เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาเขตวิภาวดี (ตึก TST วิภาวดีซอย 9) กรุงเทพฯ มีเวทีเสวนาเปิดตัวเครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) และเสวนาผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ โดยนางอารมณ์ คำจริง ตัวแทนชาวอำเภอเนินมะปราง และสมาชิก ปปท. กล่าวว่า ปปท.ตั้งขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ และหน่วยงานอื่นๆ ติดตามนโยบายการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ และขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และพระราชบัญญัติ (พรบ.)เหมืองแร่ พ.ศ……รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานส่วนที่ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ เนื่องจากที่ผ่านมานั้นมีหลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่
นางอารมณ์กล่าวว่า อย่างกรณีเหมืองแร่ทองคำใน 3 จังหวัดภาคเหนือ (พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์) ที่ดำเนินการโดยบริษัทอัครา รีซอร์สเซส นั้นดำเนินการมาตั้งแต่ 2544 ภายในเวลา3ปีหลังเปิดดำเนินการประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบทั้งเรื่องน้ำเสีย ดินมีพิษ และพืชผลการเกษตรเสียหาย ชาวบ้านจึงรวมตัวกันฟ้องศาลเกิดข้อพิพาทกับบริษัทผู้ประกอบการตลอดมา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ในช่วงอุทธรณ์คดี หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อมูล ทั้งเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ( อีเอชไอเอ)จนเป็นเหตุให้เครือข่ายนักวิชาการหลายภาคส่วนต้องลงพื้นที่ตรวจสอบ และมีการประกาศยุติการดำเนินการเป็นเวลาทั้งหมด 45 วันโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ขณะที่เหมืองทองเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ที่ดำเนินการโดยบริษัททุ่งคำ ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมากมาย จนต้องมีการตรวจสอบพื้นที่หลายครั้ง แต่มาในยุครัฐบาลปัจจุบันพบว่า รัฐบาลเร่งประกาศนโยบายเปิดสัมปทานเพิ่ม ประชาชนที่เคยมีความเจ็บปวดจากเหมืองจึงต้องเคลื่อนไหวคัดค้าน โดยล่าสุดมีแผนเสนอรายชื่อไม่ต่ำกว่า 20,000 รายชื่อเพื่อยื่นคัดค้าน โดยกำหนดยื่นแก่นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล
นางอารมณ์กล่าวว่า ในการยื่นหนังสือวันที่ 22 นี้ จะมีข้อเสนอหลัก คือ 1. คัดค้านการสัมปทานรอบใหม่ 12 จังหวัด (พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล) 2.ยกเลิกพระราชบัญญัติ (พรบ.)เหมืองแร่ทองคำฉบับใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เคารพสิทธิประชาชน เนื่องจากมีการกำหนดให้สามารถขอสัมปทานแร่ได้ในทุกพื้นที่ที่สำรวจพบว่ามีแร่ อีกทั้งยังเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนสามารถขอเพิกถอนพื้นที่ป่า และที่ดินในอำนาจรัฐ กรณีพบแร่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อประกอบโลหะกรรม ที่เสี่ยงส่งกระทบต่อชุมชนทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3. เสนอให้เยียวยาและฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำทุกพื้นที่ ฯลฯ
ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณะบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตและนักวิจัยผลดินรอบเหมืองอัคราฯ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาภายหลังประเทศไทยมีการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่หลัก 2 จังหวัด คือ เลย และพิจิตร ซึ่งการให้สัมปทานเหมืองที่จังหวัดเลยนั้น ให้ระยะเวลาที่นานมากถึง 25 ปี ส่วนที่พิจิตรให้ 20 ปี โดยจังหวัดเลยต้องหยุดดำเนินการสองปี เพราะติดพื้นที่เขตป่า ทำให้ต้องขออนุญาตอีกครั้ง เพราะต้องใช้พื้นที่ป่าขุดทองนานนับ 10 ปี แต่ขอยังไม่ได้จึงต้องชะลอไว้ก่อนนาน 2 ปี บริษัททุ่งคำจึงพยายามขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อทำเหมืองอีกครั้ง ขณะที่จังหวัดพิจิตรนั้น มีคณะทำงานเชิงวิชาการลงพื้นที่หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยมีการตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร ตลอดจนมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและแก้ปัญหา เมื่อเดือน กรกฎาคม 2557 ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงนั้นนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำ ดิน พืช หลายครั้ง โดยตนได้ศึกษาในส่วนการวิเคราะห์โลหะหนักในดินระหว่าง วันที่ 27-28 กันยายน 2557 จำนวน 56 ตัวอย่าง และส่งตัวอย่างไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมดิน สำนักงานวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งปกติปริมาณสารหนูต้องไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม 3.9 PPM แต่ผลการวิเคราะห์พบว่า จาก 56 ตัวอย่าง มี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 83.9) เกินค่ามาตรฐาน มีเพียง 9 ตัวอย่าง ที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยค่าสูงสุด 387.5 PPM และต่ำสุด 1.6 PPM
ดร.อาภา กล่าวว่า เมื่อจำแนกเฉพาะปริมาณสารหนูเกินมาตรฐาน 47 ตัวอย่าง พื้นที่เหมืองแร่และบ่อกักเก็บกากแร่ จำนวน 8 ตัวอย่าง มีปริมาณสูงสุด 204.9-387.5 PPM พื้นที่กองดินและกองกันทิ้ง และดินขอบบ่อกักเก็บแร่ จำนวน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณสูง 35.7-99.5 PPM พื้นที่ศูนย์เรียนรู้และว่างเปล่า จำนวน 3 ตัวอย่าง มีปริมาณไม่สูงมาก 20.3-23.3 PPM และพื้นที่กระจายทั่วไป จำนวน 32 ตัวอย่าง มีปริมาณไม่สูง 4.01-12.2 PPM ซึ่งจะเห็นว่าบริเวณเก็บตัวอย่างดินสัมพันธ์กับการทำเหมืองจึงมีค่าเกินมาตรฐานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“จากโลหะหนักที่พบในดิน และทรัพยากรอื่นๆ รอบเหมืองที่นักวิชาการศึกษามา ไม่ว่าจะเป็นเลยหรือพิจิตรก็ตาม เราพบว่าสารที่พบสอดคล้องกับการป่วยของคนในพื้นที่รอบเหมือง ซึ่งที่ผ่านมามีคนไข้ที่มีลักษณะคล้ายกันทั้ง 2 พื้นที่ คือ มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนต้องล้มป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา การวิเคราะห์เชิงวิชาการในประเทศไทยนั้นไม่ได้ยืนยันว่าเหมืองมีพิษแค่ประเทศเดียวเท่านั้น แต่กรณีต่างประเทศ ก็มีนักวิชาการเคยศึกษาแล้วเช่นกัน เช่นกรณีประเทศอังกฤษ มีมหาวิทยาลัยที่ศึกษาเชิงสุขภาวะมีการศึกษาโดยตรงในพนักงานทำเหมืองแร่ ระบุชัดว่าคนงานเหมืองแร่เป็นอาชีพที่อันตรายที่สุดในโลก และชี้ชัดว่าหลักการทำเหมืองที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับชุมชน รวมทั้งไม่ส่งผลต่อสุขภาวะประชาชนนั้น ไกลความจริงมาก ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป แม้จะมีเหมืองในประเทศ แต่ยังมีกฎหมายบังคับธุรกิจเหมืองแร่ให้รายงานผลสารพิษให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งสหรัฐฯ เองมีรายงานมาแล้วว่า เหมืองแร่มีการปล่อยสารหนูมากที่สุด ดังนั้นเมื่อมีการรายงานมลพิษออกมาและหากเกินมาตรฐานบริษัทก็ต้องรับผิดชอบ อย่างกรณีเหมืองแร่ที่รัฐโคโลราโด ที่เหมืองแตกออกมานั้น ถูกสั่งปิดไปแล้วอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม กรณีเทคโนโลยีเหมืองแร่นั้น ทางคณะนักวิชาการอังกฤษและอเมริกาแนะนำว่าหากจะทำเหมืองที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดนั้น ข้อเสนอคือ ให้จัดการหินทิ้งที่เกิดจากการถลุงแร่ แต่บ้านเราไม่มีการจัดการเช่นนั้น เพราะหินทิ้งบ้านเรา ที่ไทยนั้นกองไว้เฉยๆ” ดร.อาภา กล่าว
ผู้ช่วยคณะบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวด้วยว่า สรุปว่าเหมืองทองคำเป็นสินค้าบาป โดยกระบวนการผลิตนั้นละเมิดสิทธิชุมชนมาก เพราะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเอกชนนั้นอยู่เหนือสิทธิของชาวบ้าน ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอีกประเด็นที่สำคัญคือเชื่อว่าภาครัฐไม่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า ทั้งนี้ข้อมูลการผลิตทองพบว่า หินสินแร่หนึ่งตัน ให้ทองแค่ 12 กรัม ดังนั้นทองหนึ่งบาทต้องใส่หินสกัดแร่ทั้งหมดราว 5 ตัน ธุรกิจนี้ มีผลตอบแทนไม่คุ้มค่าถ้าจะต้องแลกกับการเสียภูเขาไปหลายลูก จังหวัดเลยและพิจิตร ก็หายไปแล้ว กลายเป็นอ่างเก็บน้ำแร่ นโยบายมอบประทานบัตรอบใหม่จึงไม่ควรเกิดขึ้น รัฐบาลต้องรีบทบทวน งดประทานบัตรเพิ่ม เพราะอย่างไรก็ตามประเทศไทยไทยห่างไกลเทคโนโลยี อีกสิ่งที่แนะนำ คือ รัฐบาลควรยุติ พรบ.แร่ฉบับใหม่ด้วย เพราะอำนาจแร่นั้นเหนืออำนาจกฎหมายป่าไม้ และส่งเสริมการละเมิดสิทธิชุมชน
ด้านนายณัฐพงษ์ แก้วนวล ชาวนาจากอำเภอเนินมะปราง กล่าวว่า อำเภอเนินมะปราง มีทั้งหมด7ตำบล มีพื้นที่6 แสนกว่าไร่ หลังมีนโยบายสัมปทานเหมืองแร่ทองคำนั้นืบริษัทขอทำเหมือง 4 แสนไร่ การขออนุญาตสัมปทานในพื้นที่ดังกล่าวเท่ากับทุบแหล่งผลิตข้าวทั้งหมด 1.2 แสนกว่าไร่ สำหรับข้อมูลการส่งออกข้าวในอำเภอเนินมะปรางขณะนี้พบว่า ส่งออกข้าวอย่างเดียวสร้างรายได้เข้าอำเภอประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนข้อมูลส่งออกมะม่วงจากสมาคมผู้ส่งออกมะม่วงไทยนั้นพบว่าอำเภอเนินมะปรางปลูกมะม่วงทั้งหมดประมาณ 30,000 หมื่นไร่ ส่งออกมะม่วงออกไปทุกปีไปยังเกาหลี ฮ่องกง จีนและยุโรป สร้างรายได้เข้าอำเภอปีละ 500 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลส่งออกมะม่วงของไทยทั้งหมดมีประมาณปีละ 1,500 ล้านบาท ส่วนผลไม้อื่นที่เนินมะปรางปลูกนั้น เช่น กะท้อน ส้มโอ มะขามหวาน มีรายได้เข้าอำเภอราว 50 ล้านบาทต่อปี เชื่อว่ารายได้ดังกล่าวพยุงเศรษฐกิจประชาชนได้และคุ้มค่ากว่าการเปิดสัมปทานเหมืองทองคำ
