เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ชาวบ้านหมู่ 2 ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียราย ได้เป็นเจ้าภาพในการสืบชะตาแม่น้ำอิงและป่าชุ่มน้ำพื้นที่ 3,020 ไร่ ซึ่งที่ดินบริเวณดังกล่าวรัฐบาลเตรียมประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยเพราะเป็นป่าชุมชน โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ชุมชนใกล้เคียง กลุ่มเด็ก-เยาวชน กว่า 450 คน เข้าร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ในช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยพิธีทางศาสนา โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงรายเป็นประธาน หลังจากนั้นได้มีการบวชต้นไม้ ปล่อยปลา และร่วมกันรับประทานอาหารกลางวัน ก่อนจะเริ่มต้นภาคบ่ายด้วยเวทีเสวนา
นายพิชเฌศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ผู้ประสานงานชุมชนบ้านบุญเรือง กล่าวว่าเนื่องจากความไม่ชัดเจนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมว่าเป็นอย่างไรและไม่สามารถตอบคำถามของชาวบ้านได้ โดยชุมชนรู้สึกหวงแหนทรัพยากรที่เป็นป่าชุ่มน้ำ ดังนั้นชาวบ้านได้ปรึกษาหารือกำหนดเอาวันที่ 30 สิงหาคม 2558 ทำพิธีบวชป่าซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านมากกว่านิคมอุตสาหกรรม เพราะสามารถต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน
นายถ่อง ตะวีนะ อายุ 75 ปี ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านกล่าวว่า “พ่อเกิดมาก็เห็นป่าผืนนี้แล้ว ทุกคนในหมู่บ้านได้พึ่งพาป่าแห่งนี้ ทั้งใช้ไม้ หาเห็ด หาหน่อ หาอาหาร เป็นที่เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ช่วยกันดูแลทั้งหมู่บ้าน รักษาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการบวชป่าครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกและรู้สึกดีใจภูมิใจที่ได้จัดกิจกรรมขึ้น”
นายทรงพล จันทะเรือง ตัวแทนชาวบ้านบุญเรือง กล่าวในเวทีเสวนาว่า ป่าผืนนี้อดีตเป็นที่เลี้ยงควายของหมู่บ้าน ตนเองก็เคยเลี้ยงควายที่นี่ ในอดีตทุกหลังคาจะมีควายอยู่ครอบครัวละ 50-60 ตัว โดยเอามาปล่อยที่ป่าแห่งนี้ และยกเลิกการเลี้ยงควายไปในปี พ.ศ. 2530 เนื่องจากผืนป่าแห่งนี้เคยมีแนวคิดที่จะยกเลิกและนำที่ดินมาแบ่งปันกัน แต่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะรู้สึกเสียดาย เนื่องจากมีพันธุ์ไม้สำคัญจำนวนมาก โดยป่าจะแบ่งออกเป็นส่วนๆ ซึ่งที่ดอนจะเป็นป่าไผ่ บางที่เป็นป่าชมแสง ป่าข่อยสลับกับหนองบวกมากมายที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน หากจะมาสร้างนิคมอุตสาหกรรม ที่นี่เหมือนกับเป็นการฆ่ากันผ่อนส่ง เพราะสารเคมี น้ำ การหากินของชาวบ้านจะถูกจำกัดลง
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)กล่าวว่า ตนทำงานเป็นคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 พื้นที่ป่าชุมชนบ้านบุญเรืองนี้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำเหลือน้อยมาก พื้นที่ชุ่มน้ำหมายถึง พื้นที่ติดแม่น้ำ มีหนอง คลอง บึง พื้นที่น้ำขัง พื้นที่น้ำท่วม พื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่ชุ่มน้ำ หากคิดมูลค่าที่ดินไร่ละ 1 ล้าน ป่าผืนนี้กว่า 3 พันไร่ ราคาก็กว่า 3 พันล้านบาท แต่ตอนนี้เขาตีมูลค่าเป็นศูนย์และจะนำไปแสวงหากำไรอีกที ตามหลักกฎหมายในมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีการห้ามใช้พื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่สาธารณะ หากจะใช้ต้องขอยกเลิกมติครม. และต้องประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาถึงจะนำพื้นที่ชุ่มน้ำไปใช้ได้ ในประเทศไทยมีเฉพาะที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในการขอใช้พื้นที่สาธารณะ แต่กว่าจะผ่านการอนุมัติใช้เวลาเกือบ 10 ปี
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวถึงข้อกังวลของชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 ยึดที่ดินไปเป็นของกรมธนารักษ์ ว่า จริงๆ แล้วมาตรา 44 รัฐบาลไม่ควรนำมาใช้กับชาวบ้าน แต่ควรใช้แก้ไขปัญหาเรื่องการปราบปรามอิทธิพลต่างๆ หรือปัญหาที่ยังคาราคาซังมากกว่า สิ่งที่พวกเราทำกันอยู่เป็นสิ่งที่ดี เป็นเรื่องชอบธรรม ตนกล้ายืนยัน ไม่เชื่อลองไปถามพระสงฆ์ก็ได้ เรารักษาป่า รักษาทรัพยากรชุมชนโดยการบวชป่า ตามสิทธิของชุมชนและสิทธิของคนไทยในการรักษาทรัพยากรของชาติ ทหารก็เป็นพี่เป็นน้องเรา
“ผมเชื่อว่าเขาไม่ใช้มาตรา 44 กับชาวบ้านหรอก หากใช้จริงผมทำนายว่าประเทศนี้ล่มจมแน่ เราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ พื้นที่นี้ไม่เหมาะแก่การสร้างนิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ต้องมีการถมดิน ซึ่งกีดขวางทางน้ำ จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบ” นายนิวัฒน์ กล่าว
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า ขอให้กำลังใจชาวบ้าน เราต้องร่วมมือร่วมใจกัน เป็นนำหนึ่งใจเดียวกัน ทำหน้าที่ของเราอย่างเข้มแข็งในการอธิบายให้เขาเข้าใจ ทหารยังไม่รู้ หากรู้เขาจะเข้าใจเรา ในการเรียกร้องของชุมชนต้องใช้สิทธิของเรา ที่สำคัญต้องพึ่งพาสื่อมวลชนเพื่อนำเรื่องราวไปเผยแพร่ ร่วมมือนักวิชาการสถาบันการศึกษา รวมถึงร่วมกันศึกษาองค์ความรู้การใช้ประโยชน์ มูลค่าจากป่า ประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไร เพื่อลูกหลานในวันข้างหน้า ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน กฎหมาย งานวิชาการนำมาต่อสู้แบบสันติวิธีร่วมมือหลายๆ ฝ่ายให้มาช่วยกัน
——————–