สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

บันทึกถึงปู่คออี้-กะเหรี่ยงดั้งเดิมแห่งบ้านบางกลอย (แก่งกระจาน)

ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2493 หน้าร้านยาไทยสมบูรณ์ ร้านของพ่อค้าคนจีนขุนพรรคพานิช (ก๋งบ๋งเตี่ย) ที่รับซื้อนอแรด (ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามกับ โรงรับจำนำเก่า ของเทศบาลเมืองราชบุรี) ปีนั้นนายระเอิน บุญเลิศ บิดาของนายวุฒิ บุญเลิศ ได้พากลุ่มนายพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่จังหวัดราชบุรี
ถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2493 หน้าร้านยาไทยสมบูรณ์ ร้านของพ่อค้าคนจีนขุนพรรคพานิช (ก๋งบ๋งเตี่ย) ที่รับซื้อนอแรด (ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามกับ โรงรับจำนำเก่า ของเทศบาลเมืองราชบุรี) ปีนั้นนายระเอิน บุญเลิศ บิดาของนายวุฒิ บุญเลิศ ได้พากลุ่มนายพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่จังหวัดราชบุรี

ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
นักกฎหมาย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฉบับวันที่ 28 กันยายน 2554

การสำรวจข้อเท็จจริง

การสอบข้อเท็จจริงปู่คออี้ หรือนายโคอิ หรือจออี้ เป็นเรื่องที่ยาก ลำบาก(ใจ) ด้วยเพราะปู่คออี้มีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะวัยที่ยืนยาวมาถึง 103 ปี ประกอบกับล่าสุดปู่คออี้เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดต้อตา แต่ทุกคนรู้ดีว่าความทุกข์ในใจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสังขารที่ถดถอย ก็คือคำบอกเล่าจากลูกชายถึงบ้าน ที่ถูกเผาและยุ้งข้าวที่ถูกรื้อทำลาย ข้าวเปลือกร่วม 400 ถังถูกทำลายและสูญหาย โดยเจ้าหน้าที่(ไม่ทราบหน่วยงานแน่ชัด) ลูกหลานต้องแตกกระสานซ่านเซ็น นอแอะ-ลูกชายคนโตก็มาถูกจับ ถูกตั้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง (แม้มันจะเป็นปืนแค่ปืนแก๊ปก็ตาม)(ดู ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว, บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, 6 กันยายน 2554 สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/462 และ “กะเหรี่ยงบางกลอย ในผืนป่าแก่งกระจาน คนดั้งเดิม-กับชุมชนที่รอการพิสูจน์ยืนยัน” 21 กันยายน 2554 สืบค้นได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/472)

นอแอะลูกชายคนโตช่วยแปลและเสริมข้อมูลว่า พ่อเล่าให้ฟังว่าพ่อเกิดที่บ้านบางกลอยบน หรือคีลอในภาษากะเหรี่ยง และไม่เคยโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น นอแอะ (หรือหน่อแอะ) และนอสะ (หรือหน่อสะ)-น้องชายของเขาก็เกิดที่บางกลอยบนนี้ และอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน ที่บ้านนอแอะก็เหมือนกับกะเหรี่ยงคนอื่นๆ ทุกครอบครัวทำไร่ข้าวหมุนเวียน(เวียนประมาณ 2 ปี) ปลูกพริกและพืชผักอื่นๆ แซมข้าวไร่ โดยไร่ห่างออกจากตัวบ้านไปประมาณหนึ่งชั่วโมงเดินเท้า

จากการตรวจสอบกับเอกสารฉบับสำเนา-ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือท.ร.ชข. ที่จัดทำขึ้นโดยกรมประชาสงเคราะห์ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขา หรือโครงการสิงห์ภูเขา (เป็นการสำรวจชาวเขาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2527) เมื่อปีพ.ศ.2531 พบชื่อของปู่คออี้ ถูกเขียนว่านายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัด “เพชรบุรี” ประเทศ “ไทย” พ่อชื่อ “มิมิ” แม่ชื่อ “พินอดี” ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่า “กะเหรี่ยง” และนับถือ “ผี” ข้อมูลนี้อยู่ในแฟ้มท.ร.ชข.บ้านบางกลอย 4 เป็นครอบครัวที่สามจาก 20 ครอบครัว เวลานั้นบางกลอย 4 ขึ้นกับพื้นที่กิ่งอำเภอแก่งกระจาน

เหรียญชาวเขาของพ่อเป็นสิ่งที่นอแอะเห็นตั้งแต่เด็ก จำได้คร่าวๆ ว่ามันเป็นช่วงปี-สองปีหลังเขื่อนแก่งกระจานสร้างเสร็จใหม่ๆ (สร้างเมื่อปี 2509) นายอำเภอท่ายางในสมัยนั้นเรียกชาวบ้านไปรับเหรียญ

ตรงกับคำบอกเล่าของผู้ใหญ่กระทง โชควิบูลย์ (นามสกุลเดิม-จีโบ้ง) และนายดุ๊อู จีโบ้ง (ชาวกะเหรี่ยงที่เกิดที่บ้านบางกลอย ไม่ปรากฎชื่อในท.ร.ชข. เพราะในช่วงที่มีการสำรวจ ดุ๊อูพร้อมกับลูกชายได้เดินลงมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง) ที่เล่าว่า นายอำเภอคนนั้นชื่อถวัลย์ แต่จำนามสกุลไม่ได้ เรียกให้ชาวบ้านไปรับมอบเหรียญจากทางอำเภอ

ผู้ใหญ่กระทงเล่าว่า หลังจากนั้นประมาณช่วงปี 2526 นายอำเภอท่ายางได้เรียกให้ชาวบ้านมาทำบัตรประชาชนคนไทย เขาเป็นคนหนึ่งที่ไปทำบัตรประชาชน เวลานั้นเขาไม่เข้าใจว่าบัตรประชาชนคนไทยหมายถึงอะไร แต่ตอนนั้นเขาลงจากบางกลอยบนมาขายพริกที่อำเภอท่ายาง เมื่อเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปทำบัตร ก็ไป เขาจึงมีบัตรประชาชนไทย และต่อมาได้รับการกำหนดเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 3  (ปี 2527 เป็นปีแรกที่มีการตั้งระบบเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยคนที่มีสัญชาติ จะมีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 1 (กรณีแจ้งเกิดในกำหนด) และเลข 2 (กรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด) ส่วนเลข 3 เป็นกรณีของคนไทยที่เกิดและแจ้งชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน (ประเภทคนไทย หรือท.ร.14) ก่อนเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2524)แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจที่จะลงมาทำบัตรประชาชน

…เหตุผลนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะหลายคนเห็นว่า “ไม่จำเป็น”

ตอนนอแอะอายุได้ 30 ปี พ่อก็ให้เหรียญชาวเขาแก่เขา จนถึงปัจจุบันนอแอะยังไม่แต่งงานและยังคงอาศัยอยู่กับปู่คออี้ โดยนอสะและนอโพริ-ภรรยาของนายนอสะ ซึ่งมีลูกด้วยกัน 9 คน ก็อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันนี้

นอแอะบอกว่า หากจะนับเป็นการโยกย้ายบ้านในชีวิตของพ่อ รวมถึงตัวเขาและคนอื่นๆ ในครอบครัว ก็น่าจะเป็นช่วงประมาณปี 2539 ที่เจ้าหน้าที่บอกให้กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่บางกลอยบนอพยพลงมายังบ้านโป่งลึก-บางกลอย ครอบครัวของเขาจึงต้องจำใจโยกย้ายลงมา พร้อมกับกะเหรี่ยง 57 ครอบครัว หรือ 391 คน แต่อยู่ไปได้ประมาณสามเดือน นอแอะบอกว่าพ่อทนอากาศร้อนไม่ไหว และคิดถึงเสียงของป่า จึงอพยพกลับไปอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่บางกลอยบน
และครั้งที่สองของการ(ถูกบังคับให้)อพยพโยกย้ายคือเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอแอะถูกจับเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาส่งที่สถานีตำรวจ และถูกส่งต่อไปยังเรือนจำ ในวันรุ่งขึ้นพ่อของเขาและหลานถูกนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาที่บ้านบางกลอย เกือบสองอาทิตย์ต่อมาพวกเขาจึงรับรู้ในเวลาใกล้เคียงกันว่าทั้งบ้านและยุ้งฉางถูกเผาจนไม่เหลืออะไร

นายกระทง จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย นายลอย จีโบ้ง ผู้ใหญ่บ้านโป่งลึก นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2508 ปรากฎตามเอกสารสำเนาท.ร.ช.ข.แฟ้มบ้านโป่งลึก 2 ครอบครัวที่ 4) ทุกคนเกิดที่บ้านบางกลอยบนและรู้จักปู่คออี้เป็นอย่างดีตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะผู้ใหญ่กระทง สมัยเด็กๆ เคยอาศัยอยู่ที่บ้านญาติคือนายจอโจ่  (เกิดที่บ้านบางกลอยบน ปี 2476 ปรากฎตามเอกสารสำเนาท.ร.ช.ข.แฟ้มบ้านบางกลอย 6 ครอบครัวที่ 2) ซึ่งตั้งบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของปู่คออี้ (ห่างกันประมาณหนึ่งชั่วโมงเดินเท้า) ไม่เฉพาะสามคนนี้ คนอื่นๆ ในชุมชนบางกลอยบนต่างก็รู้จักและจดจำปู่คออี้ได้ดี ด้วยร่างกายที่สูงใหญ่ เป็นพรานที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่ชุมชนให้การนับถือ

ในทางกลับกัน ด้วยวัยที่ยืนยาวมาถึง 103 ปี ต้องกล่าวว่าปู่คออี้ต่างหากที่รู้เห็นความเป็นไปของผืนป่าใจแผ่นดิน บางกลอยเป็นอย่างดี ทั้งยังรู้เห็นการเกิดและการเติบโตของผู้ใหญ่กระทง ผู้ใหญ่ลอย รวมถึงประธานอบต.นิรันดร์ และอีกหลายชีวิตในผืนป่าใจแผ่นดิน-บางกลอยบน

ถ้อยคำจากคนนอกพื้นที่

วุฒิ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้ข้อมูลว่า (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2554) ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันตกมีอยู่เป็นเวลานาน ปรากฎตามหลักฐานว่ารัชกาลที่ 3 ในช่วงปีพ.ศ.2388 ได้ให้คนกะเหรี่ยงที่เป็นกองคันฑมาศ ดูแลด้านชายแดน จังหวัดตาก-ราชบุรี, ในเอกสารพงศวดารของรัชกาลที่ 4 ได้พูดถึงเขตแดนไทยมีกะเหรี่ยง ละว้าอยู่ตามชายแดนต้นน้ำเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าประมาณปีพ.ศ. 2444 พระยาวรเดชศักดาวุธ เทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าน้องยาเธอกรมดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการสำรวจประชากรในพื้นที่มณฑลราชบุรี ตั้งแต่ประจวบขึ้นมา พระยาวรเดชฯ ได้พบกับกะเหรี่ยงที่บ้านลิ้นช้าง (ในปัจจุบัน อยู่ในต.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี) และผู้นำกะเหรี่ยงซึ่งมีตำแหน่งนายด่านบ้านลิ้นช้าง ชื่อ หลวงศรีรักษา ต่อมาตำแหน่งนี้คือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน   (วุฒิ บุญเลิศ, “เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นสู้” หัวหน้าโครงการวิจัยงานวิจัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้ชุดโครงการวิจัยปวศท้องถิ่น สกว., ปี 2546, ดูเพิ่มเติม หนังสือท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (หรือ Temple and Elephant ของคาร์ล บอกร์) คนแปลคือ เสถียร พันธะรังสี และอัมพร ทีขะระ)

สำหรับปู่คออี้-อาจารย์วุฒิ ได้เล่าถึงบันทึกของบิดาคือ นายระเอิน บุญเลิศ ว่าครั้งหนึ่งเคยพาพรานกะเหรี่ยงไปขายนอแรดที่ราชบุรี
“ปู่ของผมเป็นกำนัน พ่อผมเป็นครูประชาบาล สอนหนังสือ รู้ภาษาไทย อ่านออก พี่น้องคนปกากะเญอ เอาของไปขาย ก็จะให้คุณพ่อพาไป จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเพื่อนกับพรานกะเหรี่ยงคนนั้น”

เขาเพิ่งทราบข่าวว่าพรานคนนั้นยังมีชีวิตอยู่และมีอายุประมาณหนึ่งร้อยปีเศษแล้ว ซึ่งนั่นก็คือปู่คออี้นั่นเอง

นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่าปู่คออี้ มิมี คือปาเกอญออาวุโสผู้เป็นที่นับถือของปาเกอญอแก่งกระจานเป็นสหายของเสด็จตา-พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง  (ให้ข้อมูลกับอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำผู้เสียหายจากการถูกเจ้าหน้าที่รัฐ(ไม่ทราบสังกัด)เผาทำลายบ้านและยุ้งฉางของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 3-4 กันยายน 2554)  นายดุลยสิทธิ์ได้เดินทางมาสมทบ และได้พบกับปู่คออี้อีกครั้ง เขายืนยันว่า “จำปู่คออี้ได้” ว่าคนเดียวกันซึ่งในสมัยเด็กนั้นตนเรียกว่า “จออี้” โดยจดจำลักษณะรูปร่าง หน้าตา รวมทั้งรอยสักที่แขนได้

 

นายดุลยสิทธิ์เล่าว่า สมัยนั้นปู่คออี้ได้เดินทางนำเนื้อสัตว์ พริก มาถวายให้เสด็จตาเสมอ และเป็นพรานที่ได้นำเสด็จตาและคณะเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งมีครั้งหนึ่งได้นำเสด็จตาและคณะรวมทั้งหม่อมแม่ของท่านชาย (ปัจจุบันอายุ 70 ปี) เข้าป่าล่าสัตว์และเนื่องจากพบกับโขลงช้างโดยบังเอิญจนต้องฆ่าแม่ช้าง และเสด็จแม่ขอชีวิตลูกช้างจากท่านตา ซึ่งต่อมาในภายหลังให้ชื่อว่า “จะเด็จ” และมีปู่คออี้เป็นผู้ที่ช่วยแนะนำวิธีการเลี้ยงดูช้างตามวิธีของปาเกอญอ

“ผมได้รับการดูแลมากับป่า เพราะความรู้ของกะเหรี่ยงทำให้ผมเลี้ยงช้างรอดชีวิต และเห็นว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ทำลายป่า ผมอยากย้ำเจตนาของโครงการพระราชดำริว่าให้เอาตัวอย่างคนกะเหรี่ยงเพราะเป็นคนที่ไม่ทำลายป่า และไม่เคยมีนโยบายให้ไล่คนออกจากป่า ชาวบ้านเขาอยู่มานาน บรรพบุรุษเขาก็ฝังกันอยู่ตรงนั้น”

(จากซ้าย-ขวา) นายทัศน์กมล โอบอ้อม , นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ปู่คออี้และนอแอะ วันที่ 3 กันยายน 2554
(จากซ้าย-ขวา) นายทัศน์กมล โอบอ้อม (ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ ภายหลังจากสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ) , นายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ปู่คออี้และนอแอะ วันที่ 3 กันยายน 2554

สถานะบุคคลตามกฎหมายของปู่คออี้

ภายใต้กฎหมายระหว่งประเทศแผนกคดีบุคคล บุคคลย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายคนเข้าเมือง สำหรับปู่คออี้-สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของปู่คออี้ มีประเด็นน่าสนใจว่าปู่คออี้จะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติอย่างไร

หลักกฎหมายสัญชาติของนับแต่สยามจนถึงปัจจุบันมีหลักอยู่ว่าการได้มาหรือเสียสัญชาติไทย ย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติฉบับที่บังคับใช้อยู่ในขณะที่บุคคลเกิด ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ากฎหมายสัญชาติฉบับแรกของสยามที่กำหนดหลักเกณฑ์การได้มา-เสียสัญชาติไทย คือพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 นั้น ไม่ครอบคลุมถึงปู่คออี้ หรือกล่าวได้ว่าปู่คออี้ไม่ได้-ไม่มีสัญชาติไทยโดยผลกฎหมายสัญชาติฉบับปีพ.ศ.2456 ด้วยเพราะปู่คออี้เกิดก่อนที่กฎหมายสัญชาติฉบับนี้จะประกาศและใช้บังคับประมาณ 2 ปี

..ปู่คออี้เกิดในปีพ.ศ.2454 เป็นปีเดียวกับที่สยามประกาศและบังคับใช้พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.130 (พ.ศ.2454 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม) หรือกฎหมายแปลงชาติ ร.ศ.130

และแน่นอนว่าปู่คออี้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแปลงชาติ เพราะมิได้เป็นกลุ่มเป้าหมายของกฎหมาย แปลงชาติฯ ด้วยเพราะความเป็นคนกะเหรี่ยงหรือชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ ที่เกิดและปรากฎตัวในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม  (ปรากฎตามพระราชสาส์นที่รัชกาลที่  3 มีถึงพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อพ.ศ.2408 เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยาเป็นมหาราชธานีใหญ่ในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม คือแผ่นดินสยามเหนือใต้และดินแดนต่างๆ อยู่เคียงอยู่ใกล้ เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวประเทศมีเพศภาษาต่างๆ คือ ลาวเฉียง ลาวกาว กัมพูชา มลายูและกะเหรี่ยง)  มิได้เป็นคนต่างประเทศผู้ใดผู้หนึ่ง (ตามมาตรา 3 หมวดที่ 2 ลักษณที่ต้องมีในการแปลงชาติ) ยิ่งไปกว่านั้นปู่คออี้มิได้มีชาติ(ตน)ให้สังกัด ปู่คออี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอแปลงชาติต่อเสนาบดีว่าการต่างประเทศ รวมถึงจะต้องเข้าถือน้ำพิพัฒน์สัตยานุสัตย์เพื่อให้ตนได้มาซึ่งสถานะ “คนในบังคับสยาม”

อาจกล่าวได้ว่า ปู่คออี้หรือกะเหรี่ยงคนอื่นๆ รวมถึงชนชาวประเทศที่มีเพศภาษาต่างๆ ย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ หรือมีสัญชาติไทยอันเป็นไปตามหลักมูลนิติธรรมประเพณี -เฉกเช่นเดียวคนในสยามที่เกิดและปรากฎตัวในพระราชอาณาจักรฝ่ายสยาม

และภายใต้การวิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติข้างต้นนี้ แม้ปู่คออี้จะไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ หรือเป็นคนไร้รัฐ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ปู่คออี้ จะต้องเข้ารับการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลในทะเบียนประวัติประเภทท.ร.38 ก. ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วยเลข 0  (ข้อ 97 ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 “บุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดง   ให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน  เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการดังนี้…” ) หรือเป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน อันเป็นกระบวนการรองรับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สถานะบุคคลของตัวเอง

กระบวนการพิสูจน์และรับรองความเป็นคน(สัญชาติ)ไทย กรณีปู่คออี้

การวิเคราะห์สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของปู่คออี้ข้างต้น ย่อมเป็นไปได้ว่าจะมีข้อคิด-เห็นแย้ง ดังนั้นในแง่ของกระบวนการพิสูจน์ จึงย่อมมีคำถามว่าบนฐานการกล่าวอ้างหรือหากสามารถเชื่อได้ว่าปู่คออี้เป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิม หรือไทย-กะเหรี่ยงจริง กระบวนการหรือช่องทางใดที่ปู่คออี้ รวมถึงหน่วยงานทางทะเบียนราษฎรคืออำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีควรจะเดินไป ด้วยการยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) (การยื่นคำร้องตามข้อ 11 เพื่อลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543 เพื่อให้มีชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนไทย (ท.ร.14) ไม่สามารถดำเนินการได้ ด้วยเพราะกลุ่มเป้าหมายของระเบียบฯ ฉบับนี้ จะต้องเป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456 ถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 เท่านั้น)

อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ไปพบปู่โคอี๊ หลังจากทราบว่าพรานที่ถือปืนในภาพ (ขาวดำ ภาพบนสุด) ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นคนๆ เดียวกับปู่คออี้
อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ไปพบปู่โคอี๊ หลังจากทราบว่าพรานที่ถือปืนในภาพ (ขาวดำ ภาพบนสุด) ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นคนๆ เดียวกับปู่คออี้

บทส่งท้าย

“มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว ไม่มีบัตรประชาชนก็ต้องกินข้าว”

นอแอะเล่าถึงคำพูดของพ่อที่เคยพูดไว้เมื่อครั้งที่เคยคุยกันถึงการไปดำเนินเรื่องเพื่อให้มีสัญชาติไทยหรือมีบัตรประชาชน นอแอะเข้าใจดีว่าพ่อของเขาต้องการสอนให้เขาเป็นคนขยันทำมาหากิน ยึดถือในวิถีชีวิตของกะเหรี่ยง

อาจด้วยเพราะวิถีชีวิตของกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแห่งนี้ ด้วยผลผลิตข้าวไร่ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับอาหารแต่ละมื้อของสมาชิกในครอบครัวในแต่ละปี จากไร่หมุนเวียนที่พวกเขายังดำรงรักษาไว้จุนเจือให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่า สนับสนุนให้พวกเขายังคงสามารถรักษาระยะห่างกับความเป็นเมืองพวกเขาสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจที่รวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ ที่อำเภอแก่งกระจาน หรือแม้แต่อำเภอท่ายางที่พวกเขามักเอาพริกมาขาย จึงไม่เกินเลยที่จะพูดว่า ปู่คออี้ นอแอะหรือกะเหรี่ยงอีกจำนวนไม่น้อยแห่งผืนป่าแห่งนี้ ไม่รู้และเข้าใจด้วยซ้ำไปว่าพวกเขามีสัญชาติไทยแล้ว จะเหลือก็แต่เพียงการดำเนินการของรัฐไทย โดยหน่วยงานทะเบียนราษฎรที่จะออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (ทะเบียนบ้านประเภทท.ร.14 และบัตรประชาชนคนไทย ) เพื่อรับรองความมีสัญชาติไทยของพวกเขา

หลายคนที่ได้ยินได้ฟังคำพูดของปู่คออี้ข้างต้น แม้จะเห็นด้วย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้ากะเหรี่ยงกลุ่มนี้ได้รับการรับรองความมีสัญชาติไทยจากอำเภอแก่งกระจานไปก่อนหน้านี้ จริงหรือไม่ว่า-บ้าน ข้าวไร่และยุ้งฉาง คงไม่ถูกเผา ทำลายเสียหายขนาดนี้ รวมถึงจิตใจของพวกเขา

—————————-

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →