป บางคนสติแตก ป่วย เครียด เดินร้องไห้ทุกวัน เรายอมรับว่าเราใจหาย แต่เราก็ต้องรอวันที่เขายอมเปิดโต๊ะเจรจาตรงๆ เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเห็นหน้าเจ้าของที่ดินเลยสักครั้ง เราอยากให้มีเวทีนั้นมาถึงจริงๆ เพราะพวกเราตายาย พ่อแม่ จนมาถึงรุ่นเราก็ไม่ได้อยู่เฉย เราสร้างชุมชนมาด้วยกันทั้งพุทธ มุสลิม ถ้าเราย้ายออกโรงเรียน และมัสยิดในชุมชนก็ร้าง เพราะคนเรียนในตำบลบางเมืองมีเยอะมาก เรามีสมาชิกหมู่บ้านกันมากมาย ขนเราไปร่วมงานอะไร งานบุญ งานรื่นเริง เราไปทุกครั้ง แม้เราจะเป็นแค่ผู้อาศัย แต่ก็ไม่คิดจะหยุดการพัฒนาชุมชน ภาวนาให้เขายอมมาคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ถ้าคำตอบไม่ได้ดั่งที่เราปรารถนา เราอาจเป็นผู้แพ้ที่ต้องไป” ธนิสร เล่าถึงความรู้สึก
ข้อมูลจาก พอช.ระบุถึงสถานการณ์อันตึงเครียดขอชุมชนที่ถูกไล่รื้อว่า นอกจากสถานการณ์คนไร้บ้านที่บางกอกน้อยและสลัมบางปิ้งแล้ว ยังมีอีกชุมชนวัดชัยพฤกษ์มาลา เขตบางพลัด ชาวบ้านเช่าที่วัดอยู่มาช้านานเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ซึ่งเดิมทีเจ้าอาวาสกับชาวบ้านพึ่งพากันเป็นอย่างดี โดยขอเก็บค่าเช่าในราคาไม่แพง เพื่อทางวัดจะได้มีเงินใช้จ่ายในกิจการภายใน แต่พอมีโครงการรถไฟฟ้าผ่านมาใกล้ๆ วัดจึงต้องการให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยไม่ต่อสัญญาเช่า ซึ่งชาวบ้านคาดว่า อาจจะขายหรือปล่อยเช่าให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์
ทั้งหมดเป็นสถานการณ์การทุบทำลายสังคมคนจนรอบใหม่ที่ล้วนเกิดจากความเจริญทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนจนเข้าใกล้ความไร้ตัวตนและคนที่ถูกลืมทุกขณะ
//////////////////////////////////