Search

ขีดเส้น 15 วันทวงคำตอบจากรัฐบาล ชาวบ้านต้านเหมืองระบุพร้อมกลับมาอีกหลังยื่นหนังสือ

12041798_978890252154260_1657704813_n
เมื่อวันที่ 22 กันยายน2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังประชาชนกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ทองคำกว่า700 คน ได้รวมตัวกันที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ประตู 4) ปักหลักถือป้ายรณรงค์ต่อต้านการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ระหว่างเวลา 07.00-12.00 น. นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลลงมารับหนังสือร้องเรียนของเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมรับสำเนาบัตรประชาชนซึ่งคนทั่วประเทศร่วมลงนามคัดค้านเป็นจำนวน 27,522 รายชื่อ

นายกมล กล่าวภายหลังการรับมอบรายชื่อว่า เนื่องจากวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีภารกิจต้องประชุมและเตรียมตัวเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศ ตนจึงเป็นตัวแทนรับหนังสือจากเครือข่ายประชาชน และยืนยันว่าจะเร่งเสนอให้รัฐบาลรับทราบ โดยส่วนตัวมองว่าข้อเสนอของประชาชนที่ได้รับมาพร้อมสำเนารายชื่อนั้นมีความสำคัญต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล แต่ขอเวลาในการพิจารณาข้อเสนอสักระยะ โดยเรื่องราวร้องเรียนดังกล่าวจะเสนอให้ทีมบริหารรับทราบภายใน 15 วัน ส่วนความคืบหน้าและคำตอบของข้อเสนอจะเป็นอย่างไรให้ประชาชนรอติดตาม

ด้านนายณัฐพล แก้วนวล ตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า แม้วันนี้มีเพียงตัวแทนมารับหนังสือร้องเรียนก็รู้สึกพอใจแล้ว แต่ส่วนตัวมองว่าการที่นายกรัฐมนตรีไม่ลงมารับหนังสือเองนั้นก็เหมือนกับการไม่ยอมรับฟังปัญหาชาวบ้าน อย่างไรก็ตามจะยอมให้โอกาสรัฐบาลอีกครั้ง แม้ว่าวันนี้ประชาชนไม่ได้พบนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลได้ เนื่องจากรัฐบาลขอตัวแทนเข้าเจรจาแค่ 30 คน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวชาวบ้านไม่ยอมรับ เพราะต้องการจะเปิดเจรจาต่อสาธารณะและต่อหน้าสื่อมวลชน ดังนั้นชาวบ้านจึงยอมจะรวมตัวกันอยู่ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 15 วันแล้ว ประชาชนในนาม เครือข่ายประชาคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.)จะทวงถามความคืบหน้าของการแก้ปัญหาจากรัฐบาล แต่ถ้าภายใน 15 ไม่มีความคืบหน้าการต่อสู้ฉากใหม่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ภายหลังการยื่นหนังสือชาวบ้านได้แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา

ตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่งจากจังหวัดระยอง กล่าวระหว่างการชุมนุมคัดค้านเหมืองทองว่า หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ยินนายกรัฐมนตรี หรือตัวแทนรัฐบาล นำเรื่องความกังวลและข้อเรียกร้องของประชาชนที่คัดค้านเหมืองพูดในรายการคืนความสุขฯ เพื่อให้คนไทยที่ดูรายการโทรทัศน์รับทราบ และขอให้เปิดเผยแผนที่ และพื้นที่สำคัญในการเปิดสัมปทานรอบใหม่โดยละเอียด พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นแบบโปร่งใส่

นางอุบล ศิริโชติ ชาวอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กล่าวว่า ตนเคยร่วมคัดค้านเหมืองทองมาทุกครั้ง และมองว่าขณะนี้ตัวแทนประชาชนเริ่มตื่นตัวในการต่อสู้เพื่อคัดค้านการทำอุตสาหกรรมเหมืองทองอย่างเข้มข้นขึ้น หากว่ารัฐบาลยังเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม คนระยองจะตายซ้ำ และมีชีวิตไม่ต่างจากอุตสาหกรรมมาบตาพุด ดังนั้นตนจึงร่วมเคลื่อนไหวคัดค้าน โดยชาวจังหวัดระยองเดินทางมาร่วมเคลื่อนไหวครั้งนี้มากถึง 200 คน และจะมีการเสวนาพื้นที่เพื่อนำเสนอเรื่อง พ.ร.บ.แร่และนำเสนอตัวอย่างผลกระทบที่จังหวัดเลยและจังหวัดพิจิตรต่อไป

