สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ปัดฝุ่นโครงการผันสาละวินสู่ลุ่มเจ้าพระยา

12562599_10207660721171990_1109707047_o

สัปดาห์นี้มีคำแถลงออกมาจากคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กชน.)ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่าได้เห็นชอบหลักการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน เข้าสู่เขื่อนภูมิพล และผันแม่น้ำโขงเข้ามาทางภาคอีสานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังส่อแวววิกฤติอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกชน. ให้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ได้มีการอนุมัติงบประมาณเพื่อทำการศึกษาอย่างเร่งด่วน

กล่าวเฉพาะแผนการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มน้ำปิงและเจ้าพระยานั้น เป็นแผนงานเก่าที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี 2537 ที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและส่งเสริมพลังงานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นโครงการผันน้ำเมย-สาละวินลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเสนอแนวผันน้ำ 5 แผน มีทั้งผันน้ำจากแม่น้ำเมยและลำน้ำสาขา จนต่อมาในปี 2545 ได้แผนที่จะผันน้ำได้ปริมาณมากที่สุด ก็คือน้ำยวมตอนล่าง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล

เนื้อหาข่าวล่าสุดที่ระบุว่าจะเพิ่มน้ำต้นทุน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปีนั้น สามารถคาดคะเนได้ว่าน่าจะเป็นการปัดฝุ่นนำแผนงานเก่ามาใช้เร่งด่วนโดยโหนสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ซึ่งโครงการเดิมที่เขียนไว้นั้นจะผันน้ำจากแม่น้ำยวมที่เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดนไทย-พม่า ในเขต อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รอยต่อ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 4 ส่วนสำคัญ คือ เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ความสูง 69 เมตร ที่กำหนดจุดไว้บริเวณใกล้กับหมู่บ้านแม่ลามาหลวงและค่ายพักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยสงครามจากรัฐกะเหรี่ยง โดยแม่น้ำยวมจะบรรจบแม่น้ำเมย และสาละวิน

ในโครงการจะมีการสร้างสถานีสูบน้ำและถังพักน้ำ ซึ่งจะตั้งอยู่ที่บ้านสบเงา จุดบรรจบแม่น้ำเงาและแม่น้ำเมย ในอำเภอสบเมย ใช้ไฟฟ้าในการสูบน้ำขึ้นไปยังถังพักน้ำ 380 เมกกะวัตต์ โดยต้องมีการสร้างสายส่งไฟฟ้าจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตัดผ่านป่ามาเป็นระยะทาง 202 กิโลเมตร

และองค์ประกอบใหญ่ที่สุดของโครงการ คือการทำอุโมงค์ขนาด 8-9 เมตร เจาะทะลุภูเขาเป็นระยะทาง 62 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำจากถังพักน้ำลุ่มสาละวินสู่ปลายทะเลสาบแม่ปิง หรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่บ้านห้วยหินดำ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ หากใครเคยขับรถผ่านแถวๆ แม่สะเรียง-สบเมย-ท่าสองยาง คงรู้ว่าป่ารอยต่อ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก) นั้นยังคงเป็นป่าผืนใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำแห่งท้ายๆ ของประเทศ

หากเป็นไปตามแผนที่เคยมีการศึกษาไว้ จะต้องขุดเจาะและระเบิดภูเขาเพื่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดยักษ์ที่กว้างเท่ากับรถพ่วงสามารถวิ่งสวนกันได้ ทำให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวอุโมงค์อย่างน้อย 14 หมู่บ้าน

ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในมุมสิ่งแวดล้อม คือ การทำลายพื้นที่ป่า ทั้งจากเขื่อน จากอ่างเก็บน้ำ พื้นที่ทิ้งเศษดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ยักษ์ และผืนป่าตลอดแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จะมีความกว้างราว 80-100 เมตร เป็นความยาวกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งป่าลุ่มน้ำเมยผืนนี้บางส่วนจัดอยู่ในประเภทป่าต้นน้ำชั้น 1A

สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้น้ำ คือลุ่มน้ำยวมและสาละวิน หากโครงการนี้สำเร็จจริงตามแผนจะผันน้ำออกไปจากแม่น้ำยวมถึง 80 เปอร์เซนต์ (แม่น้ำยวมมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่อปี 2,765.80 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการจะรองรับการผันน้ำยวมไปยังเขื่อนภูมิพลปีละ 2,184.52 ล้านลูกบาศก์เมตร) ทำให้เกิดคำถามว่า จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในลุ่มน้ำยวมหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะบนที่ราบลุ่มแม่น้ำยวมในอำเภอแม่สะเรียง ใช้น้ำจากชลประทานแม่น้ำยวมในการเกษตรโดยเฉพาะการทำนา

แนวคิดผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินมาเติมลุ่มเจ้าพระยา ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า เป็นการแก้ปัญหาปลายทางที่โยนภาระไปให้ลุ่มน้ำอื่น ทั้งๆ ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาวะภัยแล้งเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะการทำลายป่าต้นน้ำ การปลูกพืช-ทำนา ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและใช้น้ำเข้มข้นตลอดทั้งปี การเติบโตของภาคเมืองและอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเป็นปริมาณมาก

ในภาวะภัยแล้งที่กำลังสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั่วประเทศ อาจเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งหามาตรการแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การปันส่วนน้ำให้แก่ภาคต่างๆ โดยให้การอุปโภคบริโภคมาเป็นอันดับแรก มาตรการควบคุมการใช้น้ำในทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาคครัวเรือน พาณิชย์ อุตสาหกรรม และภาคเกษตร

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทางออกและทางเลือกในการบริหารน้ำ ที่ไม่ต้องก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ โดยเฉพาะบนแม่น้ำหรือลุ่มน้ำนานาชาติ ที่อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประเทศดังที่เกิดขึ้นกับกรณีเขื่อนแม่น้ำโขง

การจัดทำโครงการใดๆ ที่ผูกโยงกับชีวิตคนและธรรมชาติ เราควรใคร่ครวญให้จงหนัก เพราะการเข้าไปเบียดเบียนพวกเขาโดยตักตวงทรัพยากรมาใช้สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งถือว่าเป็นบาป ที่สำคัญคืออย่าทำทุกอย่างเพียงเพราะสถานการณ์พาไป หรือใช้อารมณ์ความกลัวเป็นตัวกำกับ

เรื่องโดย โลมาอิรวดี
ตีพิมพ์ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ 15 มกราคม 2558

———————–

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →