เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 นายป้อง พะยอม ชาวบ้านร่องอโศก ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (7 กันยายน) ตัวแทนชาวบ้านจาก 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ในนามสมาคมคนทาม จำนวนกว่า 100 คน ทำพิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำมูล โดยการสู่ขวัญแม่น้ำมูล ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูล เขตพื้นที่บ้านร่องอโศก เนื่องจากช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีโครงการขุดลอกแม่น้ำมูล โดยกรมเจ้าท่า มอบหมายให้คนงานใช้รถแบคโฮมาขุดลอก และใช้รถไถปรับที่ดินริมตลิ่งของทั้งสองฝั่งแม่น้ำมูล ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร โดยที่ไม่ผ่านความคิดเห็นของชาวบ้าน ส่งผลให้พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ในบริเวณดังกล่าวถูกทำลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นที่ดินของตนประมาณ5 ไร่ จากทั้งหมด 14 ไร่ ป่าทามสองฝั่งเสียหายและมีบางบริเวณที่เป็นที่นาของชาวบ้านถูกถมดินลงไปในแปลงนาข้าว ทำลายหน้าดินที่ชาวบ้านอาศัยทำกินมานาน
“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรายังเชื่อตามความเชื่อของคนอีสาน เราจึงทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำมูล หลังจากที่เคยนำปัญหาดังกล่าวเข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม ศรีสะเกษ ซึ่งผู้ต่อมาว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้สั่งการให้นายอำเภอราษีไศล ตรวจสอบ ทางบริษัทจึงได้การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ออกจากพื้นที่ไปแล้ว แต่ที่ดินซึ่งเสียหายนั้นชาวบ้านต้องการให้มีการจ่ายค่าชดเชยในที่ดินที่สูญเสียไป” นายป้อง กล่าว
ขณะที่นางสาวสุภาพร บุตรวงศ์ ชาวบ้านที่เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าทามเป็นประจำกล่าวว่า ส่วนมากชาวป่าทาม จะพึ่งป่าโดยการเอาไม้มะดันมาทำเป็นไม้ปิ้งไก่ขายทุกสัปดาห์ บางคนก็พึ่งพาอาศัยป่าทามการหาหน่อไม้ หาผักป่า ซึ่งก่อนหน้าที่จากมาทำการขุดลอกบริเวณดังกล่าว มีไผ่หนาทึบขึ้นตลอดแนวแม่น้ำมูล และชาวนาบางคนยังใช้พื้นที่ที่ดังกล่าวเป็นทางสัญจรที่เลี้ยงวัวควาย เป็นท่าเรือ เป็นที่พักผ่อน แต่ภายหลังจากการขุดลอกแม่น้ำมูล ป่าทามก็พังลงแล้ว หากมีโครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง ป่าทามของชุมชนต้องหายไปอย่างถาวร อย่างไรก็ตามชาวบ้านขอให้การขุดลอกในบ้านร่องอโศกเป็นบทเรียนสำคัญ และรัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นควรยุติโครงการที่ทำลายระบบนิเวศของป่าชุมชนทุกโครงการ
อนึ่งภายหลังจากการทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำมูล ทางสมาคมคนทาม ได้เรียกร้องให้ทางจังหวัดมีการดำเนินการที่แสดงถึงความรับผิดชอบ ได้แก่ 1. ให้หยุดโครงการขุดลอกแม่น้ำมูลโดยทันที 2. ให้มีการตรวจสอบไต่สวนกระบวนการและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่นก่อนดำเนินการใดๆ ในแม่น้ำมูลและ 3 ให้มีกระบวนการวางแผนการจัดการน้ำโดยประชาชนมีส่วนร่วม
/////////////////////////////////