“จังหวัดพิษณุโลกนั้นมีหลายพื้นที่ปลูกผลไม้ แต่เนินมะปราง ปลูกมาได้20ปีแล้ว เพิ่งมาเริ่มร่วมมือกับสมาคมส่งออกมะม่วงแห่งประเทศไทยประมาณ 15ปี โดยตัวแทนเกษตรกรที่เคยไปดูงานต่างประเทศ เกี่ยวกับผลผลิตมะม่วง พบว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ของไทย ได้รับความนิยมจากผู้นำเข้ามากที่สุด และประเทศเกษตรกรรม อาทิ เวียดนาม ยังให้การยอมรับถึงคุณภาพของมะม่วงไทย ดังนั้นรัฐควรทบทวนกรณีนี้และเลิกนโยบายสัมปทานเสียที ”นายณัฐพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ภายหลังการแถลงข่าวเปิดตัว ปปท.และการเสวนาผลกระทบจากเหมืองแร่ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มอบรายชื่อผู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตร่วมลงชื่อกว่า 1,300 คนและนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อยื่นให้นายกรัฐมนตรีในวันที่22กันยายน โดย 1 ในคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตที่ร่วมลงชื่อคือนายณเดชน์ คุกิมิยะ ดารานักแสดงชื่อดัง ทั้งนี้นายณเดชน์มีโครงการจะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตคนเหมืองด้วย
ด้านนางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรงชาวบ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนกว่า 300หลังคาเรือน ที่อยู่รอบเหมืองทองคำ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 9,8,3,ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และหมู่ 8,10 ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์อยู่ระหว่างการเตรียมตัวย้ายออกจากหมู่บ้าน โดยเตรียมร่างผลกระทบและร่างข้อเสนอให้รัฐบาล หาวิธีการเยียวยาชาวบ้าน เนื่องจากการเปิดสัมปทานเหมืองทองตั้งแต่แรกเริ่มจนมาสู่ยุคปัจจุบัน บริษัทที่ทำเหมืองไม่เคยให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบชาวบ้าน ดังนั้นชาวบ้านจึงเลือกจะสู้คดีในชั้นศาลตามกระบวนการกฎหมายเพื่อเอาผิดกับบริษัท แต่กรณีการฟื้นฟูเยียวยาชาวบ้านนั้น รัฐบาลผู้กำหนดนโยบายต้องรับผิดชอบ โดยชาวบ้านที่ลงชื่อทั้งหมดยืนยันว่าจะไม่มีการเจรจาร่วมกับเหมืองอีกต่อไป แต่ให้รัฐบาลเป็นผู้แก้ปัญหาเอง โดยจะเปิดเวทีกับเหมือง หรือหารือกันอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่นำชาวบ้านเป็นตัวประกัน เพราะถึงอย่างไรชาวบ้านที่เหลือและกำลังจะย้ายออก ไม่มีทางจะเซ็นซื้อขายที่ดินกับเหมือง แต่การเวนคืนที่ดินต้องทำโดยรัฐ และต้องมีค่าชดเชยทั้งด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และการส่งเสริมอาชีพรองรับชาวบ้านทั้ง 300 ครัวเรือน
ขณะที่นายทิวา แตงอ่อน ชาวอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ชาวบ้านจันทบุรีจะเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อรวมตัวกับพี่น้องทั้ง12จังหวัด ในวันที่ 22 กันยายน เพื่อร่วมคัดค้านโยบายเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ เนื่องจากชาวจันทบุรีเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีอาชีพทำสวนผลไม้และสวนยางพาราแทบทั้งจังหวัด โดยการเปิดสัมปทานรอบใหม่ 300 แปลงนี้ ป่าต้นน้ำในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอหางแมว จะเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงจะล่มสบายเพราะกิจการเหมืองแร่ ทั้งๆ ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวได้รับการดูแลจากชาวบ้านมาโดยตลอด ส่วนพื้นที่รอบๆ ก็เป็นแหล่งลิตผลไม้ที่ต้องทำต่อเนื่องถึงปีละสี่เดือน แต่เหมืองทองจะนำพื้นที่ดังกล่าวไปลงทุนมากถึง 1 แสนกว่าไร่ ชาวบ้านอำเภอหางแมวจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวกับเครือข่ายอื่น เพื่อเรียกร้องให้รัฐยกเลิกนโยบาย
//////////////////////////////////////