อนึ่ง ข้อมูลจากเครือข่ายนักวิชาการอิสระที่ร่วมเคลื่อนไหวกับ ปปท. ระบุว่า พื้นที่12 จังหวัดที่เปิดสัมปทานใหม่ ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสรรค์ เลย ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี และสตูล เป็นต้น โดยในเขตพื้นที่ดังกล่าวนั้น ได้มีประทานบัตรทําเหมืองแร่ทองคํากว่า 33 แปลง อาชญาบัตร พิเศษให้สํารวจแร่ทองคํากว่า 65 แปลง ประมาณ 6 แสนไร่ และพื้นที่มีการยื่นคําขออาชญาบัตรพิเศษ กว่า 107 แปลง รวมแล้วเป็นพื้นที่เกินกว่าล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ภูเขา ป่าไม้ ต้นน้ำลําธาร แม่น้ำ เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร (ส.ป.ก. 4-01) ถนน บ้าน วัด โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยวสวนผลไม้ และพื้นที่ทํากินของประชาชน ซึ่งในการทําเหมืองทองคํา จําเป็นต้องทําลายทรัพยากรทั้งหลายเหล่านั้น และสร้างบ่อทิ้งกากแร่ ขึ้นมาแทนถ้าให้ทําเหมืองทองคําทั้งประเทศ ก็จะมีบ่อทิ้งกากแร่เป็นพื้นที่เกินกว่าล้านไร่ เป็นบ่อทิ้งกากแร่ที่มี ความสูง 30-50 เมตร อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลําธาร และต้องใช้สารพิษไซยาไนด์ จํานวนกว่าหนึ่งล้านตันต่อปี และในบางพื้นที่ได้มีการนำชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ เพื่อสำรวจและทำเหมืองแร่โดยอ้างว่าเอากลับไปเป็นพื้นที่ป่าไม้ เพื่อไม่ให้ประชาชนอ้างสิทธิครอบครอง

 

 
นายกฯ ลั่นยังไม่เปิดเหมือนทองคำเพิ่มจนกว่าปัญหาจะเรียบร้อย ย้ำทบทวนปัญหาที่ดิน-ผลกระทบปชช.

เมื่อเวลา 14.40 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายเหมืองทองคำ 12 จังหวัด รวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านนโยบายขยายพื้นที่เหมือง ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีว่า กำลังทบทวนอยู่ มันเป็นเรื่องเดิมอยู่แล้วด้วย ทั้งเรื่องที่ดินแปลงเก่า แปลงใหม่ ที่ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย เช่นการต่อสัญญา รวมถึงจะต้องทบทวนเรื่องของผลกระทบที่ผ่านมา ประชาชนต้องการอะไร เรียกร้องอะไร ฉะนั้นต้องไปแก้ทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม จะยังไม่มีการเปิดเหมืองทองคำเพิ่ม

เมื่อถามว่า มีการเรียกร้องให้นายกฯนำเรื่องนี้ไปชี้แจงแนวทางในการแก้ไขปัญหาในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ นายกฯ กล่าวว่า ก็จะทำอย่างไร ก็ทำอย่างนี้ จนกว่าจะเรียบร้อย ถ้าไม่เรียบร้อยก็เปิดไม่ได้ ถ้ามันมีปัญหาก็ปิดเท่านั้นเอง ทุกอย่างนั่นแหล่ะ ซึ่งบางอย่างก็เป็นเรื่องของกฎหมาย เรื่องของการพัฒนา ประเทศไทยเราก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามการทำเหมืองทอง ดังนั้นเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม พ.ร.บ.การประกอบการทำอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้การดำเนินการต้องไม่สร้างผลกระทบ ไม่สร้างความเดือดร้อน โรคภัยไข้เจ็บ ต้องดูว่ามันใช่หรือไม่ใช่ มันจริงหรือไม่จริง มันพิสูจน์ได้หรือเปล่า ถ้าฟังตรงนี้ตรงนู้นก็ทำอะไรกันไม่ได้สักอย่าง ก็อยู่แค่ตรงนี้

 

//////////////////////////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →