สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ทหารพม่าโหมสร้างถนนยุทธศาสตร์ในรัฐฉานทะลุถึงแม่น้ำสาละวิน-วิศวกรจีนช่วยสำรวจ เชื่่อเตรียมเปิดเกมรุก SSA ใช้โดรนบินเหนือค่ายผู้พลัดถิ่นแนวชายแดนไทย

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า กองทัพพม่าได้ใช้เครื่องบินบังคับแบบไร้คนขับ หรือ “โดรน” เป็นครั้งแรกใน้นที่ใกล้กับค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศดอยดำ ตามแนวชายแดนเชียงใหม่ ซึ่งใกล้กับถนนยุทธศาสตร์สายใหม่ที่สร้างเกือบเสร็จจากเมืองทาไปยังแม่น้ำสาละวินทำให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเกิดความหวาดกลัวว่าอาจมีการโจมตีครั้งใหม่

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการส่งเครื่องบินโดรนบินขึ้นจากฐานทัพกองทัพพม่า กองพลทหารราบ (IB) 293 บินอยู่เหนือพื้นที่ภายใต้การควบคุมของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State/Shan State Army หรือ RCSS/SSA) ซึ่งให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้พลัดถิ่นในประเทศกว่า 200 คน ในที่พักพิงที่ดอยคำ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา มีการส่งโดรนไปบินเหนือฐานทัพดังกล่าวอีกครั้ง ในช่วงที่พลจัตวาขิ่นหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยมเดินทางมาถึงพร้อมขบวนรถบรรทุกทหาร 7 คัน ซึ่งมาจากกองพลทหารราบ (IB) 249 ใกล้กับเมืองต้อ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมากองทัพพม่าและกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army – UWSA) ได้ตรึงกำลังทหารเพิ่มขึ้นในพื้นที่พรมแดนแห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตำบลเมืองทา อำเภอเมืองโต๋น แม้ว่าทางกองทัพ RCSS/SSA จะได้ลงนามในความตกลงหยุดยิงทวิภาคีเมื่อปี 2554 และยังได้ลงนามในความตกลงหยุดยิงระดับชาติ (Nationwide Ceasefire Agreement) เมื่อปี 2558 ซึ่งเงื่อนไขความตกลงหยุดยิงทวิภาคีระบุว่า กองทัพ RCSS/SSA สามารถตั้งศูนย์บัญชาการในพื้นที่เมืองทาได้ (รวมทั้งที่หัวเมืองในทางตะวันตก) แต่ที่ผ่านมากองทัพพม่าไม่ยอมถอนกำลังออกไปเพื่อให้มีการตั้งศูนย์บัญชาการ ซึ่งในปัจจุบันกองทัพสหรัฐว้าได้ตั้งฐานของกองกำลัง UWSA ประมาณ 40 ฐาน ตรึงกำลังตลอดชายแดน 40 กิโลเมตร จากเปียงหลวง/หลักแต่ง จนถึงทางตะวันออกของดอยดำจนถึงฐานที่มั่นกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ที่ดอยไตแลงทางตะวันตก

ทั้งนี้ภายหลังลงนามในความตกลงหยุดยิงกับสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS/SSA กองทัพพม่าเริ่มสร้างถนนจากเมืองทาขึ้นไปยังแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นเส้นถนนลัดภูเขาเพื่อไปเชื่อมต่อกับถนนที่มาจากอำเภอเมืองปั่น อันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการปฏิบัติการทางทหารที่ (MOC) 17 โดยถนนเส้นนี้สร้างเกือบเสร็จแล้ว และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เพื่อลำเลียงกองพลและยุทธภัณฑ์อย่างรวดเร็วสำหรับใช้ต่อสู้กับฐานที่มั่นของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS/SSA ในพื้นที่สูงอันห่างไกล อันเป็นแนวป้องกันสำหรับการลงทุนในโครงการเขื่อนเมืองโต๋นในแม่น้ำสาละวินโดยมีวิศวกรชาวจีนจากบริษัท Three Gorges Corporation เข้ามาสำรวจในพื้นที่อย่างลับ ๆ ตั้งแต่ต้นปี 2561

ข้อมูลที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่รวบรวมยังระบุว่า แม้จะทำสัญญาหยุดยิงดังกล่าว แต่ตลอดที่ผ่านมายังมีการปะทะกันหลายครั้งระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA เมื่อในวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ทหารพม่าประมาณ 80 นายจากกองพันทหารราบเบา (LIB) 332 ได้บุกเข้าไปใช้อาวุธหนักโจมตีสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ที่บริเวณหมู่บ้านเก็งลม ในอำเภอกุ๋นฮิง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าจะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นในแม่น้ำสาละวิน “กุ๋นฮิง” ภาษาไทใหญ่ หมายถึง “พันเกาะ” สะท้อนถึงสภาพทางนิเวศวิทยาที่โดดเด่นของแม่น้ำป๋าง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน

ทั้งนี้เขื่อนเมืองโต๋นเป็นการลงทุนร่วมระหว่างไทยกับจีน นับเป็นเขื่อนใหญ่สุดในสามเขื่อนที่มีแผนก่อสร้างในแม่น้ำสาละวินในรัฐฉาน 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปประเทศไทย ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศจีนเมื่อเดือนที่แล้ว คณะกรรมการบริหารพรรค National League for Democracy ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของพม่า 18 คน ได้ถูกพาไปเยี่ยมชมเขื่อนสามผา (Three Gorges Dam)

“พลจัตวาขิ่นหล่าย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการภาคสามเหลี่ยม เมื่อเดือนเมษายน 2561 เดิมเขาเคยเป็นผู้บัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และก่อนหน้านั้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็ว 99 เคยถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 เนื่องจากเขาเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบเคลื่อนที่เร็ว 99 ที่ก่ออาชญากรรมสงครามที่เมืองโก ตอนเหนือของรัฐฉาน ในเดือนพฤศจิกายน 2559 เฟซบุ๊กของเขาได้ถูกปิดไปด้วยข้อหาว่าส่งเสริมความเกลียดชัง (hate speech) นับเป็นหนึ่งในเฟซบุ๊ก 18 บัญชีที่ถูกทางบริษัทปิดไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561” ข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ระบุ

โดยดอยคำเป็น 1 ใน 6 ค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศตามแนวพรมแดนรัฐฉาน-ไทย ซื่งชายแดนทั้งหมดนี้เป็นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นในประเทศกว่า 6,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งแหล่งทุนระหว่างประเทศได้ตัดความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับผู้พักพิงเหล่านี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 แม้ที่ผ่านมาจะมีการตรึงกำลังทหาร และมีการสู้รบอย่างต่อเนื่องในรัฐฉาน ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศ/ผู้ลี้ภัยไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดของตนเองได้
//////////////////////

On Key

Related Posts

โฆษก KNU ประกาศไม่เหลือพื้นที่เจรจาให้ SAC ระบุต้องรบให้ชนะเท่านั้น ชวนประชาชนร่วมกำจัดปีศาจร้ายออกจากแผ่นดินกอทูเล เผยพยายามให้กระทบเศรษฐกิจน้อยที่สุด “เศรษฐา” ตั้งกก.ชุดใหญ่ติดตามดูแลสถานการณ์ความไม่สงบในพม่า ให้ปานปรีย์เป็นประธาน

วันที่ 18 เมษายน 2567 พะโดซอตอนี (Padoh Saw Taw NeRead More →

NUG เชื่อการปฏิวัติเข้าใกล้ชัยชนะ ส่งจดหมายกระชับไมตรีกองทัพว้า ชื่นชมมีส่วนสำคัญถอนรากSAC จับตาความเปลี่ยนแปลงภายหลังทูตจีนพบอดีต 3 นายพลผู้นำพม่า

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →

นักวิชาการหลายสถาบันเห็นพ้องทบทวนโครงการผันน้ำยวม ชี้ไม่คุ้มค่าการลงทุนนับแสนล้าน-ปริมาณน้ำไม่พอ-อีไอเอไม่คลอบคลุม ชาวบ้านผู้รับผลกระทบวอนให้ลงดูพื้นที่จริง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องประRead More →

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →