สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ชาวบ้านค้านนักการเมืองดังเตรียมตั้งโรงงานใหญ่แต่งแร่ดีบุกติดแหล่งท่องเที่ยวดังเชียงราย “ดอยสะโง้”-ขนล่องตามแม่น้ำโขงจากพม่าขึ้นที่เชียงแสน กสม.-สส.อนาคตใหม่ลงพื้นที่ฟังข้อมูล-หวั่นผลกระทบอื้อ

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ร่วมกันรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)แม่คำ ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) นำโดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ ได้ลงพื้นที่รับฟังข้อมูลจากชุมชนกรณีที่มีชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับโครงการโรงแต่งแร่ดีบุก ซึ่งจะสร้างในบ้านหมู่ 9 บ้านสันมะเค็ด โดยมีผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ประธาน อสม. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แพทย์อนามัย และชาวบ้านกว่า 20 คนได้ร่วมกันให้ข้อมูล ทั้งนี้ นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์

ทั้งนี้โครงการแต่งแร่ดีบุกแห่งนี้จะมีการนำเข้าแร่ดีบุกจากประเทศพม่าโดยขนส่งตามแม่น้ำโขงมาขึ้นท่าเรือห้าเชียงบริเวณบ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญบริเวณสามเหลี่ยมทำคำ โดยชาวบ้านเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและวิถีชีวิตของชุมชน

มองจากมุมสูงบนดอยสะโง้ เห็นแม่น้ำโขงและทะเลสาบเชียงแสน ซึ่งความงดงามจะถูกกัดเซาะทันทีหากมีการสร้างโรงงานแต่งแร่ดีบุกในบริเวณนี้

นายสมภพ ไชยวงค์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.แม่คำ กล่าวว่าโรงงานแต่งแร่แห่งนี้ระบุไว้ในเอกสารว่า เป็นการขออนุญาตเกิน 50 ตันต่อวันจึงต้องจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยมีนักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับจ้างทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้เข้ามาทำประชาคมครั้งแรก แต่สถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แห่งคือหนองบัวหลวงและหนองบัวคำ ชุมชนวิเคราะห์ว่าโรงแต่งแร่ดีบุกแห่งนี้จะทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านการขนส่ง การท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม เพราะตามข้อมูลที่ทางบริษัทชี้แจงระบุว่า โรงแต่งแร่แห่งนี้ในแต่ละวันสามารถป้อนแร่ดีบุกได้ 41.16 ตันต่อชั่วโมง คิดเป็น 329.28 ตันต่อวัน โดยจะได้แร่ดีบุกวันละ 124,467 กิโลกรัมต่อวัน และจะได้มวลดินและหางแร่ที่ทิ้งวันละ 204,812 กิโลกรัมต่อวัน ใน 1 ปีจะมีมวลดินและหางแร่กองไว้ 74 ล้านกิโลกรัมกองไว้ในพื้นที่ 10 ไร่

นายสมภพกล่าวว่า ชาวบ้านจำเป็นต้องคัดค้านเพราะในรายงานระบุว่ามีการใช้น้ำ 5 แสนลิตรต่อวัน โดยมีการนำน้ำมาจากใช้แหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อบาดาล เชื่อว่าถ้าใช้น้ำขนาดนี้ก็จะทำให้พื้นที่เกษตรกว่า 3 พันไร่เกิดผลกระทบและน่าเป็นห่วงเรื่องสารปนเปื้อน และพื้นที่เชียงแสนกำลังขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หากเกิดโรงงานแห่งนี้ก็กลัวว่าจะไม่ได้ขึ้นทะเบียน

“เราเป็นห่วงเรื่องสารโลหะหนัก 5 ชนิดมาก เช่น สารหนู สารปรอท โครเมี่ยม หากแต่งแร่แล้วสารโลหะหนักเหล่านี้จะปนเปื้อนในน้ำทีใช้ในกระบวนการแต่งแร่และกองอยู่ในกองหางแร่ ตอนนี้ชาวบ้าน 4 หมู่บ้านกว่า 2 พันคน กำลังรู้สึกร้อนใจ ที่สำคัญคือโรงงานแห่งนี้เป็นประเภทที่สองสามารถสร้างได้เพราะพื้นที่ผ่านผลประเมินทางยุทธศาสตร์จากรัฐบาลแล้ว ทำให้เขาสามารถเข้ามาขอตั้งโรงงานได้ โดยเมื่อ 14-15 มกราคา 2562 ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีได้มาลงพื้นที่ แต่เจ้าของโรงงานไม่ได้มาชี้แจงหรือส่งตัวแทนเข้าร่วมทำให้เราไม่สามารถพูดคุยกับเขาได้” นายสมภพ กล่าว

สถานที่ตั้งโรงงานแต่งแร่ จำนวน 15 ไร่ซึ่งอยู่ใกล้ดอยสะโง้

นายสมภพกล่าวว่า ทางชาวบ้านได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาคัดค้านโดยส่งหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และกระทรวง รวมทั้งตอนที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาประชุมสัญจรที่เชียงรายก็ได้ไปยื่นหนังสือ เพราะพื้นที่นี้เป็นแหล่งชุ่มน้ำด้วย แม้เขาจะบอกเป็นโรงงานแบบปิด แต่เราไม่เชื่อ

“ถ้าเศษหางแร่กองทับถมกันไปเรื่อยๆ สารเคมีต่างๆอาจรั่วไหล ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม พวกเราจึงต้องทำเรื่องคัดค้าน ตอนนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มาทำอีไอเอ เขามาชวนชาวบ้านมาร่วมประเมินครั้งแรกแล้ว ชาวบ้านต่างไม่เอาด้วยและเสนอปัญหาให้ราว 40 หัวข้อ ทางอาจารย์ที่ทำประชาคมบอกว่าจะชี้แจงในการทำประชาคมครั้งที่ 2 หากการทำประชาคมครั้งที่ 2 เสร็จ เขาก็สามารถดำเนินเรื่องต่อไปได้.” นายสมภพ กล่าว

ขณะที่ผู้นำชุมชนกล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างครั้งนี้เป็นของนักการเมือง และอดีตสส.หลายสมัย ทำให้ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไม่สามารถเข้ามาช่วยชาวบ้านได้ในช่วงแรก ซึ่งนายอำเภอก็รับทราบ ผู้ว่าฯก็รับทราบแต่บอกว่าขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายก่อนไปก่อน แต่ดูแล้วชาวบ้านคงต้องกระตุ้นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดทางเจ้าของโรงงานบอกว่ากำลังเปลี่ยนแปลงแบบแปลน ตอนนี้เขากำลังดำเนินการอยู่ ทำให้ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหว

“ชาวบ้านวิตกกังวลเรื่องนี้มาก เราอยากรู้ว่าจริงๆแล้วหน่วยงานไหนที่มีอำนาจอนุญาตให้ตั้งโรงงาน เพราะทุกวันนี้ไปกันทั่วไปหมด” ชาวบ้าน กล่าว

นานประยุทธ แสนคำนำหาญ ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเชียงแสน กล่าวว่า ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือทุกๆหน่วยงานและได้รับคำตอบทำนองว่าบริษัทยังไมได้ยื่นข้อเสนอให้หน่อยงาน ตอนนี้เราก็รอว่าจะเกิดอะไร ชาวบ้านก็วิตกกังวลกันมาก ตอนนี้โรงงานเงียบๆแต่เขายังเดินหน้าทำประชาคมครั้งที่ 2 โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้ทำป้ายคัดค้านตามจุดต่างๆ

นายนายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าได้รับฟังขอมูลและปัญหาของชาวบ้านเบื้องต้น ซึ่งก็จะเก็บรวบรวมไว้เพื่อนำเข้าสู่การตั้งญัตติในสภา ซึ่งจริงๆแล้วตนเคยได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง แต่เรื่องเงียบหายไป และมาได้ยินว่าโครงการตั้งโรงงานแต่งแร่แห่งนี้ยังเดินหน้าต่อ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดโอกาสให้กลุ่มนายทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่ชาวบ้านกลับได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการลงสำรวจพื้นที่พบว่า นอกจากบริเวณที่ตั้งโรงงานจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำสำคัญของชุมชนคือหนองบัวหลวงซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่แล้ว ยังอยู่ติดกับดอยสะโง้ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ซึ่งหากมีการก่อสร้างโรงงานแต่งแร่ดีบุกจริง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกระทบบรรยากาศท่องเที่ยวในย่านนี้

On Key

Related Posts

ร่วมรำลึก 10 ปี ‘บิลลี่’ ถูกอุ้มหาย ชี้สูญชีวิตแต่ไม่สูญเปล่า ไทยเกิดกฎหมายป้องกันคนหาย และเป็นแรงบันดาลใจคนบางกลอยรุ่นใหม่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแมRead More →

ย้ายอองซานซูจี-อูวินมิ้น ออกจากเรือนจำไปบ้านพักเหตุสุขภาพย่ำแย่ ฝ่ายต่อต้านโจมตีโรงเรียนนายร้อยทหารในเมืองปวินอูหลิ่น มีผู้เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บอีก 12 นาย

เมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 เมษายน 2567  สำนักข่าว ChindRead More →

KNU ประกาศกอบกู้มหารัฐกลอทูเลภายใต้ปฏิบัติการ Taw Mae Pha Operation ยื่นคำขาดทหารทัพแตกมอบตัวภายใน 2-3 วัน เผยเตรียมหารือกองกำลังฝ่ายต่อต้านบริหารเมืองเมียวดี ระบุสกัดกั้นทัพเสริม SACจนถอยร่น

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ภายหลังกองปลดปล่อยแห่งชRead More →

ชักธงกะเหรี่ยงขึ้นสู่ยอดเสาเหนือเมืองเมียวดี-เผาธงชาติพม่าทิ้ง KNU ประกาศทางสัญลักษณ์ยึดพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ รศ.ดุลยภาคชี้จีนเป็นตัวแปรสำคัญ

วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่กองบัญชาการควบคุมที่ 12 หRead More →