สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

แฉ EHIA ไม่โปร่งใส-ผิดขั้นตอน มวลชนชายแดนใต้บุก สผ. เสนอยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

12674969_1047968991913052_450335681_o
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ตัวแทนเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ(Permatamas) เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) จำนวนประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยมีนางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ รองเลขาธิการ สผ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ

ทั้งนี้ หนังสือได้ระบุถึงข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ดังนี้ 1.ขอคัดสำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฝผ.) ครั้งที่ 39/2558 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 2.ขอคัดสำเนารายงานการประชุมของ คชก.ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ โครงการท่าเทียบเรือฯ ของ กฝผ. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 3.หาก กฝผ. มีการยื่นรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโครงการท่าเทียบเรือฯในครั้งต่อไป ขอให้แจ้งให้ภาคประชาชนและชาวบ้านรับทราบด้วย และขอคัดสำเนารายงาน อีเอชไอเอ ที่มีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ที่จะยื่นต่อ สผ. เพื่อให้ คชก. พิจารณาในครั้งนั้นด้วย พร้อมทั้งขอเข้าให้ข้อมูลในวันที่ คชก.มีการประชุมพิจารณารายงานอีเอชไอเอด้วย

12737051_1047969018579716_561587563_o

นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงาน Permatamas กล่าวว่า การเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ ครั้งนี้ เพื่อต้องการแสดงการคัดค้านให้กับสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าขณะนี้คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาต้องการให้มีการพิจารณายกเลิก EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือฯ เนื่องจากเวทีการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ครั้ง(ค.1 ค.2 และค.3) เป็นกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม ขาดการมีส่วนร่วมที่ถูกต้อง และเร่งรีบดำเนินกระบวนการรับฟังโดยไม่ได้นำความเห็นของชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ได้ส่ง EHIA ให้กับ สผ.แล้ว โดยใน EHIA ได้ระบุข้อมูลที่ขัดแย้งกับหลักวิชาการและไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น ทำการศึกษาผลกระทบในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น ทั้งที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดปัตตานีเพียง 7 กิโลเมตร แต่กลับไม่อยู่ในพื้นที่ศึกษาผลกระทบ ที่ควรมีรัศมีถึง 100 กิโลเมตร และควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นธรรม

“โรงไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ ก็ศึกษาผลกระทบ 5 กิโลเมตร โรงไฟฟ้าเทพาขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ก็ศึกษาผลกระทบเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น ในเวที ค.1 มีการแจกเสื้อละหมาดให้กับผู้ที่มาเข้าร่วม เวที ค.2 ก็แอบจัดการรับฟัง เวที ค.3 ผู้ว่าฯ มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่กันไม่ให้ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเข้าร่วมเวที และ กฟผ.ก็เร่งทำ EHIA โดยไม่สนใจต่อเสียงชุมชนที่คัดค้าน เราจึงตั้งใจเดินทางไกลกว่าพันกิโลเมตรเพื่อขอข้อมูลที่ สผ.ในวันนี้” นายดิเรก กล่าว

นายดิเรก กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ต้องประสบปัญหาความรุนแรงรายวันอยู่แล้ว หากรัฐบาลไม่ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการแล้ว อาจเท่ากับเป็นการเพิ่มเงื่อนไขและจะกลายเป็นภัยแทรกซ้อนต่อสถานการณ์ความไม่สงบของพื้นที่

ด้านนายมุสตาราซีมีน วาบา ตัวแทนชาวบ้านจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและโครงการท่าเทียบเรือ ยังส่งผลกระทบต่อประเด็นอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชุมชนมุสลิมในพื้นที่ ที่จะมีชาวบ้านกว่า 240 ครัวเรือน มัสยิด 2 แห่ง สุสานหรือกุโบร์ 2 แห่ง วัดพุทธ 1 แห่ง โรงเรียนปอเนาะ 1 แห่ง จะต้องถูกย้ายออกจากพื้นที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการกระทบต่อความรู้สึกของคนมุสลิมในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ตามหลักการมุสลิม ถือเป็นที่ดินวากัฟที่ชุมชนมีความศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคเพื่อให้เป็นศาสนสถาน และหวังในผลบุญ ซึ่งหากรัฐบาลยังดำเนินการให้เกิดโรงไฟฟ้าขึ้นแล้ว อาจเท่ากับเป็นการผลักดันให้ชาวบ้านอยู่ตรงข้ามกับรัฐ

ด้านนางปิยนันท์ กล่าวว่า ในวันนี้ยังไม่สามารถให้สำเนา EHIA รายงานการประชุมฯ ตามที่ชาวบ้านร้องขอ เนื่องจากต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ของ สผ. เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อน จึงขอรับเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน และจะเร่งดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ตัวแทนชาวบ้านฯ ยังได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านตัวแทน สผ.ในประเด็นข้อกังวลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และความไม่ชอบธรรมในประบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยขอให้กระทรวงทรัพยากรฯ หยุดกระบวนการขออนุมัติโครงการโครงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและท่าเทียบเรือของ กฟผ. ในทันที เพื่อให้เริ่มต้นดำเนินกระบวนการศึกษาผลบกระทบใหม่ ที่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นไปตามหลักวิชาการ

หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนชาวบ้านได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับตัวแทนชาวเลราไวย์ที่สบปัญหาที่ดินชุมชน และตัวแทนสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เพื่อขอให้คืนสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญ และยุติความฉ้อฉลไม่เคารพสิทธิชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาที่ดินชุมชนชาวเลราไวย์ ซึ่งมี นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นตัวแทนรับหนังสือ

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →