“ทุกครั้งที่เสียงปั้นจั่นตอกลงไปในดิน เสียงนั้นมันตอกความทรงจำในใจเสมอ” ชาวคลองบางประทุนยังจำความรู้สึกนี้ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่วันแรกที่ปั่นจั่นเริ่มตอกตรึงเสาเข็มก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินตั้งแต่ปี 2554 นับเป็นอีกครั้งที่การพัฒนาเมืองได้สยายปีกโอบล้อมวิถีชุมชนแถบนี้ไว้อย่างหนาแน่นยิ่งขึ้น
ในอดีตคลองบางประทุนถือเป็นส่วนหนึ่งของย่านบางขุนเทียน อันเป็นพื้นที่เกษตรสำคัญหล่อเลี้ยงคนกรุงเทพฯ ทั้งเรือกสวนผลไม้ขึ้นชื่อมากมาย เช่น สวนส้มที่มีทั้งส้มบางมด ส้มเช้ง ส้มโอ คุ้งลิ้นจี่ สวนกล้วยหอม สวนมะพร้าว และผลไม้ท้องถิ่นนานาพันธุ์ อีกทั้งด้วยสภาพถิ่นนี้มีคลองน้อยใหญ่เชื่อมต่อถึงกัน คลองจึงเสมือนเส้นชีวิตเชื่อมสัมพันธ์วิถีคนในคุ้งคลองแถบนี้ไว้ด้วยกันมานานนับร้อยปี จนมีการกล่าวถึงว่า “สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง”
สวนในบางกอกครอบคลุมตั้งแต่เหนือพระประแดงขึ้นมาจนถึงแถบบางกรวย จังหวัดนนทบุรี มีวิถีเคียงคู่กับสวนนอกในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งผู้คนสามารถเดินทางถึงกันด้วยเรือผ่านไปตามเส้นทางสายคลองสำคัญ
กระทั่งเมื่อมีการตัดถนนพระราม 2 และถนนเอกชัยเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา พื้นที่สวนย่านนี้จึงถูกผ่าออกเป็นส่วนๆ และตามมาด้วยการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้วิถีชุมชนชาวสวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
“ตอนตัดถนนใหม่ๆ เด็กอย่างผมดีใจมาก เพราะจะได้มีที่กว้างๆ ไว้เล่นว่าว เตะฟุตบอล จะเดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวกขึ้น ไอ้ความรู้สึกตอนนั้นมันเด็กมากเลย เรายังไม่รู้ว่าจะต้องสูญเสียอะไรให้กับถนนหรือความเจริญที่จะเข้ามา เมื่อนึกย้อนไปจะเห็นเลยว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เพราะสิ่งที่เราต้องการจริงๆ มันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยคิดถึงมัน รักมัน หรือเข้าใจมัน” ‘นาวิน มีบรรจง’ หรือ ‘พี่ปอง’ของชาวคลองบางประทุน หนึ่งในผู้ริเริ่มกลุ่มคนรักคลองบางประทุน ระลึกถึงความหลังในช่วงที่เริ่มมีการเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนนกัลปพฤกษ์ในราวปี 2537
การตัดถนนกัลปพฤกษ์ทำให้นาวินและคนรุ่นใหม่ในชุมชนเข้าใจความรู้สึกของคนรุ่นพ่อแม่ได้ชัดเจนขึ้น เพราะเขาทันเห็นความเปลี่ยนแปลงที่รุกไล่เข้ามาอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าจะมีการตัดถนนสายนี้ จนถึงวันที่ต้นไม้ สวนมะพร้าว ถูกไถ่โค่น และในปัจจุบันที่สายน้ำเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
“ภาพการตัดถนนกัลปพฤษ์เมื่อหลายปีก่อน ผ่านคลองบางประทุนและอีกหลายๆคลอง ทำลายวัฒนธรรมและวิถีชาวสวนย่านฝั่งธนบุรีลง แบ่งชุมชนและพี่น้องออกเป็นสองฝั่งถนน เพียงเพื่อระบายความแออัดจากรถยนต์ที่มาจากย่านสีลม สาทร หากย้อนเวลากลับไปได้ เราจะรู้สึกดีใจกับถนนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างหรือไม่ ความเจริญความสะดวกสบายที่ได้มาแล้วเราเสียสละอะไรบ้าง แล้วปัจจุบันเราเหลืออะไร” นี่จึงเป็นคำถามที่เกิดในใจพี่ปอง เช่นเดียวกับอีกหลายคน
ตลอดห้วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ชาวบางประทุนหลายคนต้องปรับตัวอย่างมากกับความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่วันที่ยังไม่มีการตัดถนน นักค้าที่ดินผู้มองเห็นโอกาส จึงหอบเงินใส่กระเป๋าเข้ามากว้านซื้อที่สวนของชาวบ้านในราคาถูก ใช้เล่ห์หว่านล้อมสารพัด เช่นว่า สวนหลายขนัดเป็นที่ตาบอด หรือให้ข่าวว่าเจ้าของสวนข้างเคียงตัดใจขายที่ไปก่อนแล้ว รวมทั้งถูกบีบให้ขายที่ดิน เนื่องจากลำประโดงหรือคูคลองที่ใช้ชักน้ำเข้าสวนตื้นตันเพราะถูกปิดทางเข้าออกอย่างไม่ถูกต้อง และภาครัฐก็ไม่ได้เข้ามาดูแล เมื่อเป็นเช่นนี้สวนหลายขนัดก็อยู่ไม่ได้ การตัดใจของชาวสวนหลายรายจึงเรียกได้ว่าเป็นสภาพจำยอม ตัดใจขายที่ดินแลกเป็นเงินเก็บไว้เป็นทุนรอนในบั้นปลาย หรือถ้าใครยังรักชีวิตชาวสวนก็ต้องย้ายไปหาที่ดินผืนใหม่ในต่างจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน
ที่ดินใกล้ถนนจะถูกกว้านซื้อไปก่อน หมู่บ้านขนาดใหญ่ ร้านอาหาร ห้างขนาดใหญ่มากมาย จึงผุดขึ้น เรียกได้ว่ากลายเป็นทำเลทอง
“นายหน้าจะพยายามบีบให้คนขายที่ พอเขาล้อมเป็นตัวยูได้ น้ำคลองก็จะเข้าไม่ถึงสวนด้านใน เพราะคูที่ชักน้ำมันไม่ใช่ที่สาธารณะตามกฎหมาย แต่ในสมัยก่อนเจ้าของสวนที่ใช้น้ำช่วยกันจะดูแลคูชักน้ำ ช่วยกันขุดลอกให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก มันเป็นวัฒนธรรมนะที่เจ้าของสวนแต่ละขนัดจะดูแลคูคลอง แต่ตอนนี้ไม่ใช่เพราะเมื่อเขาซื้อที่คล่อมสองฝั่งได้ เขาก็จะเหมาเลยว่าคูน้ำนั่นเป็นที่ของเขาด้วย พอถมคูได้สวนที่อยู่ลึกเข้าไปก็จะใช้น้ำไม่ได้แล้วเพราะน้ำไม่ถึง เจ้าของสวนก็จะถูกบีบให้ขายโดยอัตโนมัติ” พี่ปอง เล่าความจริงอันโหดร้าย
“พอกัลปพฤกษ์ตัดปุ๊ป ความเจริญมันมหาศาล ไปเชื่อมกับกาญจนาภิเษกตัดเข้าเมืองรวดเดียว แล้วยิ่งเชื่อมกับราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ตัดถึงนนทบุรี ปทุมธานีโดยที่ไม่มีไฟแดง มันเป็นเส้นทางที่สวยมาก คนที่หวังจะซื้อก็เก็งกำไรได้เลยจาก 25 ล้าน ตอนนี้มัน 50-60 ล้าน มันขึ้นชนิดเท่าไหร่ก็สู้ ทำให้คนในพื้นที่เกษตรหวังอนุรักษ์อยู่ยาก ขายแล้วไปอยู่ที่อื่นก็ได้ เงินมันยั่วยวน ไอ้เราคนถิ่นเก่ายังอยากหาธรรมชาติอากาศมันอยู่ยาก” สัมพันธ์ มีบรรจง ชาวสวนคลองบางประทุน และรองประธานศูนย์ฯ เทคโนโลยีเกษตรเขตจอมทอง เล่าถึงความเป็นไปของชุมชน ที่คงทานทนต่อความเปลี่ยนแปลงได้อีกไม่นาน
ในวันที่เงินก้อนใหญ่แสนเย้ายวน แต่สำหรับชาวบ้านนั่นคำเตือนก่อนถึงวันที่ชุมชนจะล่มสลาย เพราะเมื่อเดินลึกเข้าไปในชุมชนตามทางคอนกรีตกว้างเพียงสองคนเดินหรือถ้ารถมอเตอร์ไซค์วิ่งมาคนที่เดินอยู่ต้องเบี่ยงหลบ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงนิยมใช้เรือในการเดินทาง ย้อนไปราว 10 ปีที่แล้ว ที่สวนแถวนี้แทบจะไม่มีใครต้องการเพราะถือเป็นที่ตาบอด ที่ดินจึงแทบไม่มีการเปลี่ยนมือ อาจมีการขายแบ่งให้ลูกหลานหรืออาจให้คนในสวนคลองด้วยกันเช่าทำสวนเท่านั้น แต่เมื่อสองข้างถนนใหญ่ด้านนอกกลายเป็นทำเลทอง นักล่าที่ดินจึงขยับเข้ามาข้างใน ซื้อที่จากชาวบ้านในราคาไม่แพง แล้วขายกันอีกหลายทอดจนราคาสูงลิบ ที่ดินถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือนักพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่ต้องการรวบรวมที่ดินไว้รองรับโครงการใหญ่ยักษ์ ที่ตาบอดนับร้อยไร่กำลังรอการพัฒนาในอนาคต สวนหลายขนัดจึงอยู่ในสภาพที่ชาวบ้านเรียกว่าสวนล่ม คือถูกปล่อยทิ้งร้างไว้
แม้คลองในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ จะอยู่ในสภาพมีหน้าที่เป็นเพียงคลองระบายน้ำเสีย แต่ที่คลองบางประทุนยังพอมีสภาพที่เป็นธรรมชาติอยู่บ้าง มีสารอินทรีย์จากพื้นที่สีเขียว มีลำราง ลำประโดงหมุนเวียนน้ำตามน้ำขึ้นน้ำลงช่วยรักษาสมดุลน้ำในคลอง
หากได้ล่องเรือไปตามคลองตั้งแต่วัดบางประทุนใน(วัดแก้วไพฑูรย์) ไปจนถึงจุดตัดถนนกัลปพฤกษ์ ระยะทางประมาณ 4-5 กิโลเมตร อากาศจะร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ขนาบไปด้วยบ้านสวนที่หันหน้าเข้าคูคลองตลอดสองฝั่ง จึงรู้สึกสดชื่นเย็นสบายกว่าสองฝั่งถนนด้านนอก แต่หากเลยจากจุดนี้ไปสองฝั่งจะเปลี่ยนเป็นกำแพงหมู่บ้านสูงใหญ่ที่หันหลังให้คลอง และสภาพน้ำเริ่มดำและมีกลิ่นในบางช่วง
ชาวบ้านเคยรวมตัวร้องเรียนไปยังกรุงเทพมหานครให้เข้ามาตรวจสอบว่าเกิดจากสาเหตุใด จนมีการเข้ามาตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียของหมู่บ้าน ร้านอาหาร และห้างขนาดใหญ่ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหาที่มาของน้ำเสียที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งคูเล็กหลายสายที่เคยเป็นคลองลัดระหว่างคลองใหญ่นั้นอยู่ในสภาพตื้นตันจนเรือไม่สามารถผ่านได้
“เมื่อก่อนบ้านจะหันหน้าหาคลอง คลองคือหน้าบ้าน คนริมคลองก็จะรักษาคูคลองให้สะอาด เพราะเขาต้องใช้น้ำทำสวนและใช้เรือเดินทาง แต่ตอนนี้หมู่บ้านสร้างใหม่ก็กั้นกำแพงทึบหันหลังให้คลอง และต่อท่อน้ำเสียลงคลอง ยังเคยเห็นเลยว่าโยนถุงขยะลงมาในคลอง คือตอนนี้บ้านคนจะหันหลังให้คลอง คนเลยไม่รู้ว่าคลองยังมีประโยชน์ ยังมีคนที่ใช้ประโยชน์จากคลองอยู่นะ” สิ่งที่พี่ปองเล่า สะท้อนชัดเจนว่าเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันทะนุทนอมสายคลองแห่งนี้
สำหรับ ‘พูลศักดิ์ นรลักษณ์’ หรือ ‘พี่ช้าง’ เป็นที่รู้กันในคุ้งคลองบางประทุนว่าเหลือแกเพียงคนเดียวที่ยังยึดการทำมะพร้าวเป็นอาชีพหากิน ทุกเช้าพี่ช้างพร้อมคู่หูที่ทำหน้าที่ปีนมะพร้าว จะเอาเรือออกไปตามสวนหรือบ้านในคลองบางประทุน แกรับซื้อมะพร้าวทุกชนิด ทั้งมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ มะพร้าวห้าวหรือไม่ว่ามะพร้าวจะอ่อนจะแก่แค่ไหนแกรับซื้อทั้งหมด ก่อนจะนำไปคัดและส่งไปยังตลาดวัดไทร ตลาดบางแค และร้านอาหารใหญ่ในย่านนี้
พี่ช้างรักในการทำมะพร้าว และยึดอาชีพนี้มากว่า 30 ปี ขนมะพร้าวจนเรือใหญ่พังไปแล้ว 4-5 ลำ ก็ไม่เคยคิดจะเลิก แต่ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจจะทัดทาน แกจึงปลงได้บ้างหากในอนาคตจะไม่มีสวนมะพร้าวเหลืออยู่ นั่นย่อมหมายถึงจะไม่มีมะพร้าวให้เก็บอีกแล้ว ประกอบกับอายุมากขึ้น จึงไม่อาจฝืนสังขารได้
“คนทำสวนตอนนี้มีแต่คนจนเช่าที่เขาทำสวน คนรวยเขาขายที่ไปหมดแล้ว ผมเองก็อาศัยที่เขาไว้กองเปลือกมะพร้าว แต่ที่ดินตรงนี้เจ้าของก็ขายไปแล้ว ถ้าเมื่อไหร่เขาจะเข้ามาทำประโยชน์ผมคงต้องเลิกทำมะพร้าว สมัยก่อนลอกคูคลองก็ช่วยกันลงแขกแล้วเอาอาหารมาเลี้ยง แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ตอนนี้มันไม่มีโอกาสแล้วที่จะให้ตรงนี้เป็นชุมชน หรือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มันไม่มีโอกาส” พี่ช้างตอบเมื่อถามถึงอนาคต
ขณะที่เสียงของคนคลองอย่าง ‘พี่ชมพู่’ หรือ ‘ดาริการ์ บัวเกษ’ หนึ่งในชาวคลองบางประทุนที่ลุกขึ้นมาร่วมกันรักษาคลองในนามกลุ่มคนรักคลองบางประทุน บอกว่า อีก 10-20 ปี ข้างหน้าเมื่อการพัฒนาเข้ามาถึงด้านใน วิถีชุมชนของเราอาจไม่เหลืออยู่แล้ว แต่อย่างไรวันนี้เราจะพยายามรักษามันเอาไว้ แม้หลายคนอาจไม่เห็นด้วย หรืออาจรู้สึกว่าทำไปมันก็สูญเปล่า แต่ว่าเราจำเป็นต้องทำให้เด็กรุ่นหลังได้เห็นความสำคัญของคลองบ้าง เผื่อเขาอาจจะฉุกคิดขึ้นมาบ้าง
“อยากเห็นการพัฒนากับธรรมชาติที่อยู่กันได้อย่างกลมกลืน เพราะยังไงเราปฏิเสธการพัฒนาไม่ได้ เราต้องใช้ถนน ต้องใช้รถไฟฟ้า แต่อยากให้มันมีความสมดุล ถ้าเป็นไปได้คือถ้าเรามีสิทธิ์เรียกร้อง ขออย่าทำลายพื้นที่สีเขียวๆ ซึ่งเหลืออยู่น้อยมากในกรุงเทพฯ”
ในเมื่อทิศทางการพัฒนาเมืองสวนทางกับวิถีท้องถิ่น กฎหมายและผังเมืองที่มีอยู่จึงไม่ได้ให้ค่ากับชุมชน ทว่าสายสัมพันธ์คนบางประทุนที่มีมาแต่อดีต ยังพอที่จะประสานใจให้คนที่เหลืออยู่ลุกขึ้นมาร่วมกันอนุรักษ์สายน้ำแห่งนี้ไว้
เมื่อตรองดูแล้ว สถานการณ์เช่นนี้กำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอีกหลายชุมชน และคงเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงนโยบายการพัฒนาประเทศได้ง่ายๆ แต่อย่างน้อยเสียงเล็กๆ ของคนคลองบางประทุน น่าจะกระตุกเตือนสังคมได้บ้างว่า ถึงเวลาที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทำอย่างไรให้เห็นคุณค่าของหิ่งห้อยที่คอยเปล่งแสงระยิบระยับ
———
เรื่อง ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี
ภาพ นาวิน มีบรรจง