Search

คนคลองชมพูร่วมค้านเหมืองทอง หวั่นโลหะหนักปนเปื้อนป่าต้นน้ำ กระแสค้านเหมืองทองขยายวงทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อต้านแล้วกว่า 2 หมื่น กรมอุตสาหกรรมฯ เลื่อนเวทีรับฟังไม่มีกำหนด

ป่าคลองชมภูที่ยังอดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่อยู่ของจระเข้น้ำจืด แต่ชาวบ้านหวั่นว่าจะได้รับผลกระทบหากมีการให้สัมปทานเหมืองทอง
ป่าคลองชมภูที่ยังอดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่อยู่ของจระเข้น้ำจืด แต่ชาวบ้านหวั่นว่าจะได้รับผลกระทบหากมีการให้สัมปทานเหมืองทอง

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557 นายธีรเชษฐ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า นับจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะให้สัมปทานแร่ทองคำกับผู้ประกอบการเหมืองทอง 300 แปลงทั่วประเทศ จนทำให้เกิดกระแสคัดค้านในหลายพื้นที่ รวมถึงชาวบ้านชมพูก็ได้ให้ความสนใจต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายอำเภอของจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตรอยู่ในเขตที่รัฐเตรียมจะเปิดสัมปทานเหมืองทองคำรอบใหม่ในปีนี้ จึงเกิดความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านชมพูได้รับรู้บทเรียนอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชุมชนในอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ที่ต้องทนทุกข์กับผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองทองคำมานานนับสิบปี โดยเฉพาะสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ผืนดินและอากาศ จนทำให้ไม่สามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ และเกิดการเจ็บป่วยจากสารโลหะหนัก

“บทเรียนจากพิจิตรทำให้เราไม่มั่นใจต่อระบบบริหารจัดการสารโลหะหนักของเหมือง โดยเฉพาะสารตะกั่ว สารหนู ทุกวันนี้ชาวบ้านที่นั่นไม่สามารถทำการเกษตรได้เลย ต้องรอน้ำจากจังหวัดที่จะส่งมาให้ชาวบ้านครอบครัวละ 14 แกลลอน น้ำบ่อน้ำฝนไม่มีใครกล้าใช้ ในร่างกายคนก็มีสารโลหะหนักตกค้าง ซึ่งเราก็เคยช่วยกันขนเอาสมุนไพรรางจืดไปให้พี่น้องต้มกินเพื่อถอนพิษกันมาแล้ว” นายธีรเชษฐ กล่าว

นายธีรเชษฐ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวบ้านชมพูร่วมกันลงชื่อพร้อมกับประชาชนใน 12 จังหวัด ที่เตรียมนำ 20,000 รายชื่อ มอบให้รัฐบาลเพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งกรมอุตสาหกรรมเหมืองแร่กำลังจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่ทองคำในหลายจังหวัด โดยอำเภอเนินมะปรางเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ชาวบ้านจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองทอง

“เคยมีการสำรวจพบว่าสายแร่ทองคำในพิจิตรและพิษณุโลกครอบคลุมหลายอำเภอ ซึ่งหากมีเหมืองเกิดขึ้นอาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำชมพูที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดินมีสภาพเป็นชั้นหินปูน และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน สารโลหะหนักอาจปนเปื้อนลงสู่น้ำใต้ดินและแหล่งต้นน้ำนี้ได้”นายธีรเชษฐ กล่าว

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนใน 12 จังหวัด ได้แก่ เลย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี จันทบุรี ระยอง สระแก้ว สตูล นครศรีธรรมราช กำลังมีการรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ เพื่อยื่นคัดค้านการทำเหมืองทองคำต่อรัฐบาล ซึ่งเดิมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 15 กันยายน 2558 แต่ปรากฏว่าเมื่อมีกระแสคัดค้านการทำเหมืองทองคำอย่างรุนแรงในหลายจังหวัด จึงทำให้มีกรมอุตสาหกรรมฯ การประกาศเลื่อนเวทีรับฟังฯ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

———-

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →