Search

ชี้ถูกรัฐหักหลังแก้ปัญหาที่ดิน ชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดเตรียมบุกทำเนียบ 6 ตค. แถลงการณ์จวกยับขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

received_977570028952949

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 ที่บ้านโผลง ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ได้มีการจัดงานรำลึก 10 ปีเครือข่ายเทือกเขาบูโด โดยมีประชาชนหลายร้อยคนร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญ เช่น นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ ซึ่งภายในงานได้มีการเสวนาเล่าเรื่องการต่อสู้กรณีที่ดินเทือกเขาบูโดตลอด 10 ปี นอกจากนี้ยังมีการแจกสมุดขอทุนสงเคราะห์การทำสวนยางให้กับชาวบ้าน 5 รายเป็นการนำร่องเพื่อแสดงถึงการได้รับคืนสิทธิ์ พร้อมทั้งได้มีการอ่านแถลงการณ์เครือข่าย

ในแถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากประกาศพระรากฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดี พ.ศ.2542 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส 7 อำเภอ ปัตตานี 1 อำเภอและยะลา 1 อำเภอ รวม 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ทับซ้อนที่ดินที่ทำกินของประชาชนซึ่งตั้งถิ่นฐานนานกว่า 300 ปีได้รับความเดือดร้อนกว่า 20,926 ราย ที่ดิน 23,015 แปลง
เนื้อที่รวมกว่า 127,612 ไร่ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการโค่นยางพาราเพื่อขอปลูกใหม่ทดแทน การเข้าทำกินในสวนดูซง เป็นการละเมิดสิทธิ์อันชอบธรรมตามกฎหมายต่อประชาชนจำนวนมากที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตนเอง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อาทิ สค.1 นส.3 และโฉนด และที่ครองครองที่ดินโดยชอบ แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม

ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า 10 ปีที่แล้ว เครือข่ายปัญหาที่ดินที่ทำกินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ก่อกำเนิดขึ้นเพื่อต่อสู้ให้ได้รับความเป็นธรรมคืนมาด้วยกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ข้อมูลถูกต้อง แม่นยำ สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับพื้นที่ในคณะศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านที่ดิน(ศจพ.) ส่งผลให้พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน เป็นผู้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในเขตอุทยานแห่งนี้

ในแถลงการณ์ระบุว่า ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนระดับพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนที่ถูกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประกาศทับซ้อน และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 เป็นการจุดประกายความหวังประชาชนที่ได้รับความเป็นธรรมคืนมาจากรัฐ หลังจากถูกละเมิดมาเป็นระยะเวลากว่า 50 ปี อย่างไรก็ตามแม้การต่อสู้ของประชาชนร่วมกับกลไกราชการในพื้นที่ จะได้รับความเห็นชอบจากครม.ตามมติข้างต้น หากแต่ภายหลังนั้น กลไกของรัฐบาลที่อยู่เหนือระดับพื้นที่กลับมิได้ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซ้ำร้ายยังบิดเบือนการแก้ไขปัญหาตามแนวทางมติครม. 14 ตุลาคม 2551 จึงได้ยืดระยะเวลาออกไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย

“สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไปประกาศคำสั่งคสช.ที่ 64 และ 66 รวมถึงแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนที่ป่าอนุรักษ์ประกาศทับ โดยใช้กระบวนการตามมติครม. 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งมีเนื้อหาสาระแทบจะตรงกันข้ามกระบวนการมีส่วนร่วมตามมติครม.14 ตุลาคม 2551 อย่างสิ้นเชิง ผูกขาดการพิสูจน์สิทธิ์ ความจริงไว้ที่หน่วยงานภาครัฐฝ่ายเดียว ปฎิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยสมบูรณ์แบบ” ในแถลงการณ์ ระบุ

ในแถลงการณ์ระบุอีกว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งเป็นความหวังของประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทวีความตึงเครียดระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชนเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 เครือข่ายประชาชนได้จัดปฏิบัติการโค่นต้นยางพารา เพื่อแสดงความอึดอัดคับแค้นที่สะสมอยู่ในจิตใจประชาชนผู้ถูกละเมิดความเป็นธรรม ซึ่งภายหลังจากนั้น ทำให้สิทธิการโค่นยางพาราเพื่อปลูกใหม่ได้เริ่มควบคู่ไปกับกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติครม.14 ตุลาคม 2551 ดูประหนึ่งว่า ปัญหาของประชาชนกำลังได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยรัฐบาลประกาศเสมอว่า ทำหน้าที่เพื่อการปฎิรูปประเทศให้ดีขึ้น กระบวนการทำงานคืนสิทธิ์ในที่ดินทำกินของประชาชนเริ่มมีการขับเคลื่อนอีกครั้งหนึ่งด้วยการมีส่วนร่วม และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุดเท่าที่ประเทศไทยมีอยู่ ตรวจเก็บข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องเป็นจริง นำมาซึ่งการยอมรับของประชาชนและภาครัฐในระดับพื้นที่อย่างกว้างขวาง

“แต่แล้วประชาชนรู้สึกว่าถูกหักหลังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อภาครัฐเหนือพื้นที่ยังคงเดินหน้าใช้กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติครม. 30 มิถุนายน 2541 โดยไม่สนใจใยดีกับกระบวนการทำงานของประชาชน และภาคราชการในพื้นที่แต่อย่างใด ความขุ่นข้องหมองใจของประชาชนจึงกลับมาอีกครั้ง ในวันครอบรอบ 10 ปี พวกเราขอประกาศยืนยันที่จะดำเนินการตามแนวทางการต่อสู้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาครัฐในพื้นที่ นับจากวันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 หากภาครัฐยังคงเดินหน้าพิสูจน์สิทธิ์ฝ่ายเดียว ลบกระบวนการมีส่วนร่วมทิ้ง ไม่เห็นหัวประชาชน เราคงต้องไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 เวลา 07.00 น.เป็นต้นไป โดยพี่น้องจะเหมาโบกี้รถรถไฟสายชายแดนใต้ออกเดินทางจากสถานีรถไฟตันหยงมัส ดังนั้น ขอให้พี่น้องเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมเสบียงกรังให้พร้อมที่จะอยู่พักอาศัยข้างทำเนียบโดยไม่ทราบกำหนดกลับ” ในแถลงการณ์ระบุ

ด้านนายภาณุ กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหามีความคืบหน้าไปมาก แต่อาจมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนราชการ อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว

————–

On Key

Related Posts

เหยื่อค้ามนุษย์ 9 ชาติยื่นหนังสือร้อง กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษย์ริมน้ำเมย ร่ำไห้วอนรัฐบาลไทยสกัดแก๊งมาเฟียจีน แฉถูกทรมานสารพัด สุดอนาถแม้แต่หญิงท้องยังถูกบังคับจนพยายามฆ่าตัวตาย

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 ตัวแทนครอบครัวเหยื่อค้าRead More →